วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559
หงส์ดิ้นสุดฤทธิ์ ยุทธการดึงทหารและการเมืองกลับเข้ามา
เมื่อภาพที่ต้องต่อเป็นชิ้นๆ เริ่มชัดขึ้นมาทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งชัดขึ้นมาที่สุดว่าอนาคตของกลุ่มเถลิง จะมีแต่อุปสรรคและขวากหนามในการผลิตเหล้า เพราะต้องเอาไปผูกเงื่อนที่คอตัวเองเอาไว้ก็ต้องหาคนมาช่วยแก้ปัญหาที่ตนเป็นคนก่อ
"ทั้งหมดนี้คุณต้องโทษกลุ่มเถลิงเอง เขาไปตั้งราคาประมูลไว้สูงแล้วหวังว่าจะใช้การเมืองบีบแม่โขงในกรณีที่เขาทำไม่ได้ นี่เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดระหว่างการทำงานของทั้งสองฝ่าย ซึ่งฝ่ายแม่โขงเขาประมูลในตัวเลขที่เขาทำได้จริงๆ และให้ผลประโยชน์รัฐได้เต็มที่เรียกว่าได้ด้วยกันทั้งคู่ แต่ทางกลุ่มเถลิงเล่นใช้ตัวเลขที่ตัวเองต้องการได้โรงเหล้ามาเพื่อสับคู่แข่งขัน ไม่ได้มองในแง่การค้าและเมื่อตัวเองเห็นว่าจะทำไม่ได้ก็เริ่มใช้การเมืองและต่อมาก็พยายามดึงทหารให้กลับเข้ามามัวเมาในวงการนี้อีก หลังจากที่ทหารได้ล้างมือไปแล้วและสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่ประชาชน" ผู้ติดตามข่าวเหล้าวิจารณ์ให้ฟัง
การเคลื่อนไหวของกลุ่มเถลิงหลังการประมูลเป็นการเคลื่อนไหวสองแนวทาง
แนวทางแรก คือการพยายามหาผู้หลักผู้ใหญ่มาไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองกันโดยเจาะเข้าทางอุเทน เตชะไพบูลย์ ซึ่งได้ลงมาเป็นประธานบริษัทสุรามหาราษฎรแทนสุเมธ เตชะไพบูลย์ ซึ่งเถลิงรู้ดีว่าสุเมธไม่คุยด้วยแน่ๆ
แต่เถลิงลืมนึกไปว่าสุรามหาราษฎรนั้นไม่ใช่ของเตชะไพบูลย์ฝ่ายเดียว กรรมการบริหารส่วนหนึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นจอมยุทธในวงการทั้งนั้น เช่น โกเมน ตันติวิวัฒน์พันธ์ เจ้าพ่อเหล้าภาคอีสาน วิศาล ภัทรประสิทธิ์ ภาคกลาง หรือคนอย่าง วานิช ไชยวรรณ ที่มีทุกอย่างพร้อม ฯลฯ และบรรดากรรมการบริหารตอนนี้ก็เลือดเข้าตาจะสู้ยิบตาแล้ว
"ธรรมดาถ้าเริ่มค้าขายกันต่างคนต่างอยู่ไม่มีลูกเล่นกันก็พอจะพูดกันได้ แต่นี่ฝ่ายเราโดนรุกมาตลอด เราต้องนั่งแก้เกมตลอดเวลา ที่เราอยู่ได้เพราะเราตั้งใจทำธุรกิจให้เป็นธุรกิจ และเราต้องการคุ้มครองสมบัติของชาติไว้ เราไม่ต้องการให้ในอนาคตมีคนมาประณามว่าแม่โขงพังไปในยุคที่เราทำ" ฝ่ายสุรามหาราษฎรกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
การประนีประนอมของกลุ่มเถลิงซึ่งผู้ริเริ่มที่แสดงตัวออกมาคือ อบ วสุรัตน์ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ซึ่งให้ตั้งบริษัทกลางขึ้นมารับเหล้าทั้งสองฝ่ายไปขายโดยแต่ละฝ่ายถือหุ้นอยู่ 45% ส่วนอีก 10 % นั้นทางฝ่ายเถลิงเสนอให้เอาองค์การทหารผ่านศึกเข้ามาโดยคิดว่าการดึงให้ทหารเข้ามาร่วมด้วยจะเป็นอำนาจต่อรองอันหนึ่ง
แต่ข้อเสนอของบริษัทกลางนี้กลับเป็นหลุมพรางซึ่งทางแม่โขงเห็นเกมทันที
เมื่อข้อเสนอของการตั้งบริษัทกลางเป็นไปไม่ได้เพราะแม่โขงไม่เล่นด้วย และเมื่อแม่โขงเสนอกลับหงส์ทองก็ไม่เล่นด้วย เกมการรุกของหงส์ทองก็ออกมาเป็น :-
แนวทางที่สอง คือการออกมาขายชนกันแต่การจะขายได้นั้นราคาของแม่โขงและกวางทอง จะต้องสูงกว่านี้อย่างน้อยแม่โขงจะต้องกระโดดไปเป็นราคาเก่าที่ 55 บาท และกวางทองเป็น 44 บาท เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้วจะขายสู้ไม่ได้
ซึ่งก็จะเป็นการบังเอิญหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ หลังจากที่กลุ่มเถลิงประมูล 2 โรงเหล้าได้ในเดือนเมษายน 2526 อีกไม่ถึง 10 เดือนก็มีข้อเสนอให้ประนีประนอมโดยตั้งบริษัทกลาง และเมื่อข้อเสนอบริษัทกลางพับไป อีกไม่นานก็มีคำสั่งจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในวันที่ 9 มีนาคม 2527 สั่งให้แม่โขงและกวางทองขึ้นราคาภายใน 7 วัน ซึ่งทางสุรามหาราษฎรก็ตอบไปว่าทำไม่ได้
"10 เดือนหลังจากประมูลได้ทางกลุ่มเถลิงก็เห็นแล้วว่ามีทางออกเพียง 2 ทาง และอีกประการหนึ่งทางกลุ่มเขาเองก็ประสบปัญหา cash flow พอสมควรในขณะนี้ ทั้งหมดนี้เป็นลางบอกเหตุว่า ถ้าดิ้นไม่ออกตามที่ต้องการแล้ว 1 มกราคม 2528 ก็ดูเหมือนจะเป็นวัน D-DAY" แหล่งข่าวในวงการเหล้าอธิบายให้ฟัง
อบ วสุรัตน์ ก็เลยสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการ 3 คนขึ้นมาตีความสัญญา ซึ่งแหล่งข่าวทางสุรามหาราษฎรก็ยืนยันว่า จะต้องสู้ถึงที่สุด ถ้าจะต้องพึ่งบารมีศาลยุติธรรมทางสุรามหาราษฎรก็จะทำ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น