วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559
ขบวนการปล้นชาติ 15,000 ล้านบาท
ไม่เคยมีธุรกิจใดในประวัติศาสตร์ไทย ที่จะยุ่งวุ่นวาย และใช้อิทธิพลทุกรูปแบบไปจนกระทั่งเกี่ยวพันกับสถาบันการเงินถึง 7 แห่ง เหมือนธุรกิจเหล้าของกลุ่มสุราทิพย์
และก็ไม่เคยมีใครเคยเห็นได้กู้เงินกว่าครึ่งหมื่นล้านโดยไม่เพียงเอาลายเซ็นค้ำประกันนอกจากผู้บริหารกลุ่มสุราทิพย์ 4-5 คนนี้เท่านั้น
และไม่เคยมีคนในวงการธุรกิจใดๆ ในประเทศที่จะเห็นแก่ได้มากเท่ากับกลุ่มสุราทิพย์เช่นกัน!
ตำนานเหล้าหงส์ทองของกลุ่มสุราทิพย์นี้ผู้จัดการเคยเขียนลงใน "ผู้จัดการ" เป็นภาคที่ 1 (ฉบับเดือนเมษายน 2527) และภาคที่ 2 (ฉบับเดือนธันวาคม 2528) มาแล้ว และเมื่อมีการรวมตัวกันระหว่างแม่โขงกับหงส์ทองนั้นก็เป็นเกมที่พอจะมองกันออกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นขบวนการร่วมมือกันโกงผลประโยชน์ของชาติอย่างหน้าด้านๆ ที่สุด
ตำนานเหล้าครั้งนี้จำเป็นที่จะต้องมีคนจารึกลงไปในประวัติศาสตร์เพื่อเป็นเครื่องเตือนความจำให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะคนไทยในอนาคตควรที่จะต้องรับทราบว่าธุรกิจเหล้านั้น ได้ถูกกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งบิดเบือนข้อเท็จจริงใช้อิทธิพลทางการเมืองและใช้สถาบันการเงินร่วมมือกับข้าราชการที่เห็นแก่ได้บางคนกระทำการหาวิธีการแก้ไขสัญญาประมูล เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บรรดาพ่อค้าเหล้าทั้งหลาย โดยบิดเบือนข้อเท็จจริงต่อสาะารณชน
สงครามเหล้าเป็นสงครามที่ชิงไหวชิงพริบกันอย่างถึงพริกถึงขิงง ตามลักษณะของธุรกิจการค้า
ระหว่างเหล้าแม่โขงของกรมโรงงานอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม และกลุ่มโรงงานสุรา 12 โรงที่ผลิตเหล้าหงส์ทองของกรมสรรพสามิตกระทรวงการคลังทั้งคู่ต่างก็ประมูลได้มาจากหน่วยงานของรัฐบาลทั้งสิ้น แตกต่างในเรื่องเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ไปตามระเบียบและกฎเกณฑ์ที่เจ้ากระทรวงได้กำหนดลงมา เพื่อเป็นประโยชน์แก่รัฐ
ทั้งคู่เข้าประมูลและก็ประมูลได้สิทธิขาดในการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยผู้แพ้ประมูลโรงงานสุราบางยี่ขันที่ผลิตแม่โขงและกวางทอง ได้ทุ่มตัวเองเข้ามาประมูลโรงงานสุรา 12 โรงงานของกระทรวงการคลังเพืยงตัวเองจะได้ปิดตลาดและฟาดฟันกับแม่โขงได้อย่างสะใจ
"เค้าแห่งการทุ่มเทกำลังเข้าช่วยกลุ่มสุราทิพย์โดยกระทรวงการคลังเป็นพี่เลี้ยงและกรมสรรพสามิตเป็นหัวหอกก็เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว
ในเดือนมกราคม 2528 กลุ่มสุราทิพย์ยังไม่สามารถส่งมอบโรงงาน 12 โรงให้กับกรมสรรพสามิตได้ตามสัญญา และพยายามจะขอยกเว้นเงินค่าปรับวันละ 1.2 ล้านบาท
รองอธิบดีกรมสรรพสามิต นายบรรหาร บัณฑุกุล ได้แสดงความเห็นใจชนิดที่น้ำตาแทบจะไหลออกมาว่า ทางกรมฯ จะร่วมกับคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาผ่อนผันการรับมมอบโรงงาน ซึ่งบริษัทสุราทิพย์เสนอขอยืดไปอีก 6 เดือน
ยิ่งกว่าการชี้โพรงให้กระรอกเสียอีก!
แต่นั่นก็คือแผนการขนาบแม่โขงทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
ข้างหน้าโดย อบ วสุรัตน์ กับ ธาตรี ประภาพรรณ โดยใช้จำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นคนคู่กายคู่ใจของอบด้วยฟาดฟันแม่โขงไม่ให้ขายเกินราคาและตั้งแท่นให้ปรับแม่โขงพันกว่าล้านบาท!
ส่วนข้างหลังก็โดยกระทรวงการคลังใช้นโยบายอะลุ้มอล่วยกับกลุ่มสุราทิพย์กันอย่างชื่นมื่น!
และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 28 ยุทธการบีบแม่โขงก็เริ่มมองออกให้เห็นรางๆ กันแล้ว
ในขณะที่กระทรวงการคลังทุ่มจนสุดตัวเพื่อช่วยกลุ่มหงส์และกระทรวงอุตสาหกรรมอัดแม่โขงจนสุดแรง เพื่อให้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากันไป
ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ วีระ สุสังกรกาญจน์ กำลังโดนจวกหนัก ซึ่งกรณีของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมวีระนั้น เมื่อมาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังแล้วก็จะเห็นข้อแตกต่างและก็จะเข้าใจรายการรุมกินโต๊ะจีนของทั้ง 2 กระทรวงที่มีต่อบริษัทสุรามหาราษฎรอย่างเห็นได้ชัด
ปลัดวีระถูกนายอบตั้งกรรมการชุดที่สองจำนวน 5 คน ขึ้นมาสอบหลังจากที่กรรมการชุดแรกบอกว่าเขาไม่ผิด
กรรมการชุดที่สองบอกว่าปลัดวีระผิดเพราะ :-
1. ไม่ควรให้แม่โขง-กวางทอง ลดราคา
2. ไม่ปฏิบัติตามมติครม.เรื่องการทำสัญญา
3. ไม่สามารถสั่งการให้บริษัทสุรามหาราษฎรปรับราคาให้สูงขึ้นได้ เนื่องจากไม่ได้มีการทำสัญญาเพิ่มเติมมติครม.
แต่เมื่อเรื่องถูกสรุปและส่งไปสำนักนายกฯ ซึ่งเป็นเจ้าสังกัดของวีระ สุสังกรกาญจน์ ปรากฏว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็บอกออกมาชัดแจ้งแดงแจ๋ว่า วีระไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา
และถ้าเราหันมาดูการทำงานของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงการคลังแล้ว เราจะเห็นว่ามีข้อกล่าวหาต่างๆ ดังนี้ :-
1. ทำไมกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตไม่ดำเนินการให้สุราทิพย์จ่ายค่าปรับและจ่ายค่าสิทธิผลประโยชน์ ที่ต้องจ่ายให้รัฐตามสัญญา (ข้อนี้ถือได้หรือไม่ว่าอธิบดีกรมสรรพสามิตสมัยนายอรัญ ธรรมโน ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยละเลยและเพิกเฉย)
2. กระทรวงการคลังฝ่าฝืนมติครม..ที่ สร.0203/2418 ลงวันที่ 2 มีนาคมม 26 ที่มีมติให้กระทรวงการคลังประกาศกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าประมูลขอรับอนุญาตทำและจำหน่ายสุราขาวผสม พ.ศ.2528-2542 ว่า "ห้ามผลิตสุราผสมที่ใช้สูตรของสุราปรุงพิเศษแม่โขง และหรือกวางทอง ออกจำหน่าย" (ข้อนี้ถือได้หรือไม่ว่าตั้งแต่รัฐมนตรีไปจนถึงอธิบดีสมัยบัณฑิต ปุณยะปานะ และอรัญ ธรรมโน ฝ่าฝืนมติครมม.อันเป็นการทำผิดกฎหมายแผ่นดิน)
3. เมื่อกลุ่มสุราทิพย์ประมูลโรงงานสุราครั้งแรกได้แล้วทิ้งประมูลต้องเปิดประมูลใหม่ซึ่งทำให้รัฐบาลขาดค่าสิทธิไปปีละ 800 ล้านบาท (15 ปีเป็นเงิน 12,000 ล้านบาท) ในหลักปฏิบัติทั่วไปนั้น คนที่ทิ้งการประมูลจะต้องถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าประมูลใหม่ การเอาเปรียบรัฐบาลแบบนี้เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตในขณะนั้นมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่?
เพียงแค่ 3 ข้อนี้ก็เชื่อกันได้ว่า ตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายก็คงจะต้องวิ่งกันเข้ามาช่วยพรรคพวกตัวเองแก้ตัวกันเป็นการใหญ่
จะเห็นได้ชัดถึงความลำเอียง และร่วมกันปกป้องผลประโยชน์เหล้าหงส์ทองของข้าราชการประจำบางคนในกระทรวงการคลัง
และก็จะเห็นได้ชัดว่า ในขณะที่ปลัดวีระ สุสังกรกาญจน์ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ถูกเจ้ากระทรวงเล่นงานอย่างหนักหน่วงแต่เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังกลับหมั่นละเลยและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กันอย่างครื้นเครงและก็ไม่ยี่หระต่ออะไรทั้งสิ้น
พอจะเห็นข้อแตกต่างกันหรือยังครับ!
เขาถึงบอกกันเป็นสัจธรรมในแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองนี้ว่า กฎหมายบ้านนี้เมืองนี้มันศักดิ์สิทธิ์แต่จะศักดิ์สิทธิ์ตรงที่ว่า ใครเป็นคนใช้ และเจตนาคนใช้จะเป็นอย่างไร?
ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะได้ฟังยุทธการยอกย้อนอันนี้ จำเป็นจะต้องทราบถึงการปฏิบัติและวิธีการค้าสุราที่มีมาแต่โบราณกาล ตั้งแต่สมัยปู่สมัยทวด และวิธีการปฏิบัตินี้ก็เป็นขนบธรรมเนียมในวงการค้าเหล้าที่ทุกคนยอมรับกันมาตลอด
ในสัญญาของการดำเนินการผลิตสุรากับรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมโดยผ่านทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือกับกระทรวงการคลัง โดยผ่านกรมสรรพสามิต เมื่อใกล้จะหมดสัญญาการผลิตแล้ว ทางหน่วยงานของรัฐก็จะประกาศเปิดการประมูลให้เช่าสัญญาต่อและการประมูลก็จะมีก่อนสัญญาจะหมดประมาณหนึ่งปี หรือ 2 ปี สุดแล้วแต่ว่าการประมูลใหม่ผู้ประมูลได้จะต้องสร้างโรงงานอะไรหรือไม่? ถ้าต้องลงทุนสร้างโรงงานเช่นที่กลุ่มสุราทิพย์ประมูลได้ก็จะเปิดประมูลเร็วขึ้น
เมื่อผู้ประมูลรายใหม่ประมูลรับช่วงต่อไปได้และมีการประกาศออกมาเป็นทางการว่าใครประมูลได้ซึ่งถ้าไม่ใช่เจ้าเก่าได้เจ้าใหม่ก็จะต้องประสบปัญหาดังนี้ :-
เหล้าค้างสต็อก เจ้าเก่าที่ทำอยู่เมื่อรู้ว่าตัวเองจ ะไม่ได้ต่อไปแล้วก็จะเร่งผลิตเหล้าทั้งวันทั้งคืนผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะต้นทุนด้านภาษีของตนต่ำกว่าเจ้าใหม่มาก
เหล้าค้างสต็อกนั้นก็จะถูกออกมาจำหน่ายเพื่อตัดราคาเจ้าใหม่ที่เข้ามาทำโรงงานต่อ
และประเพณีเป็นเรื่องทีทุกคนในวงการเหล้าได้ประสบพบเห็น พร้อมทั้งยอมรับกันทั่วหน้า
ทางแก้ของผู้ประมูลใหม่ก็มีอยู่สองทางคือยอมให้เหล้าเก่าของเจ้าเก่าขายไปจนใกล้จะหมด หรือวิธีที่สอง ที่มักจะทำกันคือการขอซื้อเหล้าค้างสต็อกทั้งหมดในราคาที่ทั้งสองฝ่ายยินยอมพร้อมใจกัน
กรณีของกลุ่มสุราทิพย์ก็เช่นกัน เถลิง เหล่าจินดา เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ เกียรติและกมล เอี่ยมสกุลรัตน ก็คือพ่อค้าเหล้าที่คร่ำหวอดมากับวงการน้ำเมาหลายสิบปี ขนบธรรมเนียมประเพณีนี้ก็ต้องรู้อยู่แก่ใจ
ฉะนั้นเมื่อกลุ่มสุราทิพย์นี้ประมูลได้สิทธิ์ในการทำเหล้า 12 โรงงานทั่วประเทศเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานั้น กลุ่มนี้ก็ได้เตรียมแก้ปัญหานี้ไว้แล้ว โดยไปรับเซ้งหรือร่วมกิจการจากผู้ผลิตเดิม 31 โรงงาน โดยส่วนใหญ่จะเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการแทนผู้ผลิตเดิมทั้งเกือบ 31 โรงงาน ก่อนที่โรงงานนั้นจะครบอายุสัญญาปี 2527
ในการเข้าไปก้ผลิตสุราค้างสต็อกขึ้นมาประมาณ 7.8 ล้านเท ซึ่งเป็นเหล้าที่กลุ่มสุราทิพย์เป็นผู้ผลิตขึ้นมาเองก่อนที่โรงงานเหล้านั้นจะครบอายุสัญญาด้วยการรับโอนกิจการไว้ก่อน
สุราค้างสต็อก 7.8 ล้านเทนี้เป็นเหล้าที่เสียภาษีตามแสตมป์ที่ปิดขวดเท่านั้น แปลได้ว่าเป็นเหล้าที่ไม่ต้องเสียค่าสิทธิ์ ค่าภาษีค่าปรับตามเงื่อนไขใหม่ของโรงงาน 12 โรงที่เพิ่งประมูลได้
และกลุ่มบริษัทที่เข้าไปซื้อเหล้าเก่าพวกนี้ก็คือ บริษัทท่าจีนการสุรา ซึ่งโดยสภาพแล้วเป็นนิติบุคคลอีกบริษัทหนึ่งซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับสุราทิพย์เลย
ปัญหามันก็เกิดขึ้นเมื่อสุราทิพย์เกิดสมองใสจะเอาตัวรอดขึ้นมา!!!
สุราทิพย์ก็เลยเสนอกระทรวงการคลังว่าตัวเองต้องรับซื้อสุราค้างสต็อกจากผู้ผลิตเดิม 7.8 ล้านเท และเมื่อบวกกับโควตาการผลิตปี 2528 ตามสัญญาใหม่อีก 14.66 ล้านเทแล้ว สุราทิพย์ก็อ้างว่า ตนเองต้องรับภาระถึง 22.46 ล้านเทจะหนักไป ฉะนั้นก็จะขอลดโควตาการผลิตเสียภาษีและค่าผลประโยชน์ให้แก่รัฐในปี 2528 นี้ลงไป 7.8 ล้านเท โดยถือเสมือนว่า สุราทิพย์ได้เป็นผู้ผลิตเสียภาษีและค่าผลประโยชน์จากเหล้าที่ซื้อมาจากผู้ผลิตเก่า 7.8 ล้านบาทให้กับรัฐแล้ว
เรื่องนี้ได้ผ่านการพิจารณาของกระทรวงการคลังมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยปลัดกระทรวงการคลัง พนัส สิมะเสถียร กลัวว่ากลิ่นเหล้าจะเหม็นหึ่งมาถึงวงศ์ตระกูลก็คัดค้านไม่เห็นด้วย
จะด้วยอาเพศอันใดที่ประเทศนี้ยังมีอยู่ก็ไม่ทราบได้? รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุคก่อนก็ส่งเรื่องกลับมาโดยตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาใหม่อีก โดยมีตัวกรรมการอยู่สามคน
คนแรกคือ เฉลิมชัย วสีนนท์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งอย่างสดๆ ร้อนๆ ต่อจาก อรัญ ธรรมโน
คนที่สองคือ นิพัทธ พุกกะนะสุต รองผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง ผู้มีศักดิ์เป็นหลานรักของสมหมาย ฮุนตระกูล ที่กำลังขึ้นหม้ออยู่ปัจจุบัน และนิพัทธนี้เองในยุคสมัยหนึ่งก็เป็นผู้เสนอให้มีการประมูลสร้างโรงงานเหล้าขึ้นมาใหม่เพื่อผลิตแอลกอฮอล์ และทำสุราปรุงพิเศษลักษณะเดียวกับแม่โขงและกวางทอง โดยให้ขายทั่วราชอาณาจักรได้ แต่เผอิญความคิดนี้มีคณะรัฐมนตรียังมีสติสัมปชัญยะสมบูรณ์อยู่ก็เลยไม่เห็นด้วย
คนสุดท้ายคือเจ้าเก่าที่เลือดข้นกว่าน้ำชื่อบัณฑิต ปุณยะปานะ อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิตปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมสรรพากร และก็เป็นน้องชายแท้ๆ ของพงส์ สารสิน หุ้นส่วนใหญ่คนหนึ่งของกลุ่มสุราทิพย์
เห็นแค่ชื่อกรรมการก็ต้องบอกว่าเลือกได้เจ็บมาก เหมือนกับสั่งมาเลย และแทบจะทำนายผลออกมาได้
กลุ่มสุราทิพย์ก็ค่อยหายใจคล่องหน่อยที่เห็นชื่อกรรมการชุดนี้หลังจากที่ผิดหวังและอารมณ์เสียมากับพนัส สิมะเสถียร ครั้งหนึ่ง
แต่เผอิญงานนี้เฉลิมชัย วสีนนท์ อธิบดีกรมสรรพสามิตไม่เล่นด้วย เพราะ "ท่านอธิบดีเห็นว่าไม่ถูกต้อง และรัฐเสียผลประโยชน์มาก อีกประการหนึ่งท่านเองอีกไม่กี่ปีก็เกษียณแล้ว ท่านคงไม่อยากจะต้องมีเรื่องมีราวหลังเกษียณ" คนใกล้ชิดเฉลิมชัย วสีนนท์ พูดให้ฟัง
เป็นอันว่าแผนนี้ก้คงค้างเติ่งกันต่อไป" ยุทธการรวมตัวเพื่อยึดครอง
ดูตามผิวเผินแล้วในช่วงต้นปี 2529 เป็นช่วงที่แม่โขงน่าจะเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะในสงครามเหล้าและฝ่ายหงส์ทองกำลังประสบปัญหาการเงินอย่างหนักที่ดูๆ แล้วไม่น่าจะเอาตัวเองรอดได้ แต่แรงช่วยจากกระทรวงการคลังก็ยังคงหนักแน่นและถึงกับมีการกำหนดยุทธวิธีการช่วยกลุ่มสุราทิพย์ขึ้นมาอย่างแยบยล จากมันสมองของระดับรองอธิบดีในกระทรวงการคลังคนหนึ่ง
"รองอธิบดีคนนี้ได้บอกกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในกระทรวงว่า ต้องให้กลุ่มสุราทั้งสองแห่งรวมตัวกันให้ได้ เพื่อแก้ปัญหาการล้มของสุราทิพย์และเพื่อป้องกันไม่ให้แม่โขงได้เปรียบมากเกินไปกว่านี้ เพราะไม่งั้นแล้วแผนบีบแม่โขงให้รวมกับหงส์ทองก็จะล้มเหลว" แหล่งข่าวผู้อยู่ในเหตุการณ์คนหนึ่งตัดสินใจเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังหลังจากที่ไตร่ตรองมาเป็นอาทิตย์
การรวมนั้นแน่นอนที่สุดต้องติดอยู่ที่กลุ่มสุรามหาราษฎรมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตระกูลเตชะไพบูลย์
"คนอื่นอย่างเช่นคุรโกเมน คุณวิศาล หรือคุณวานิช ไชยวรรณ นั้นเขาเองก็อยากจะรวมมานานแล้ว โดยเฉพาะสายคุณวิศาล ภัทรประสิทธิ์ ที่เล่นทั้งฝ่ายแม่โขงและหงส์ทองมาเป็นเวลานานจะติดก็ตรงสายของคุณสุเมธ เตชะไพบูลย์ ที่ยืนกรานไม่ยอม" คนในกรมสรรพสามิตเล่าให้ฟัง
"คุณสุเมธจะไปยอมได้อย่างไร? เพราะตัวแกเองคิดว่าแม่โขงไม่ได้ทำอะไรผิด สัญญาต่างๆ ที่มีกับรัฐบาลก็ไม่ได้ผิดเงินค่าสิทธิ ค่าภาษีก็ไม่ได้ค้าง ประมูลมาได้ภายใต้เงื่อนไขไปอย่างไรก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขเช่นนั้น" คนสนิทของสุเมธ เตชะไพบูลย์ พูดกับ "ผู้จัดการ"
แต่กระทรวงการคลังโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนได้มีแผนการขั้นนี้อยู่แล้ว
"เขารู้ว่าคนจีนนั้นเวลาทำอะไรต้องประชุมตระกูลกันแล้วพี่ใหญ่จะเป็นคนสั่งการ คำสั่งของพี่ใหญ่นั้นก็เปรียบเสมือนคำสั่งของเตี่ยเอง จะบีบให้คุณสุเมธยอมนั้นจะต้องเดินหมากชนพี่ใหญ่ของคุณสุเมธคือคุณอุเทนเสียก่อน" คนเก่าในกระทรวงการคลังพูดต่อให้ฟัง
นอกจากหมากเดินชนอุเทน เตชะไพบูลย์ แล้วก็ยังใช้สถานภาพทางการเงินเข้ามาบีบกลุ่มสุรามหาราษฎรอีกด้วย
"ตัวเราเอง (แม่โขง) ตอนต้นปีก็ประสบปัญหาเรื่องการเงินมาก เพราะว่าตอนขึ้นภาษีนั้นเหล้าขายไม่ออก และเราเองก็ขาดทุนอย่างมากมาย แหล่งเงินก็หมดไป เราต้องหาเงินกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่เขาบีบเราเสนอให้มีการรวมบริษัททั้งสองบริษัทเข้ามานั้น เราติดต่อขอกู้เงินกับสถาบันการเงินทุกแห่งก็ไม่มีใครยอมให้ ถึงเราจะเอาหลักทรัพย์ส่วนตัวออกมาค้ำประกันให้เกินมูลค่าเงินที่ขอกู้เป็นจำนวนมากก็ยังไม่มีใครยอมให้ เรียกว่าเข้สใช้สถาบันการเงินมาบีบเราอีกทีหนึ่ง" คนสนิทของสุเมธ เตชะไพบูลย์ ได้พูดให้ฟังเพิ่มเติม
และแล้วยุทธการเดินชนอุเทน เตชะไพบูลย์ ก็เริ่มต้น
ตระกูลเตชะไพบูลย์นั้นได้แบ่งสายกันทำธุรกิจการค้าไปคนละแบบ พี่น้องบางคนก็หันเข้าไปจับกิจการธนาคาร บางคนก็ไปจับทางด้านที่ดิน บางคนเช่นสุเมธ เตชะไพบูลย์ ก็เข้าไปลงทุนในธุรกิจสุรา
เผอิญตรงข้ามกับธนาคารศรีนครนั้นมีธนาคารชื่อมหานครอยู่และธนาคารมหานครนี้ก็มีผู้บริหารระดับเจ้าของที่ชื่อ คำรณ เตชะไพบูลย์ ซึ่งเป็นน้องคนที่สี่ของอุเทน เตชะไพบูลย์
ถึงแม้ว่าจะเป็นเตชะไพบูลย์ด้วยกันแต่คำรณกับตระกูลเตชะไพบูลย์นั้นดูเหมือนจะเพียงแค่ใช้นามสกุลร่วมกันเท่านั้น สายสัมพันธ์ได้ขาดลงไปนานแล้ว
"คุณอุเทนกับคุณคำรณนั้นไม่ได้ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันมานานแล้ว นับตั้งแต่วันที่คุณรำรณเข้าไปเป็นเจ้าของที่แท้จริงของธนาคารมหานครแต่ผู้เดียว ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของตระกูลเตชะไพบูลย์
ในปี 2528-2529 คำรณ เตชะไพบูลย์ กับธนาคารมหานครกำลังมีปัญหา ซึ่งเกิดจากการที่ลูกน้องคำรณคนหนึ่งไปเล่นเงินตราต่างประเทศจนกลับตัวไม่ทัน คำรณได้เชิญปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ซึ่งเป็นเพื่อนรักของตัวเองเข้าไปเพื่อแก้ไขสถานการณ์และพยายามปรับและแก้ปัญหาให้น้อยลง
ปัญหาของธนาคารมหานครนั้น เมื่อเทียบกับธนาคารนครหลวงไทยแล้วยังดูเล็กมาก ยิ่งธนาคารมหานครได้คนธนาคารชาติเช่น ปกรณ์ มาลากุลฯ เมื่อเทียบกับธนาคารนครหลวงไทย ที่ยังคงใช้พ่อค้านาฬิกา เช่น พวกมหาดำรงค์กุล แล้วปัญหาของมหานครดูเป็นเรื่องไม่หนักหนาเป็นปัญหาในด้านการขาดสภาพคล่องและแก้ได้ดวยการเพิ่มทุนทีละขั้นตอน แต่ที่ธนาคารมหานครต้องถูกคำสั่งสายฟ้าฟาดให้ถูกยึดและลดทุนทันทีนั้น จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องการเมืองที่เกี่ยวพันกับกิจการเหล้า" แหล่งข่าวคนเดิมในกระทรวงการคลังพูดให้ฟัง
การบุกเข้ายึดธนาคารมหานครนั้น"จริงๆ แล้วเป็นการส่งสัญญาณให้คุณอุเทน เตชะไพบูลย์ มากกว่าว่าถ้าเรื่องเหล้านั้นตกลงรวมกันไม่ได้ ถ้าธนาคารศรีนครถูกแบงก์ชาติเข้ามาตรวจสอบก็อย่ามาว่ากันนะ" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวต่อ
ขณะเดียวกันธนาคารศรีนครเป็นเสาหลักของตระกูลเตชะไพบูลย์ การที่ถูกเจ้าหน้าที่ธนาคารชาติเข้ามาตรวจสอบ และเข้ามาควบคุมนั้นถึงแม้จะไม่มีอะไรผิดหรือไม่ได้มีปัญหาอะไรร้ายแรง แต่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมีสิริมงคลเลยแม้แต่น้อย
ธรรมดาของคนจีนที่ทำมาค้าขายก็ไม่อยากจะมีเรื่องมีราวกับข้าราชการไม่ว่าจะเป็นระดับไหน
"การเชื่อว่าธนาคารมหานครให้เตชะไพบูลย์ดู แล้วส่งคนมากระซิบบอกว่าถ้าเรื่องแม่โขงกับหงส์ทองรวมตัวกันไม่ได้ก็จะมีปัญหากับศรีนครในภายหน้าก็ป็นยุทธศาสตร์วิธีขู่ขวัญที่ได้วางแผนกันในกลุ่มคนไม่กี่คน ที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะถ้าปล่อยหงส์ทองล้มไปแล้ว ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องหงส์ทอง อาจถูกรื้อฟื้นคดีข้อหาละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ไม่เรียกเก็บภาษีเหล้าหงส์ทองและผ่อนปรนให้กับเหล้าหงส์ทองได้ ก็เลยไม่มีใครกล้าเสี่ยง แต่ถ้ารวมกันแล้วยังล้มก็ล้มด้วยกันทั้งคู่ก็คงจะมีข้อแก้ตัวได้บ้างไม่มากก็น้อย" แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังคนเดิมพูดต่อ
ความจริงแล้วได้มีการวิ่งเต้นในเรื่องนี้มานานพอสมควร ยุทธวิธีของกลุ่มเหล้าหงส์ทองได้เปลี่ยนไปจากการพยายามเดินทางการทหาร มาเป็นเดินสายข้าราชการกระทรวงการคลัง เพื่อบีบให้แม่โขงล้มด้วยการขึ้นภาษีเหล้าเพื่อให้แม่โขงแพงกว่าหงส์ทองมากๆ จะได้ขายไม่ออก แต่หงส์ทองก็แพ้ภัยตัวเองเพราะแม่โขงก็กัดฟันยอมขาดทุน
เมื่อเกมการขึ้นราคาใช้ไม่ได้ผลก็เลยต้องพักรบ และดำเนินแผน ถ้ารบสู้ไม่ได้ก็ให้เข้าไปร่วมเสีย แล้วค่อยทำลายจากภายในตรงกับคำพังเพยที่ว่า "If you can't fight them-join them"
การล้มธนาคารมหานครโดยส่งสัญญาณให้กับอุเทน เตชะไพบูลย์ นั้นได้ผลเพราะ"คุณอุเทนเป็นคนทำงานประเภทไม่ต้องการให้เห็นการได้เสียกันทันที และพวกเขาจับเส้นคุณอุเทนได้ถูกว่าคุณอุเทนเป็นคนขี้เกรงใจคนและเป็นคนที่ต้องการจะให้สังคมเห็นว่าตัวเองเป็นคนมีเมตตาธรรม เอาอย่างไรก้ได้ ยิ่งมีการตีธนาคารมหานครมากระทบทางศรีนครก็ทำให้คุณอุเทนต้องระวังตัวเพราะต้นไม้ใหญ่ก็ต้องปะทะกับลมแรงเป็นของธรรมดา" แหล่งข่าวในตระกูลเตชะไพบูลย์พูดให้ฟัง
การรวมสุราแม่โขงและหงส์ทองก็เริ่มขึ้นโดยคำสั่งของพี่ใหญ่ที่สั่งลงมายังสุเมธ เตชะไพบูลย์ ให้ถอนตัวออกจากการผสมเหล้าสองยี่ห้อนี้"คุณสุเมธขมขื่นมากแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร? ทางสายคุณสุเมธก็ถอนตัวออกมาทั้งยวง พวกกลุ่มสุราทิพย์พอรู้ว่ารวมตัวกับสุรามหาราษฎรได้ก็ดีใจมากในงานประชุมพอตกลงได้ว่ารวมตัวได้ คุณเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ ถึงกับตระกูลไชโยขึ้นมาลั่นห้องด้วยความดีใจ จนทุกคนสะดุ้งแล้วก็หัวเราะกันในท่าทางของคุณเจริญที่ดีใจจนออกนอกหน้า" คนที่เข้าประชุมด้วยเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟัง
ทุกคนที่เกี่ยวข้องพากันถอนหายใจกันอย่างโล่งอกที่สุราทั้งสองกลุ่มรวมตัวกันได้ในขณะที่บริษัทใหม่พากันขนของออกจากที่ทำการอาคารเตชะไพบูลย์แถวๆ พลับพลาไชยไปยังอาคารทีซีซีของกลุ่มมสุราทิพย์ที่ถนนสุรวงศ์ ขณะนั้นทุกคนที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับสุรากำลังปลื้มปีติ และรัฐบาลไทยก็ได้สูญเสียผลประโยชน์จากการรวมตัวในรูปของค่าสิทธิและภาษีไปประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปีทันที
"จะไม่เสีย 2,000 ล้านได้อย่างไร? พอรวมกันสองบริษัทเหล้าแม่โขง-กวางทอง ก็ลดลงจากเดิมที่ขายอยู่เดือนละ 16 ล้านขวด เหลือเพียง 6.5 ล้านขวด ทำให้รัฐเสียหายค่าสิทธิ และภาษีปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่แม่โขงและกวางทองลดเพราะถ้าขายมาก็จ่ายค่าสิทธิและค่าภาษีเพิ่มขึ้น และถ้าลดก็จ่ายน้อยลง ส่วนเหล้าหงส์นั้นเป็นระบบเหมาจ่าย ถ้าขายไม่ได้เลยก็ต้องจ่ายในอัตราที่ประมูลไว้ ทีนี้พอรวมตัวก็ใช้วิธีบีบให้ขายแม่โขงกวางทองน้อยลง"
เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรมผู้รับผิดชอบโดยตรงของเหล้าแม่โขง กวางทอง เอาตัวเลขมาแฉให้กับ "ผู้จัดการ"
แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ในกระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันว่า ผู้บริหารกระทรวงทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ โดยไม่ปกป้องผลประโยชน์ของเหล้าแม่โขงซึ่งเป็นเหล้าของรัฐบาลเพราะ"เขารับเงินรับทองกันไปเรียบร้อยแล้ว คุณอย่าลืมว่าพวกเขาเข้ามาแล้วก็จากไป ฉะนั้นเมื่อเวลาอยู่มีโอกาสจะโกยก็ต้องรีบรับ เพราะพวกเขาขาดรายได้มานานแล้ว ยิ่งหาเสียงแต่ละทีนั้นต้องใช้เงินเป็นสิบๆ ล้าน" คนในกระทรวงอุตสาหกรรมที่อึดอัดกับการโกงกินของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพูดให้ฟัง
การจ่ายเงินจ่ายทองนั้นได้มีกระแสข่าวที่ยืนยันพร้อมกันทั้งสามสายรวมทั้งบรรณาธิการ "ผู้จัดการ" ได้มีโอกาสพบกับผู้จัดการธนาคารต่างประเทศแห่งหนึ่งในฮ่องกง เมื่อคราวบรรณาธิการ "ผู้จัดการ" ได้เดินทางไปทำข่าวที่ฮ่องกง และได้พบผู้จัดการธนาคารต่างประเทศคนนี้ ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าสมัยเรียนด้วยกัน บรรณาธิการ "ผู้จัดการ" พูดให้ผู้เขียนฟังว่า"ผมไปเจอบ๊อบแล้วเขาถามผมว่า รู้จักชื่อคนไทยกลุ่มนี้ไหม? มี 6 คน ผมฟังชื่อแล้วถึงบางอ้อ เพราะมีอยู่ 2 คน อยู่กระทรวงการคลังระดับสูงด้วยที่ชอบไปกู้เงินเมืองนอก อีก 4 คนนั้นเป็นนักการเมือง ทั้ง 4 คน 2 คนอยู่ฝ่ายค้าน อีก 2 อยู่ฝ่ายรัฐบาล คนอยู่ฝ่ายรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย ส่วนคนอยู่ฝ่ายค้านนั้นบ๊อบเขาบอกผมว่ามีการโอนเงินแปลกๆ โดยมีบริษัทหนึ่งในฮ่องกงได้รับแอลซีจากบริษัทในกรุงเทพฯ ให้ส่งของไปแล้วก็เอาแอลซีนี้มาขึ้นเงินแล้วโอนเงินเปิดเป็นบัญชีเงินฝากให้คนหกคน พอถึงเวลาแอลซีจะครบกำหนดบริษัทในฮ่องกงนี้ก็ขอเปิดแอลซีเพื่อสั่งเหล้าจากกรุงเทพฯ โดยเอาเงินสดมาค้ำไว้จำนวนเท่ากับแอลซีที่ได้รับมาแล้วก็ขอแลกแอลซีคืนกันไป ผมถามว่าตัวเลขเงินฝากทั้งหกคนนั้นเป็นเงินเท่าไร? เขาบอกแต่เพียงว่าเป็นเลขแปดหลัก แต่เป็นเงินเหรียญฮ่องกง แล้วต่อมาเขาก็ขอยกเลิกแอลซีนั้นโดยเอาเงินสดส่วนที่เหลือมาจ่ายให้จนครบ"
การรวมตัวครั้งนั้นเป็นเกมการพักรบเพื่อให้สุราหงส์ทองได้หายเหนื่อย"เป็นยุทะวิธีที่ประเสริฐมาก เพราะเวลานี้กลายเป็นว่าปัญหาของหงส์ทองก็เป็นปัญหาร่วมของกลุ่มสุรามหาราษฎรไปแล้ว และการรวมตัวทำให้หงส์ทองมีข้อต่อรองกับสถาบันการเงินซึ่งการพิจารณาว่า เหล้าหงส์ทองจะไปได้ไม่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องต้องมาตั้งข้อสมมติฐานเหมือนเมื่อสมัยยังต้องแข่งกับแม่โขง"สมัยก่อนแบงก์จะพูดว่าคุณขายได้เต็มโควตาคงยาก เพราะแม่โขงกวางทองเขาค้ำคออยู่และต้นทุนคุณก็สูงกว่าเขา แต่มาตอนนี้พอเป็นบริษัทเดียวกันและพวกคุณคุมการบริการอยู่คุณก็ขายเหล้าหงส์ให้เต็มที่แล้วให้แม่โขงง-กวางทอง ขึ้นราคาคนจะได้หันกลับมาซื้อหงส์ทองกันให้มาก คุณขายได้เต็มโควตา ส่วนแม่โขง-กวางทอง จะขายตกอย่างไรก็ช่างมัน เพราะขายน้อยก็จ่ายค่าสิทธิค่าภาษีน้อยไม่ต้องไปห่วง ธนาคารเจ้าหนี้ก็ต้องเห็นว่ารวมตัวย่อมดีกว่าไม่รวม" แหล่งข่าวในวงการเหล้าเล่าให้ฟัง
แต่การรวมตัวอย่างเดียวนั้นไม่ใช่ยุทธศาสตร์สุดท้ายที่พวกนี้วางเอาไว้
ยุทธศาสตร์นั้นคือการขอแก้ไขสัญญากับรัฐบาลและการแก้ไขสัญญาชั้นแรกนั้นคือ การหาทางให้รัฐบาลยอมรับให้โอนเอาเหล้าค้างสต็อก 7.8 ล้านเท เข้ามาหักออกจากโควตา 14.6 ล้านเท ที่ตัวเองต้องผลิตโดยทางกลุ่มหงส์ทองอ้างว่า ตัวเองเมื่อประมูลโรงงานสุรา 12 โรง ได้ก็ต้องกว้านซื้อเหล้าเก่าจากเจ้าของเดิมที่เขาเร่งผลิตให้มากที่สุด ก่อนที่สัญญาใหม่จะเริ่มต้นและกลุ่มหงส์ทองก็ได้กู้เงินธนาคารมา 5,000 ล้านบาท เพื่อกว้านซื้อเหล้าเก่า 7.8 ล้านเทนี้เก็บเอาไว้
"เรื่องเหล้าค้างสต็อกนี้เป็นการโกหกและโกงรัฐบาลอย่างหน้าด้านๆ เพราะกลุ่มสุราทิพย์ก็คือพ่อค้าสุราที่รู้ดีว่าทุกครั้งที่มีการประมูลครั้งใหม่ได้เจ้าของเดิมก็จะเร่งผลิตสุราเก่าให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก่อนที่สัญญาโรงงานจะหมด ส่วนเจ้าของโรงงานใหม่ก็รู้อยู่แก่ใจว่า เหล้าเก่านี้คือปัญหาของเขา ซึ่งก็จะแก้ได้ด้วยการเจรจาเจ้าของเก่าขอกว้านซื้อให้หมด และนี่ก็เป็นประเพณีนิยมที่เขาทำกันมาตั้งแต่ประเทศไทยได้เริ่มมีกิจการสุรา" หลงจู๊โรงงานเหล้าแหล่งหนึ่งอธิบายเรื่องเหล้าค้างสต็อกให้ฟัง
เรื่องเหล้าค้างสต็อกเป็นเรื่องที่ได้มีการจับโกหกกันคำโตๆ ได้คาหนังคาเขา
ในขณะที่เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ ได้พูดออกมาว่า เหล้าค้างสต็อกนั้นเป็นเหล้าเก่าที่เจ้าของโรงเหล้าเก่าเขาผลิตออกมาแล้วกลุ่มสุราทิพย์ได้กว้านซื้อเอาไว้ทั้งหมดมีจำนวน 7.8 ล้านเท
แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าเหล้าเก่า 7.8 ล้านเท นั้นส่วนหนึ่งเป็นเหล้าเก่าที่เจ้าของเก่าได้ผลิตออกมาขายจริง แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเหล้าที่กลุ่มสุราทิพย์หลังจากได้ซื้อโรงงานจากเจ้าของสัญญาเดิมที่ยังไม่หมดสัญญาไปแล้วก็ได้เร่งผลิตเหล้าขึ้นมาอย่างเต็มที่
"ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลิตเหล้าก่อนหมดสัญญานั้นเสียภาษีได้ถูก และถ้าสามารถเอาเหล้าเก่าชุดนี้มาหักออกจากโควตาเหล้าตามสัญญาใหม่แล้วก็จะทำให้กำไรถึงสองต่อ" เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เล่าให้ฟัง
แม้แต่ชาตรี โสภณพนิช เองก็ยังยืนยันข้อเท็จจริงนี้ เมื่อมาให้การกับคณะกรรมาธิกาการเงินการคลังฯ
ทั้งหมดนี้เป็นแผนของกลุ่มสุราทิพย์ที่คิดว่าตัวเองสามารถจะขายได้ทั้งเหล้าเก่าและเหล้าใหม่ แต่"เดิมทีเขาคิดว่าตลาดแม่โขงมีเพียง 70-75 ล้านขวดเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงๆ ทั้งแม่โขงและกวางทองมีถึง 200 ล้านขวดต่อปี หงส์ทองก็เลยพลาดไปอย่างแรง" เฉลิมชัย วสีนนท์ อธิบดีกรมสรรพสามิต พูดให้ฟัง
แม้กระทั่งกลุ่มธนาคารเองก็ยังยอมรับว่าโดนโครงการนี้ของกลุ่มสุราทิพย์แหกตาอย่างแรง ในคำพูดของธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้จัดการของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ให้การต่อคณะกรรมาธิการ"ตอนแรกๆ ที่เขากู้ไปเราดูโครงการก็เป็นไปได้ แต่ทำไปทำไปเขาเองก็ทำอะไรผิดแผกไปและมีปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นมาก็ไม่ได้บอกให้เราทราบ ซึ่งก็ไม่เคยปรากฏในโครงการตอนแรก จู่ๆ เขาก็เดินเข้ามาบอกว่าตอนนี้ไปไม่ไหวแล้วขอให้ช่วยเราก็เลยอยู่ในภาวการณ์ที่กระอักกระอ่วนมาก"
การใช้เงินผิดประเภทนั้นคือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ เช่น การกู้เงินไปสร้างโรงงานนั้นกลับเอาส่วนหนึ่งไปกว้านซื้อเหล้าค้างสต็อกไว้ เลยทำให้เงินสร้างโรงงานต้องขาดแคลน ฯลฯ
ในการรวมตัวกันนี้ได้มีการแต่งตั้งวรรณ ชันซื่อ ขึ้นมานั้นเป็นการใช้คนที่ถูกต้องที่สุด เพราะวรรณ ชันซื่อ เป็นคนที่มีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมากทั้งทางทหารและทางการเมือง
ทางทหารนั้นหลานของวรรณคืออดีตลูกเขยของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน ทางการเมืองนั้นวรรณเองก็มีสายสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับพรรคชาติไทย ซึ่งปัจจุบันก็เป็นผู้ดูแลกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่
การดิ้นของเหล้าหงส์ทองครั้งนี้คือ การดิ้นเพื่อให้รัฐบาลแก้สัญญา และได้มีการเห็นชอบแล้วในระดับกระทรวงการคลังที่ต้องรับผิดชอบแพียงแต่ว่าจะต้องมีการจัดฉากทางการเมืองให้ดีกว่านี้ เพราะกระทรวงการคลังเองเพิ่งจะถูกสภาผู้แทนราษฎรจวกเอาเมื่อไม่นานมานี้ในเรื่องการให้กลุ่มเหล้าหงส์ทองติดค้างเงินค่าภาษี
"เกมใหม่คือต้องไปให้ทางสภาผู้แทนเดินเรื่องเสนอให้ทางรัฐบาลช่วย" คนวงในพูดให้ฟัง
และเกมนี้ก็เริ่มเข้าล็อกลงตัวเมื่อคณะกรรมาธิการการเงินการคลังฯ ได้ศึกษาปัญหาเรื่องนี้และได้มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องในวงการมาให้การ อาทิ กลุ่มธนาคารที่ให้กู้-ฝ่ายบริหารของหงส์ทอง เช่น วรรณ ชันซื่อ-เจริญ ศรีสมบูรณานนท์-การุนย์ เหมวนิช ฯลฯ
ในการให้การต่อคณะกรรมาธิการนั้นก็ได้ข้อยืนยันมาหลายประการว่าเหล้าเก่าค้างสต็อกนั้น ส่วนหนึ่งคือฝีมือของพวกกลุ่มสุราทิพย์ที่เมื่อซื้อโรงงานเก่าไปแล้วก็เร่งผลิตเอาไป
ทางอธิบดีเฉลิมชัย วสีนนท์ เองก็ยืนยันว่าการประมูลครั้งนั้นของสุราทิพย์นั้นเป็นการให้ตัวเลขที่เป็นไปไม่ได้ แต่ทางกลุ่มก็ยืนยันว่าทำได้
ทั้งหมดนี้ก้ได้ซักถามกันอย่างจะแจ้ง แต่ฝ่ายบริหารของกลุ่มสุราทิพย์ก็ไม่ได้ตอบคำถามที่แท้จริงออกมาให้เห็นได้ชัดว่าเวลาประมูลนั้นตัวเองก็ทราบเรื่องเงื่อนไขอยู่แล้ว เพราะตัวเองเป็นคนเสนอตัวเลข แต่เมื่อประมูลได้แล้วทำไม่ได้ ทำไมถึงต้องมาขอให้แก้สัญญา แสดงว่าการเสนอตัวเลขครั้งแรกนั้นเสนอไปเพียงเพื่อให้ตัวเองประมูลได้เท่านั้น แล้วก็หวังว่าเมื่อมีปัญหาก็จะสามารถหาทางให้รัฐบาลผ่อนปรนและแก้ไขปัญหา
ผู้เขียนเคยคุยกับบรรณาธิการ "ผู้จัดการ" สนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งสนธิได้บอกกับผู้เขียนว่า"ผมเคยเจอคุณตามใจ ขำภโต ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง ซึ่งเพิ่งจะสรุปผลการศึกษาปัญหาของกลุ่มบริษัทสุราทิพย์เสร็จใหม่ๆ คุณตามใจบอกผมว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้ไม่ได้เสนอวิธีแก้ปัญหาอะไรให้กับรัฐบาล เพียงแต่ศึกษาปัญหาแล้วเพียงแต่บอกทางรัฐบาลว่าปัญหานี้ต้องรีบแก้เราไม่มีหน้าที่จะไปบอกว่าต้องแก้อย่างไร?"
หลังจากนั้นไม่นาน หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2529 ก็ได้ลงข่าวเรื่องผลของการสรุปของคณะกรรมาธิการ ซึ่งเนื้อหาก็แตกต่างไปจากที่ตามใจ ขำภโต ได้บอกว่าทางสนธิ ลิ้มทองกุล บรรณาธิการ "ผู้จัดการ" เนื้อหาตามข่าวมติชนก็มีดังนี้ :-
"กรรมาธิการการคลัง สภาผู้แทนฯ สรุปผลศึกษาหนี้สินบริษัทสุราทิพย์แล้วให้รัฐบาลและธนาคารพาณิชย์ร่วมถือหุ้นใหญ่เพื่อลดภาระหนี้สินและดอกเบี้ยกว่า 20,000 ล้านบาท อีก 3 ปีข้างหน้าบริษัทต้องกู้ธนาคารอีก 6,000 ล้านบาท ชี้ถ้าไม่ช่วยเจ๊งแน่
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า คณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงินสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดทำรายงานสรุปผลการพิจารณาศึกษาปัญหาการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทสุราทิพย์เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยตั้งข้อสังเกตว่า จากการศึกษาข้อเท็จจริงและคำชี้แจงของบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลคือ กรมสรรพสามิต ผู้ผลิต และธนาคารเจ้าหนี้ สรุปว่า ปัจจุบันกลุ่มบริษัทสุรามหาราษฎรและสุราทิพย์ มีภาระหนี้สินค้างชำระค่าสิทธิประโยชน์ทางราชการเป็นเงิน 4,494 ล้านบาท เป็นหนี้กลุ่มธนาคารพาณิชย์อีกประมาณ 19,000 ล้านบาท รวมกว่า 23,000 ล้านบาท
รายงานระบุว่า จากตัวเลขหนี้สินจำนวนมหาศาลเอาจทำให้เกิดปัญหาและมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทหากมิได้รับการแก้ไขในแนวทางที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที จะก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาล กลุ่มธนาคารพาณิชย์เจ้าหนี้ และประชาชนทั่วไปในฐานะผู้ฝากเงินกับธนาคารและผู้บริโภคสุรา เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว
รายงานได้คาดหมายในประเด็นสภาพปัญหาของบริษัทว่า การดำเนินงานต่อไปนี้จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์อีกทั้งที่ได้ยืมมาแล้วเป็นจำนวนมาก และสาเหตุสำคัญของการค้างชำระค่าสิทธิก็เพราะต้องนำเงิน 4,400 ล้านบาทไปซื้อสุราเก่าจากผู้ผลิตตามสัญญาเดิมเพื่อลดการแข่งขันในปริมาณ 7.8 ล้านเท หรือ 53 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตขั้นต่ำในปีแรก กรมสรรพสามิตได้ชี้แจงต่อกรรมาธิการด้วยว่าการที่มีการรวมบริษัทเข้าด้วยกัน หากบริษัทมีปัญหาการเงินเกิดขึ้น ประชาชนคงไม่มีทางเลือก ต้องซื้อสุราในราคาสูงขึ้น
"ทางกลุ่มสุราทิพย์ชี้แจงคณะกรรมาธิการว่า สาเหตุที่ต้องประสบปัญหาขาดทุนและเป็นหนี้ เนื่องจากไม่สามารถขายสุราได้ตามเป้าหมาย เพราะประสบปัญหาการแข่งขันอย่างรุนแรงจากสุราเก่าที่ผลิตไว้ก่อนปี 2527 ซึ่งบริษัทก็ได้เข้าไปซื้อมาไว้ ทั้งยังลดราคาสุราขาวลงขวดละ 3 บาท แต่สุราขาวยังมีคู่แข่งสำคัญคือสุราเถื่อน ส่วนสุราผสมก็มีคู่แข่งคือ สุราต่างประเทศ ในเมื่อบริษัทต้องจ่ายค่าสิทธิประโยชน์และภาษีให้รัฐในอัตราขั้นต่ำตายตัว บริษัทจึงต้องพยายามขายสุราให้มากที่สุด เรื่องที่บริษัทจะตั้งราคาขายไว้สูงเกินไปหรือเข้าผูกขาดธุรกิจแต่ผู้เดียวจึงเป็นไปไม่ได้" รายงานระบุและแจ้งต่อไปว่าบริษัทเรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมถือหุ้นใหญ่ โดยจดทะเบียนเพิ่มทุน เพื่อลดภาระหนี้สินและดอกเบี้ยโดยกลุ่มบริษัทผู้ถือหุ้นเดิมจะยังคงถือหุ้นจำนวนเท่าเดิม แต่มิได้มีการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รายงานกล่าวต่อไปว่า ต่อข้อเสนอที่บริษัทจะกู้เงินเพิ่ม ธนาคารตั้งเงื่อนไขว่าบริษัทต้องชำระค่าดอกเบี้ยที่ยังคงค้างอยู่ให้หมดสิ้นและต้องได้รับการพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขในสัญญาจากรัฐบาลก่อน ดังนั้น บริษัทเห็นว่า หากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบันไม่ได้รับการแก้ไขจากทั้งรัฐบาลและธนาคารแล้ว บริษัทคงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จำเป็นต้องปล่อยให้ธุรกิจนี้ล้ม ซึ่งย่อมจะก่อความเสียหายกับทุกฝ่าย
"คาดว่าบริษัทจะต้องกู้เงินจากธนาคารเพิ่ม 4,000-6,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปี ข้างหน้า เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนดำเนินการรวมทั้งสิ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท บริษัทเชื่อว่าจากผลการดำเนินงานตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป บริษัทคงจะสามารถชำระหนี้ที่มีต่อธนาคารและรัฐบาลได้ ปัญหาอยู่ที่ว่าบริษัทจะกู้เงินจากธนาคารเพิ่มได้หรือไม่" รายงานระบุ
รายงานได้ระบุถึงความเห็นของธนาคารพาณิชย์เจ้าหนี้ต่อเรื่องนี้ว่า ธนาคารพาณิชย์เป็นสื่อกลางให้ 2 บริษัทรวมตัวกัน เรื่องจะเกิดการผูกขาดหรือไม่ เนื่องจากกิจการอยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาล 100 เปอร์เซ็นต์จึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและหน่วยงานของรัฐเป็นสำคัญ
"การให้ความช่วยเหลือโครงการนี้ต่อไป บริษัทต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของโครงการและความช่วยเหลือของรัฐบาลต่อโครงการนี้ โดยที่ธนาคารยังไม่แนใจว่าโครงการจะไปรอดหรือไม่ จึงต้องพิจารณาประเด็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย คือผู้ถือหุ้น และผู้แทนจำหน่ายฝ่ายหนึ่ง การแก้ไขเงื่อนไขในสัญญากับรัฐบาลฝ่ายหนึ่ง และธนาคารพาณิชย์อีกฝ่ายหนึ่ง จึงสมควรจัดให้ 3 ฝ่ายได้พบปะเจรจาหรือและขอให้คณะกรรมาธิการเป็นสื่อกลางให้ด้วย" รายงานระบุ
นี่ก็เรียกได้ว่าเข้าทางปืนเรียบร้อย ทีนี้มันลงล็อกหมดทุกตัวคณะกรรมาธิการส่งเรื่องให้สภาเห็นด้วยว่าควรช่วยสุราทิพย์ สภาก็ส่งเรื่องให้รัฐบาล ทางรัฐบาลก็ส่งให้กระทรวงการคลัง ซึ่งอ้าแขนรออุ้มอยู่แล้ว มันช่างวิจิตรพิสดารพันลึกอะไรเช่นนี้!!
และขอให้เชื่อขนมกินกันได้เลยว่าขั้นตอนต่อไปจะต้องเป็นไปอย่างนี้ :
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้เพื่อเสนอผลสรุป ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงที่มีชื่อในบัญชีเงินฝากในธนาคารที่ฮ่องกงด้วยหรือเปล่า?
2. คณะกรรมการชุดใหม่นี้ ก็จะสรุปออกมาว่าสมควรช่วยโดยอาจจะให้มีการแก้ไขสัญญาบางประการเช่น การยอมให้ลดโควตาลงมาหรือลดภาษี หรือยอมให้เอาเหล้าเก่าค้างสต็อกอีก 7.8 ล้านเท หักออกจากโควตาปัจจุบันได้
3. คณะกรรมการก็จะส่งเรื่องให้รัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสิน รัฐมนตรีก็อาจจะตัดสินทันทีตามมติคณะกรรมการหรืออาจจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นยันต์กันผี
4. คณะรัฐมนตรีซึ่งก็มีพรรคชาติไทย ซึ่งก็รู้ๆ กันอยู่แล้ว และมีพรรคกิจสังคมซึ่งเผอิญมีรองนายกฯ ที่ชื่อพงส์ สารสิน ก็เผอิญเป็นหุ้นส่วนใหญ่คนหนึ่งของกลุ่มสุราทิพย์ มิหนำซ้ำมีน้องชายคนหนึ่งอยู่กระทรวงการคลังและมีน้องอีกคนเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจซึ่งก็เกิดไปเป็นกรรมการและกรรมการบริหารในบริษัทสุราใหม่ที่รวมตัวครั้งใหม่นี้ด้วย และสุดท้ายก็คือพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งก็มีรัฐมนตรีบางคนได้แสดงจุดยืนว่าต้องช่วยกลุ่มสุราทิพย์อยู่แล้ว ทั้งหมดนี้ก็คงจะสงสารกลุ่มสุราทิพย์จนน้ำตาไหลพรากๆ และก็คงอนุมัติให้ช่วย
5. ในที่สุดสุราทิพย์ก็ได้รับการช่วยเหลือ ผู้บริหารสุราทิพย์ที่เพียงเอาตัวเองเข้าค้ำประกันหนี้เป็นหมื่นล้านก็มีความสุข คอยวันร่ำวันรวยในอนาคตเพราะกิจการเหล้าทั่วประเทศมันผูกขาดไว้หมดแล้ว (จนกว่าสัญญาแม่โขงจะหมดแล้วค่อยประมูลใหม่) รัฐบาลเองก็คงไม่มีน้ำยาจะควบคุมการผูกขาดไม่ให้กระทบประชาชนเพราะรัฐบาลบ้านนี้เมืองนี้ชอบทำอะไรเกรงอกเกรงคนรวย แต่กับคนจนแล้วมันจะตายก็ช่างหัวมันไป
6. แล้วแผ่นดินนี้มันก็สงบสุขทุกฝ่ายแฮปปี้คนที่มีเงินฝากอยู่ฮ่องกงก็แฮปปี้ นักการเมือง 4 คนนั้นก็มีทุนรอนไว้หาเสียงเพื่อเข้ามามีอำนาจใหม่เพื่อช่วยคนรวยที่มีปัญหา ข้าราชการอีก 2 คนก็คงจะใช้เงินไปซื้อบ้านที่เมืองนอกไว้สักหลังหรือไม่ก็พาเมียไปเดินกรีดกรายแถวๆ แฮร์ร็อดสักพัก นักธุรกิจที่ลงทุนในเรื่องเหล้าก็แฮปปี้กลายเป็นผู้มีอำนาจบารมี มีเงินเป็นพันล้านคอยหาทางประมูลกันใหม่
7. ประชาชนคนทำมาหากิน ชาวนา ชาวไร่ ก็คงต้องคอยหวาดผวากับค่าครองชีพ ภาษีอากรที่ต้องขึ้นเพราะรัฐหาเงินเข้าไม่ทัน
และนี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นขอให้เชื่อเถอะว่ามันเป็นอย่างข้อ 1-7 แน่ๆ ไม่เชื่อก็ตัดข้อความนี้แล้วแปะติดข้างฝา เล่าเรื่องให้ลูกให้หลานผังและบอกลูกบอกหลานให้คอยดูว่ามันจะจริงหรือไม่จริง? เสร็จแล้วบอกกับมันไปว่า"บ้านนี้เมืองนี้อย่าไปหวังอะไรกับมันเลย ถ้าจะเอาตัวรอดไปให้ได้ดีก็อย่าไปคำนึงถึงความถูกต้อง เพราะสังคมไทยทุกวันนี้มันไม่มีความถูกต้องแล้ว มันมีแต่ว่าใครมีเงินใครมีอำนาจคนนั้นก็เอาไปเลย" ตัวละครในวงการสุราที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในอนาคตข้างหน้าที่ถึงวันนั้นแล้วก็คงจะรู้ว่าใครบ้างที่ปล้นชาติ? 1. เฉลิมชัย วสีนนท์ มารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิตในช่วงที่สุราหงส์กำลังประสบปัญหากับวิกฤติที่สุด บทบาทของเฉลิมชัยก็คงต้องให้เหตุการณ์ข้างหน้าเป็นเครื่องวัด
2. อรัญ ธรรมโน อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลังซึ่งจะต้องเป็นคนที่รัฐมนตรีสุธี สิงห์เสน่ห์ ใช้ในเรื่องเหล้า
3. พนัส สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้มีหน้าที่คอยรับใช้ตามคำบัญชาของรัฐมนตรี คอยหาช่องหาทางตั้งกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องเหล้า เปรียบเสมือนนักไต่ลวดที่ต้อง balance ตัวเองให้ดี
4. อบ วสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนก่อนที่ขึ้นราคาเหล้าแม่โขง-กวางทอง เพื่อให้ราคาต่างกับสุราหงส์ทองอย่างมาก เป็นรัฐมนตรีกระทรวงที่เป็นเจ้าของเหล้าแม่โขงและกวางทองในยุคที่เหล้าหงส์ทองของกระทรวงการคลังต่อสู้กับแม่โขง-กวางทอง ของกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างถึงพริกถึงขิง
5. วีระ สุสังกรกาญจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่โดนอบ วสุรัตน์ ย้ายด่วนและตั้งกรรมการสอบสวนว่าประพฤติมิชอบเพราะไปช่วยเหล้าแม่โขงและกวางทองและเรื่องอื่น แต่คณะกรรมการบอกว่าไม่ผิด
6. สมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เป็นห่วงเป็นใยธนาคารนครหลวงไทยและกลุ่มสุราทิพย์เป็นกรณีพิเศษ
7. สุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ที่ต้องมาตัดสินใจเรื่องเหล้าในยุคตัวเอง แต่สุธี สิงห์เสน่ห์ ก็เป็นคนเล่นเกมเป็นทุกอย่างนั้นจะขึ้นอยู่กับลมและความกดดันทางการเมือง
8. เถลิง เหล่าจินดา คนเก่าศัตรูคู่อาฆาตของสุเมธ เตชะไพบูลย์ ที่ฝ่ายการประมูลโรงงานสุราบางยี่ขันให้กับสุเมธก็เลยต้องเทเค้ามาทุ่มประมูลโรงงานสุรา 12 เขตอย่างสุดตัว เพื่อให้ตัวเองต้องได้ เมื่อได้แล้วเกิดปัญหา ทำให้ทุกอย่างต้องวุ่นวายไปจนทุกวันนี้
9. วรรณ ชันซื่อ ผู้อำนวยการบริษัทสุรามหาราษฎรยุคใหม่ที่รวมทั้งเหล้าแม่โขงหงส์ทองเข้าด้วยกัน เป็นคนที่มีสายสัมพันธ์สูงมาก และเป็นคนที่กลุ่มสุราทิพย์หวังว่าจะต่อสู้ให้สำเร็จ ขณะนี้วรรณ ชันซื่อ ได้รถประจำตำแหน่งเป็นเบนซ์ 500 คันใหม่เอี่ยม 10. อุเทน เตชะไพบูลย์ ผู้รักษากฎตระกูลเตชะไพบูลย์ ผู้ที่เป็นสุภาพบุรุษและชอบมองคนอื่นในแง่ดี และชอบอะลุ้มอล่วยเมตตากับคนข้างนอก แต่กับพี่น้องลูกหลานตัวเองจะทำนอกรีตนอกรอยไม่ได้
11. สุเมธ เตชะไพบุลย์ เป็นน้องคนที่สามของตระกูลเตชะไพบูลย์ ทำเหล้ามาตลอดชีวิต เป็นคนยอมหักไม่ยอมงอ ปัจจุบันถอนตัวออกจากแม่โขงอย่างสิ้นเชิง ขายหุ้นจนหมดเหลือแต่ความเจ็บช้ำและความขมขื่นที่ได้รับมาเป็นแผลเป็นไว้เตือนใจ
12. เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ คนซัวเถาที่เมื่อเด็กๆ ขี่จักรยานขายของโชวห่วยส่งตามโรงงานต่างๆ มีนิสัยขยันขันแข็ง หัวดี และเข้าผู้หลักผู้ใหญ่เก่งมาก เถลิง เหล่าจินดา เห็นหน่วยก้านก็เลยเอาตัวมาทำงานด้วยเริ่มจากการเป็นลูกน้องจนเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนในวันนี้ ในขณะที่เถลิง เหล่าจินดา เริ่มเงียบหายไป เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ กลับกลายเป็นตัวหลักในการวิ่งเต้นและประสานงานกับกลุ่มต่างๆ ของสุราทิพย์กับหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง ประวัติศาสตร์วงการสุรานั้นจะต้องจารึกลงไปว่า เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ คนนี้คือตัวละครเอกตัวหนึ่งในตำนานเหล้าที่คนรุ่นหลังต้องจำเอาไว้ให้ดีๆ
13. ตามใจ ขำภโต ประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลังฯ ที่บอกว่าคณะกรรมาธิการไม่มีหน้าที่เสนอแนะวิธีแก้ปัญหามีแต่การชี้ปัญหาของสุรา อดีตเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ปัจจุบันเป็น ส.ส.พรรคสหประชาธิปไตย
14. พจน์ สารสิน คนที่มีบารมีมากที่สุดในประเทศไทย เป็นทั้งอดีตนายกฯ-รองนายกฯ-รัฐมนตรีและทูต มีบุตรที่เป็นกรรมการตั้งแต่ธนาคารไทยพาณิชย์ กสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ ตัวเองยังเป็นประธานกรรมการธนาคารไทยทนุ บุตรคนโตชื่อพงส์ เป็นรองนายกฯ พล.ต.ท.เภา สารสิน คืออนาคตอธิบดีกรมตำรวจ บัณฑิต ปุณยะปานะ (เป็นบุตรแท้ๆ แต่ไปใช้นามสกุลน้อง) อธิบดีกรมสรรพากรปัจจุบัน และอนาคตคือปลัดกระทรวงการคลัง อาสา สารสิน ทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา อดีตเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ มีคนเคยเปรียบเทียบว่า พจน์ สารสิน นั้นไม่ได้ต่างไปกว่า Joseph Kenedy เลย
15. พงส์ สารสิน หนึ่งในผู้สร้างตำนานเหล้าเป็นทายาทคนโตของตระกูลที่เปรียบเสมือนเคนเนดี้ของเมืองไทย เป็นนายทุนให้พรรคกิจสังคม เป็นรองนายกฯ ในปัจจุบันมีธุรกิจจนตัวเองจำไม่ได้ และเป็นหุ้นใหญ่คนหนึ่งในกลุ่มสุราทิพย์ที่ถูกลากให้เข้ามาขี่บนหลังเสือตัวนี้ อดีตเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์หนึ่งในหลายธนาคารที่ให้เหล้าหงส์ทองกู้
16 พล.ต.ท.เภา สารสิน รองอธิบดีกรมตำรวจคนแรกที่จบปริญญาทางวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ เป็นน้องพงส์ สารสิน เคยได้ตำแหน่งผู้บัญชาการสอบสวนกลางตัดหน้าพล.ต.ต.อารีย์ กะรีบุตร โดยคำสั่งสายฟ้าแลบจากรองนายกฯ ประจวบ สุนทรางกูร ปัจจุบันนอกจากมีหน้าที่พิทักษ์รักษากฎหมาย แล้วยังเป็นทั้งกรรมการและกรรมการบริหารของบริษัทสุรามหาราษฎรชุดใหม่เป็นคนที่สนิทพลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ อย่างลึกซึ้ง และก็เป็นตัวเก็งอธิบดีกรมตำรวจคนต่อไป
17. ชาตรี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ ที่หนุนเหล้าหงส์ทองมาตั้งแต่ต้นเพราะกมล เอี่ยมสกุลรัตน์ เป็นพี่น้องกับเกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์ ที่เป็นคนสนิทของชาตรี
18. ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล ตัวแทนธนาคารนครหลวงไทยหนึ่งในธนาคารที่เป็นผู้ให้กู้กับกลุ่มสุราทิพย์
19. เริงชัย มะระกานนท์ ตัวเทนธนาคารกรุงไทย ที่เข้ามาทีหลังเพราะถูกกระทรวงการคลังสั่ง ตอนนี้มีหน้าที่รับจำนำเหล้า
20. ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ คนโตของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่กระอักกระอ่วนใจกับหนี้ของสุราทิพย์และขั้นตอนของข้อมูลประกอบการปล่อยสินเชื่อที่สวนทางกับคำว่ามืออาชีพ
21. บรรยงค์ ล่ำซำ แห่งธนาคารกสิกรไทย หนึ่งในหลายธนาคารที่ปล่อยกู้ไปให้กลุ่มสุราทิพย์แล้วมากระอักกระอ่วนใจทีหลัง
22. ร.ท.ชวลิต เตชะไพบูลย์ ลูกชายสุเมธ เตชะไพบูลย์ อดีตหุ้นส่วนสุรามหาราษฎร ปัจจุบันเป็น ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ยื่นญัตติขอทราบจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีปัญหาสุราหลังจากที่อ่านข่าวว่า ศุภชัย พานิชภักดิ์ ส.ส.ร่วมพรรคและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่าสมควรจะช่วยสุราหงส์ทอง ชวลิตยื่นญัตติโดยพูดว่าเพื่อความถูกต้อง และเพื่อรักษาอุดมการณ์และภาพพจน์ของพรรคว่ามิได้ถูกอิทธิพลของตระกูลพ่อค้าสุราครอบงำและเพื่อความบริสุทธิ์ของตัวเองและน้องชายซึ่งเป็นส.ส.ร่วมพรรค ว่าการที่ได้เข้ามารับใช้ประเทศชาติครั้งนี้มิได้มีเจตนาเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของวงศ์ตระกูล
23. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติผู้ที่พูดว่าอึดอัดใจมากในเรื่องเหล้าเพราะมีการเมืองมากและปฏิเสธว่าตัวเองไม่เคยพูดว่าให้ช่วยสุราทิพย์ หนังสือพิมพืลงไปเองโดยตีความหมายผิด
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น