วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

"เจริญ : ผู้ยิ่งใหญ่วงการที่ดินตัวจริง"

เขาไม่เคยมีมรดกที่ดินมาก่อน แต่เมื่อเขาเข้าสู่วงการธุรกิจผลิตและค้าสุราอย่างเต็มตัว สินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน กิจการอุตสาหกรรม ธนาคาร บริษัทประกันภัย ก็อยู่ภายใต้การครอบครองของเขาในเวลาอันรวดเร็ว เพียง 6 ปีเท่านั้น เขาสร้างสินทรัพย์เหล่านี้มาด้วยวิธีการใด เป็นปุจฉาที่หลายคนอยากรู้ "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนมกราคม 2531ได้เคยรายงานและวิเคราะห์ถึงชีวิตของเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ หรือ "สิริวัฒนภักดี" ในปัจจุบัน มาแล้วอย่างละเอียดในรายงานชิ้นนั้น "ผู้จัดการ" ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า "บางทีมีผู้คนในวงการธุรกิจยังตอบคำถามได้ไม่ชัดว่า เงินที่เจริญซื้อที่ดินและทรัพย์สินอื่นๆ อย่างมากมายนั้นมาจากไหน" "ผู้จัดการ" ฉบับนี้จะทำหน้าที่สานต่อในประเด็นที่ทิ้งท้ายไว้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงกระบวนการระดมเงินของเจริญมาซื้อทรัพย์สินต่างๆ เพื่อเปิดแง่มุมของเจริญในอีกมิติหนึ่ง ในวงการบริหารธุรกิจของเจริญที่ทุกวันนี้ถ้าจะกล่าวว่าเขาไม่เพียงแต่จะเป็นนักซื้อที่แท้จริงเท่านั้น หากเป็นผู้ครอบครองที่ดินมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทยก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยมีที่ดินมรดกตกทอดมาจากไหนเลย แม้แต่ตารางวาเดียว ย้อนหลังไป 6 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งเกิดศึกประมูลโรงเหล้า ระหว่างกลุ่มสุรามหาราษฎรผู้ผลิตเหล้าแม่โขง และกลุ่มสุราทิพย์ผู้ผลิตเหล้าหงส์ทอง ข่าวนี้สร้างความฮือฮาให้กับผู้คนทั่วประเทศ เพราะนักนิยมดื่มสุรานั้นมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในประเทศไทย ในที่สุดกลุ่มสุราทิพย์ก็ชนะการประมูลโรงเหล้าในครั้งนั้น โรงเหล้าทั้งหมดทั่วประเทศ 12 โรงอยู่ภายใต้อำนาจการผลิตของเหล้าหงส์ทอง ด้วยสาเหตุนี้ประการหนึ่ง ประกอบกับเหล้าหงส์ทองมีรสชาติที่ไม่แตกต่างจากเหล้าแม่โขงมากนัก ศึกระหว่างเหล้าทั้งสองยี่ห้อจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แล้วในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ต้องจับมือกัน เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะประหัตประหารกันเอง ในธุรกิจค้าเหล้าซึ่งมีอยู่น้อยรายเช่นนี้ กลุ่มสุราทิพย์หรือกลุ่มที.ซี.ซี. ผู้ชนะการประมูลโรงเหล้าเมื่อหลายปีก่อน วันนี้ได้ขึ้นมายืนผงาดอยู่ในวงการธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจค้าเหล้าเยี่ยงอย่างแต่ก่อน ผู้ถือธงนำที่มีอยู่เพียง 3 คน คือ เถลิง เหล่าจินดา, จุล กาญจนลักษณ์ และเจริญ สิริวัฒนภักดี ขณะนี้เหลือเจริญ (คนสุดท้าย) เพียงคนเดียวเท่านั้น นั่นจึงเท่ากับว่า เจริญเท่านั้นที่ขึ้นมายืนเด่นอยู่บนเส้นทางสายนี้ เถลิง เป็นผู้ที่เคยนั่งอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของกลุ่มสุรามหาคุณ และเป็นลูกพี่ให้เจริญตั้งแต่เริ่มทำงานในวงการสุราจวบจนทุกวันนี้ เป็นผู้ที่มีพระคุณต่อเจริญอย่างที่สุดคนหนึ่ง แต่ขณะนี้ได้ล้างมืออำลาจากวงการไปแล้ว ส่วนจุล กาญจนลักษณ์ ผู้ปรุงสุรามือหนึ่งของกลุ่มสุรามหาราษฎร ต้นตำรับเหล้าแม่โขงที่คุ้นลิ้นคนไทย จบชีวิตลงเมื่อหลายปีก่อน จึงเหลือแต่เจริญที่กุมบังเหียนที.ซี.ซี.มาเพียงลำพัง ธุรกิจค้าเหล้าเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนมากมายมหาศาล รายได้จากการขายเหล้าของกลุ่มที.ซี.ซี.ตกวันหนึ่งถึง 65 ล้านบาท เนื่องจากตลาดค้าเหล้าสามารถขายได้ทั่วประเทศ ดังนั้นการกระโดดเข้ามาเป็นเศรษฐีของเจริญ ตั้งแต่เศรษฐีรายย่อยจนเป็นเศรษฐีรายใหญ่ไปจนถึงเป็นมหาเศรษฐี จึงเป็นไปตามเหตุผลของธุรกิจโดยแท้ นอกจากสาเหตุของธุรกิจค้าเหล้า ความร่ำรวยของเขายังสืบเนื่องมาจากคำว่า "โชค" ทุกๆ เงื่อนไขของการเจรจาซื้อ-ขาย ล้วนแล้วแต่เป็นโชคชนิดส้มหล่นเกือบทั้งสิ้น มีคำกล่าวกันว่า คนรวยนั้นมักจะใช้วิธีเงินต่อเงิน แต่ถ้าจะพูดถึงเจริญแล้วคงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะวิธีการของเขาคือใช้เงินต่อเครดิต แล้วจึงใช้เครดิตนั้นต่อเครดิตอีกทอดหนึ่ง จากประสบการณ์เช่นนี้ เขาจึงเป็นนักซื้อผู้ร่ำรวยทรัพย์สินที่ดินเหยียบอัครมหาเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองไทย เจริญเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง มีภาพปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ความจริงฐานะของเขาเป็นที่รู้จักกันภายในวงการธุรกิจหลายปีแล้ว ทุกวันนี้หากมีชื่อของเจริญอยู่ข้างหลังโครงการใดก็ตาม โครงการต่างๆ เหล่านั้นจะผ่านขั้นตอนการพิจารณาของธนาคารไปได้อย่างง่ายดายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก การสะสมเครดิตจนทำให้ธนาคารทุกธนาคารในประเทศไทยไว้เนื้อเชื่อใจเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันง่ายๆ เขาต้องใช้เวลานับ 10 ปีในการสร้างฐานะบารมีกว่าจะมีทุกอย่าง อย่างวันนี้ ซึ่งเขาบรรจุการสะสมเครดิตเข้าไว้ในชีวิต เหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องใส่เสื้อผ้าแต่งตัวเพื่อให้ดูภูมิฐานอยู่ทุกวัน เจริญเริ่มซื้อที่ดินที่ติดกับโรงเหล้า 12 โรง ตั้งแต่ได้สัมปทานใหม่ๆ เหตุผลเพราะว่า ส่าเหล้าซึ่งเป็นของเสียจากโรงงานนั้นไม่มีที่จะระบายออกไปได้อย่างถูกส่วน หากปล่อยทิ้งไปจะทำให้รบกวนชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นเขาจึงแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณนั้นเสียเอง พื้นที่เป็นพันๆ ไร่ต่อโรงเหล้าหนึ่งโรง ความจำเป็นที่ไม่ได้ตั้งใจทำให้เจริญต้องเป็นเจ้าของที่ดินหลายหมื่นไร่ไปโดยปริยาย และสิ่งนี้เองที่เป็นตัวสร้างฐานให้ชื่อของเขาขายได้ ในฐานะที่เป็นผู้มีทรัพย์สินอยู่มากมาย โดยเฉพาะโฉนดที่ดินที่ทุกธนาคารยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันที่ดีที่สุด กระบวนการใช้เงินสร้างชื่อเสียงหรือเครดิตให้กับตัวเองจากลักษณะข้างต้นนี้ เจริญไม่ได้เพิ่งเริ่มทำเมื่อประมูลโรงเหล้าได้ หากแต่ก่อนหน้านั้นเขาเองก็มีเครดิตอยู่ไม่น้อย ถาวร อนันต์คูศรี เพื่อนคนหนึ่งของเขาเล่าให้ฟังว่า"เจริญอยู่ต่างประเทศแท้ๆ แต่เขาโทรศัพท์มาบอกผมว่า...ให้ผมเซ็นเปิด L/C คนเดียวก็ได้ เขาว่าเขาโทรศัพท์มาบอกแบงก์แล้ว" วงเงินกู้ในคราวนั้นถึง 30 ล้านบาท ซึ่งผู้มีอำนาจลงนามคือถาวรและเจริญต้องลงนามร่วมกัน เจริญเพียงแต่โทรศัพท์สายตรงมาบอกนายธนาคารเรื่องราวก็ง่ายไปโดยปริยาย เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว เขาเคยร่วมกันกับถาวรรับซื้อโลหะเงินจากต่างประเทศเข้ามาขายให้กับกรมธนารักษ์ ในนามบริษัทแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล อัลอัลรอยด์ ปัจจุบันธุรกิจนี้เลิกไปแล้ว เพราะหนึ่ง-มันไม่คุ้มกับการเสี่ยงความแปรปรวนของราคาโลหะเงินในตลาดโลก และสอง-เจริญสนใจทำธุรกิจที่ความเสี่ยงน้อย แต่เห็นเงินสดรวดเร็วมากกว่า อาณาจักรของเจริญไม่ได้เพียงแค่ธุรกิจค้าเหล้า 2-3 ปีที่ผ่านมาเจริญเริ่มเดินออกจากฉากกำบังเผชิญหน้ากับวงการธุรกิจอย่างเปิดเผย เขาเริ่มซื้อกิจการสถาบันการเงิน ซื้อกิจการอุตสาหกรรม ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซื้อหุ้น และซื้อที่ดิน ไม่มีใครรู้ว่าเจริญคิดอย่างไร แต่ทุกอย่างที่เขาเข้าไปซื้อล้วนแล้วแต่เป็นของสำเร็จรูปทั้งสิ้น เช่น โรงงานน้ำตาลที่ชลบุรี, โรงงานกระดาษที่บางปะอิน, หมู่บ้านเสนานิเวศน์, ตึกปตท.เก่า, ตึกสำนักงานใหญ่ธนาคารสหธนาคารที่เยาวราช, ตึกพันธุ์ทิพย์ พลาซา, อินเตอรืไลฟ์ประกันชีวิต, หรือแม้แต่หุ้น 40% จากอาคเนย์ประกันภัย จะมีก็แต่ที่ดินเท่านั้นที่อยู่ในลักษณะก้ำกึ่ง จะว่าเป็นของสำเร็จรูปหรือไม่ใช่ก็ได้ เพราะยังสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้อีก หรือจะปล่อยเป็นที่ดินว่างเปล่าให้มันเพิ่มมูลค่าด้วยตัวมันเองก็ได้อีกเช่นกัน การขยายอาณาจักรธุรกิจของเจริญ เหตุใดจึงใช้วิธีการซื้อกิจการเหมือนกับวิธีการขยายอาณาจักรธุรกิจของนักธุรกิจในสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่เจริญเรียนมาแค่ป.4 ไม่ใช่ MBA มาจากที่ไหน และที่สำคัญคือธุรกิจของเขาไม่มีลักษณะสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในตลาดโลกเลย ซึ่งไม่น่าที่เขาจะมีความคิดอ่านทันต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลกได้ แต่คนอย่างเจริญ เขาทำได้เสมอ! หากจะประเมินกันตามเหตุผล จะพบว่า การจะได้มาซึ่งโรงงานน้ำตาลสักโรง ถ้าไม่ใช่ได้มาจากการซื้ออย่างเช่นในกรณีของเจริญก็ต้องสร้างขึ้นเอง และเมื่อคิดต่อถึงขั้นตอนในการสร้างโรงงาน เราก็จะพบต่อไปอีกถึงกระบวนการต่างๆ ที่ต้องผ่านมามากมายนั้น ตั้งแต่ขั้นตอนในการลงทุนซื้อที่ดิน โดยต้องหาสถานที่ที่เหมาะสมทั้งการขนย้ายวัตถุดิบและการจัดจำหน่าย ต้องลงทุนก่อสร้างเองซึ่งอาจจะต้องเสี่ยงกับราคาวัสดุอุปกรณ์ ส่วนขั้นตอนอื่นๆ นั้นก็มีลักษณะไม่แพ้กัน ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านความยุ่งยากซับซ้อนและกินเวลาเป็นปีๆ ทั้งสิ้น แต่สำหรับเจริญเขาใช้เวลาเพียงไม่เกิน 2 เดือนก็สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ เป็นเจ้าของตึกราคาหลายร้อยล้านได้ โดยไม่ต้องเจอภาวะความเสี่ยงเยี่ยงเจ้าของโครงการต่างๆ ในปัจจุบัน ดังนั้น...หากจะบอกว่าเขาฉลาด ก็อาจจะไม่ผิด แต่ถ้าให้ดีต้องเติมลงไปอีกนิดว่า เขาฉลาดในการเลือกช่องทางลงทุน เพราะถ้าหากทรัพย์สินที่ซื้อมาแต่ละตัวนั้นไม่มีอนาคต เขาเองก็คงไม่ตัดสินใจลงไปเสี่ยงในทรัพย์สินตัวนั้นด้วยเหมือนกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการลงทุนที่ใช้เหตุผลทางธุรกิจที่เข้าใจกันได้ หลายกรณีที่เขาตัดสินใจเข้าไปลงทุนในกิจการอื่นๆ โดยวิธีการเข้าซื้อกิจการ เป็นไปในลักษณะเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมากกว่าเหตุผลทางธุรกิจ เช่นกรณีเขาซื้อหมู่บ้านเสนานิเวศน์โครงการ 2 ในนามบริษัทสยามพัฒนา ขนาด 400 ไร่ ก็เพื่อต้องการช่วยเหลือในทางออกให้ชวน รัตนรักษ์ แห่งธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่เป็นเจ้าของโครงการอยู่เดิม หรือในกรณีซื้อหุ้น 40% ในนามบริษัทสุราทิพย์ จำกัด จากกลุ่มนรฤทธิ์ ในอาคเนย์ประกันภัย ทั้งๆ ที่เขารู้ดีว่ามีความขัดแย้งกันอย่างสูงในกลุ่มกรรมการและผู้ถือหุ้น หรือในกรณีซื้อพันธุ์ทิพย์ พลาซา จากกลุ่มไพบูลย์สมบัติ และที่ดินของไพบูลย์สมบัติอีก 5 แปลงในเวลาเดียวกัน ก็เป็นไปโดยเหตุผลนี้ทั้งสิ้น "แต่ละกรณีที่ว่า เจริญใช้เวลา deal กับผู้ขายไม่เกิน 3 ครั้งเท่านั้นก็ตัดสินใจซื้อแล้ว" คนใกล้ชิดเจริญกล่าวกับ "ผู้จัดการ" กลไกทางธุรกิจมักจะให้ประโยชน์กับผู้มีอำนาจต่อรองเสมอ ในกรณีการซื้อกิจการของเจริญก็เช่นกัน เขาได้ "เงื่อนไขพิเศษ" เสมอจากผู้ขาย หรืออุปมาอุปไมยเหมือนส้มหล่นเข้าตะกร้าโดยไม่รู้ตัว เขาซื้อเสนานิเวศน์โครงการ 2 ด้วยเงื่อนไขผ่อนชำระเป็นงวดๆ ยาว 15 ปี ซื้อพันธุ์ทิพย์ พลาซา ด้วยการเข้ารับสภาพหนี้โดยวิธีไถ่ถอนให้กลุ่มไพบูลย์สมบัติกับธนาคารไทยทนุและภัทรธนกิจร่วม 500 ล้านบาท และค่อยๆ ผ่อนชำระเป็นงวดๆ ยาว 10 ปี พร้อมได้ที่ดินอีก 5 แปลงในย่านทำเลทองของไพบูลย์สมบัติมูลค่า 500 ล้านบาทมาด้วย"เพียงแค่แปลงตลาดเก่าเยาวราชและอีก 55 ไร่ตรงข้ามและด้านข้างโกดังอี๊สต์เอเชียติ๊ก พระยาไกร ราคาที่ดินปัจจุบันก็เกินราคาซื้อมาแล้ว" นักเลงที่ดินรายหนึ่งเล่าให้ฟัง "ส้มหล่น" ลักษณะนี้มีอยู่คู่กับชีวิตของเจริญมาโดยตลอด แม้แต่รถเบนซ์คันแรกของเขา ก็ได้รับการเสนอขายจากลูกพี่เก่าเถลิง เหล่าจินดา ในราคาเพียง 4 แสนบาท ด้วยเงื่อนไขพิเศษคือ ไม่คิดดอกเบี้ย และให้โอกาสผ่อนชำระเป็นงวด งวดละเพียงหนึ่งหมื่นบาท หลายๆ คนกล่าวว่า"เขาเป็นคนดีไม่มีศัตรู เข้าหาผู้ใหญ่เก่ง มีแต่คนรักใคร่ ดังนั้นจึงพบแต่ความโชคดี"...ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้... เมื่อเจริญก้าวเข้ามาเช่นวันนี้ จุดที่น่าสนใจคือเขาหมุนเงินอย่างไรจึงสามารถนำมาซื้อทรัพย์สินและที่ดินทั่วประเทศได้อย่างมากมาย ที่ "ผู้จัดการ" สืบค้นได้เฉพาะที่ดินมีถึง 32 แปลงทั่วประเทศ (ดูตารางประกอบ) แหล่งเงินของเจริญที่สำคัญนั้นมาจาก 2 แหล่งใหญ่ๆ แหล่งแรกได้มาจากการค้าเหล้าซึ่งเป็นหัวใจหลัก เพราะหนึ่ง-ธุรกิจค้าเหล้าเป็นเงินสด ยอดขายโดยเฉลี่ยตกวันละ 65 ล้านบาท สอง-เจริญเป็นผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารทางการเงินทุกใบแต่ผู้เดียวร่วมกับภรรยา สาม-ขณะที่เทอมการชำระค่าสัมปทานการผลิตและจำหน่ายแก่กรมสรรพสามิตเป็นงวดๆ ไม่ใช่เดือนต่อเดือนเหมือนดอกเบี้ย ดังนั้นการนำรายได้จากการขายเหล้าไปลงทุนโดยการให้กู้ยืมเพื่อสร้างดอกสร้างผล จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เหมือนกับเอาเงินไปต่อเงิน "เพียงเอาบริษัทลงทุนสักบริษัทหนึ่งไปเป็นลูกหนี้กู้ยืมจากบริษัทในกลุ่มธุรกิจสุรา แล้วเอาไปปล่อยต่อให้บริษัทในเครือเพื่อลงทุนซื้อทรัพย์สินต่างๆ ก็เล่นได้ไม่ยาก ในเมื่อเจริญและวรรณาเป็นผู้มีอำนาจลงนามเอกสารทางการเงินทุกบริษัทแต่ผู้เดียว" อดีตคนใกล้ชิดเจริญคนหนึ่งเล่าให้ บผู้จัดการ" ฟังถึงกลวิธีการระดมทุนของเจริญ ส่วนแหล่งเงินอีกแหล่งหนึ่งนั้น ได้มาจากสถาบันทางการเงินต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศซึ่งจะมาในรูปของเงินกู้ การยักย้ายถ่ายเงินมีลักษณะคล้ายกับบริษัทใหญ่ๆ ทั่วไป คือใช้วิธีตั้งบริษัทลงทุนขึ้นมาหลายๆ บริษัทเพื่อทำหน้าที่หาแหล่งเงินทุน แล้วจึงนำมาปล่อยกู้ให้แก่บริษัทในเครืออื่นๆ บริษัทลงทุนที่อยู่ในเครือของที.ซี.ซี.นั้นมีอยู่หลายบริษัทด้วยกัน บริษัทที่จัดอยู่ในลำดับแนวหน้าบริษัทหนึ่งคือ บริษัท เจริญวรรณกิจ ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท พงส์เจริญการลงทุน เมื่อ 15 พฤษภาคม 2527 และถือว่าเป็นบริษัทของเจริญเอง ถึงแม้ว่าจะมีผู้ถือหุ้นรายอื่นปะปนอยู่ แต่เกือบทั้งหมดนั้นก็เป็นหุ้นของเจริญที่เข้าไปถือในนามบริษัทลงทุนต่างๆ อีกบริษัทหนึ่งที่อยู่ในลำดับแนวหน้าไม่แพ้กันคือ บริษัท ฮอนด้า (ประเทศไทย) มีชื่อเหมือนกับบริษัทฮอนด้าคาร์ (ไทย) ผู้ผลิตรถยนต์ฮอนด้า แต่ความจริงเป็นคนละส่วนกัน บริษัท ฮอนด้า (ประเทศไทย) ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2521 เริ่มด้วยทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาทเท่านั้น ตอนแรกเจริญต้องการร่วมทุนกับฮอนด้าญี่ปุ่นในสัดส่วน 60 : 40 เพื่อผลิตรถยนต์ฮอนด้าในไทย แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจหันมาทุ่มเหล้าชื่อบริษัทก็เลยเหมือนกันโดยปริยาย จากงบดุลปีž31 แสดงให้เห็นถึงหนี้สินหมุนเวียนของบริษัทฮอนด้า (ไทย) ซึ่งมีถึง 1,007 ล้านบาท แบ่งออกเป็นตั๋วเงินจ่าย 200 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ส่วนอีกประมาณ 800 ล้านบาทเป็นเงินกู้ยืมจากธนาคารต่างประเทศ แบ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น 758 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8.8125 ต่อปีและ 10.125 ต่อปี และเงินกู้ระยะยาว 171 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี เงินในส่วนนี้จะถูกนำไปปล่อยให้บริษัทในเครือกู้อีกต่อหนึ่ง จะเห็นได้จากลูกหนี้การค้าในงบดุลมีอยู่ถึง 819 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ) ในทางปฏิบัติสำหรับในเครือที.ซี.ซี. บริษัทลงทุนที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศนั้น จะมีวัตถุประสงค์หลักคือ นำเงินนั้นมาปล่อยกู้ให้กับบริษัทในเครือ เพื่อให้บริษัทในเครือนำเงินจากส่วนนี้ไปใช้ชำระหนี้ที่ทำไว้กับสถาบันการเงินภายในประเทศอีกต่อหนึ่ง เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ได้จากต่างประเทศนั้นถูกกว่าในประเทศอยู่มาก แหล่งข่าวรายหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า"ดอกเบี้ยจากต่างประเทศได้มา 4-5% เท่านั้นเอง" ส่วนสิ่งที่นำไปค้ำประกันนั้นก็คือบริษัทลงทุนอื่นๆ ในเครือ ซึ่งก็จะใช้ลักษณะเช่นเดียวกันนี้เกือบทุกบริษัท ถึงแม้ว่าคณะกรรมการของบริษัทลงทุนหรือบริษัทในเครือต่างๆ จะเป็นคนอื่น ไม่ใช่ตัวเจริญหรือวรรณาภรรยาของเขาก็ตาม แต่คนเหล่านั้นก็เป็นลูกน้องเก่าซึ่งเขาแต่งตั้งขึ้นมาเองทุกคน เช่น อุทัย อัครพัฒนากุล, สุเมธ ทนุตันติวงศ์, พูลทรัพย์ ฮึงสกุล, กนกนาฎ รังษีเทียนไชย, กานดา อุตตมะดิลก เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาหากอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดจะต้องขึ้นอยู่กับเขา เจริญจึงเหมือนเป็นตัวแทนของที.ซี.ซี. เพราะเหตุนี้จึงทำให้ชื่อของเขาเป็นเครดิตที่สำคัญที่สุด และสามารถใช้การันตีต่อธนาคารได้ เครดิตตรงนี้เองที่เขานำมาใช้ต่อเครดิตอีกทอดหนึ่งสำหรับการซื้อทรัพย์สินหลายๆ อย่าง ระยะหลัง (ช่วงปี 2530 เป็นต้นไป) จากธุรกิจเหล้าที่โรมรันพันตูกับแม่โขงจนเลือดสาดทั้งคู่มารวมกันสงบศึก เขามีเวลาว่างและสบายใจมากพอที่จะหันมาเล่นที่ดินจนกลายเป็นนักซื้อ แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเจริญรายหนึ่งยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า"เจริญเริ่มจะมาเล่นที่จริงจังก็ระยะช่วงปี 29-30 หลังจากที่กิจการเหล้าของแกไปได้สวยแล้ว" มันเป็นความจริงที่แต่ก่อนเขาทุ่มเทให้กับเหล้าหงส์ทองอย่างสุดชีวิตจนมาเพลามือลงบ้าง เพราะส่วนหนึ่งมีคู่เขยมาร่วมรับผิดชอบ ประกอบกับสถานการณ์แข่งขันอย่างเอาเป็นตายกับแม่โขงได้ยุติลงโดยรวมตัวกันเมื่อปี 2528 ระยะแรกของการซื้อที่ดินอาจเป็นภาวะจำเป็น เพื่อเป็นที่ระบายของเสียจากโรงงานเหล้าดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่ต่อมาระยะหลังช่วงปี 30-31 เจริญกลับเป็นนักเล่นที่อย่างจริงจัง แหล่งข่าวเล่าว่าเจริญยังไม่เคยขายที่ดินแปลงไหนที่ซื้อมาเลย แม้แต่แปลง 2,000 ไรที่บ้านบึงที่ซื้อต่อมาจากเถลิง เหล่าจินดา ในราคาถูกๆ ไร่ละ 20,000 บาทเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่เถลิงล้างมือจากวงการสุรา เดี๋ยวนี้ราคาไร่ละ 200,000 บาท เป็นต้น เพราะฉะนั้นหากจะทึกทักเอาว่า เขาซื้อไว้เพื่อขายเก็งกำไรก็ยังไม่อาจจะกล่าวเช่นนั้นได้ในเวลานี้ ที่ดินนั้นหากไม่ซื้อมาเพื่อขายเอากำไร อีกทางหนึ่งก็คือ นำเอาที่ดินนั้นไปพัฒนา เป็นสิ่งปลูกสร้างอาคาร เจริญเคยคิดจะทำโครงการลักษณะนี้อยู่เหมือนกันตั้งแต่ปี 2531 เขาพยายามดึงตัวผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆ ฝ่ายเข้ามาช่วย เช่น ไพบูลย์ สำราญภูติ จากนิคมอุตสาหกรรมบางปู แต่แล้วพวกเขาเหล่านั้นก็เดินออกจากที.ซี.ซี.ไปภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ด้วยเหตุผลที่เหมือนๆ กันคือ ไม่มีงานทำเพราะโครงการต่างๆ นั้นยังไม่เกิด และไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นด้วย เพราะจนกระทั่งบัดนี้ โครงการใดๆ ที่ว่านั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นเลย เมื่อถามผู้ร่วมงานใกล้ชิดเจริญหลายๆ คนว่า เขาจะซื้อที่เอาไว้ทำไมตั้งมากมาย ก็ไม่มีใครตอบได้ชัดเจนแน่นอนสักคน เพราะเจริญจะเป็นผู้ตัดสินใจเพียงลำพังคนเดียวทั้งหมด แต่อย่างน้อยมันก็เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ช่วยแบ็กอัพชื่อของเขาอยู่ หากไม่เป็นประโยชน์ทางตรงให้เราเห็นกัน มันก็ยังมีประโยชน์แบบอ้อมๆ ในลักษณะนี้ เจริญย่อมมีวัตถุประสงค์ของเขา ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่จำเป็นต้องจ้างมือดีๆ ให้เข้ามาอยู่ในสังกัดที.ซี.ซี.เพื่อคอยกว้านซื้อที่ดินเพียงอย่างเดียว ผู้ชำนาญการที่ดินหรือมือทองของเจริญคนหนึ่งเคยเป็นผู้จัดการสาขาอยู่ธนาคารกรุงศรีฯ พัวพันกับเรื่องที่ดินตั้งแต่สมัยทำงานกับธนาคาร จึงทำให้มีความชำนาญในการประเมินราคาที่และมีความสามารถในการเจรจามากเป็นพิเศษ แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวถึงมือทองของเจริญคนนี้ว่า "เขาไปดูที่ตามที่มีคนมาเสนอขายเกือบทุกวัน ตรงไหนสวย ตรงไหนถูก เจริญแกเอาหมด จนเดี๋ยวนี้ตู้เก็บโฉนด...จะปิดไม่ลงอยู่แล้ว..." แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดอีกคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่ากันว่าเขาเป็นเจ้าของที่ดินเกือบพันแปลงแล้วเวลานี้ "ผู้จัดการ" ไม่ยืนยันในตัวเลขข้อมูลนี้ แต่คนใกล้ชิดยืนยันว่าเป็นไปได้ การซื้อทรัพย์สินของเจริญ ไม่ว่าจะเป็นกิจการอุตสาหกรรม-การเงิน ตึกอาคาร หุ้นและที่ดิน เขาจะใช้วิธีการซื้อผ่านบริษัทในเครือ ดังนั้นสินทรัพย์ต่างๆ ที่ถูกซื้อมาแล้ว จะไปปูดอยู่อยู่ในบัญชีทรัพย์สินของบริษัทในเครือต่างๆ มีอยู่บริษัทหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลเรื่องที่ดินโดยเฉพาะ คือบริษัทที.ซี.ซี.ทรัพย์สินเจริญ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 แต่เดิมนั้นมีชื่อว่าบริษัทที.ซี.ซี.ที่ดินและการเคหะ เพิ่งจะมาเปลี่ยนชื่อเมื่อปี 2531สินทรัพย์ในบริษัทเกือบ 100% อยู่ในหมวดอาคาร ที่ดิน และอุปกรณ์ คิดเป็นตัวเลขถึง 387 ล้านบาท และในจำนวนนี้แบ่งเป็นที่ดินถึง 381 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 6 ล้านบาทนั้นเป็นอาคาร ยานพาหนะและเครื่องใช้สำนักงาน ตัวเลขนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ดี การซื้อที่ดินแปลงละหลายๆ ล้านบาท วิธีที่นิยมทำกันคือ การกู้ยืมเงินระยะยาวจากสถาบันทางการเงินอาจใช้เวลาผ่อนชำระ 5-10 ปีแล้วแต่กรณีไป บริษัทที.ซี.ซี.ทรัพย์สินเจริญก็ทำลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ที่ดินหลายร้อยแปลงจำนวนเงินหลายร้อยล้านบาทนั้น สามารถกู้ยืมได้จากสถาบันการเงินได้อย่างไม่มีปัญหา สินทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันก็คือบริษัทลงทุนและบริษัทในเครือต่างๆ ที่วนอยู่นั่นเอง และก็มีหลายกรณีที่เจริญใช้ชื่อของเขาค้ำประกันในนามบุคคล ซึ่งจะเป็นเฉพาะกรณีใหญ่ๆ เท่านั้น เช่น วงเงินเบิกเกินบัญชีของบริษัทในเครือ นั่นเป็นวิธีการใช้เครดิตต่อเครดิตของเจริญมีลักษณะคล้ายๆ วังวนซึ่งก็จะวนอยู่แต่ในที.ซี.ซี. สาเหตุจากการซื้อทรัพย์สินในนามของบริษัท จึงส่งผลให้บริษัทต่างๆ เหล่านั้นมีสินทรัพย์มากขึ้นตามลักษณะทางบัญชี ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งหมายความถึง ความน่าเชื่อถือของบริษัทมีมากขึ้นเท่านั้น และในที่สุดก็มีฐานะไปค้ำประกันให้กับบริษัทในเครืออื่นๆ ได้ ซึ่งก็จะวนเวียนสลับกันค้ำประกันไปมา โดยเฉพาะเมื่อมีการซื้อทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาอีก และถ้าหากวงเงินขนาดใหญ่มาก ไม่พอที่บริษัทแต่ละบริษัทจะค้ำประกันให้กันได้ ถึงครานั้นจึงจะต้องพึ่งชื่อของเจริญให้ค้ำประกันในนามบุคคล ซึ่งธนาคารให้ความเชื่อถืออย่างที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อในบริษัทที่อยู่ข้างหลังเขา ซึ่งแน่นอนก็คือบริษัทในธุรกิจสุราและกิจการอื่นๆ ในเครือทั้งหลาย ซึ่งทรัพย์สินมากมายเหล่านั้นนั่นเอง ทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่า เจริญเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยที่ดินมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย เขาสามารถบริหารเงิน บริหารทรัพย์สินได้อย่างน่าทึ่ง โดยใช้สถาบันทางการเงินและบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจ "ลงทุน" โดยเฉพาะซึ่งมีอยู่นับ 10 บริษัทเป็นเครื่องมือหลัก โยงใยทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุน สนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ในเครือไปลงทุนในกิจการต่างๆ ดุจปลาหมึกยักษ์ ไม่ต่างอะไรกับวิธีการบริหารทุนของเหล่าธนาคารพาณิชย์ในบ้านเรา จนเดี๋ยวนี้ เครดิตของเจริญเป็นที่ยอมรับในวงการธุรกิจการเงินและมีความเชื่อถือมากพอๆ กับเครดิตของธนาคาร และถ้าจะพูดว่าเครดิตของเขาเป็นที่เชื่อถือมากกว่าเครดิตของธนาคารบางแห่งก็ไม่ผิดนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น