วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2561
รู้หรือไม่? “ซีพี” เคยร่วมทุนกับ ปตท.-จีน ทำธุรกิจปั๊มน้ำมันมาก่อน
ย้อนตำนาน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดึง ปตท. และกลุ่มทุนจีน “ซิโนเปค” ก่อตั้งปั๊ม “ปิโตรเอเชีย” หวังดึงแบรนด์ “เซเว่นอีเลฟเว่น” มาอยู่ในปั๊มน้ำมัน แม้สุดท้ายจะไปต่อไม่ได้ แต่สบช่องที่ ปตท. เปลี่ยนร้านเอเอ็มพีเอ็ม สานสัมพันธ์ยืนยาวถึงทุกวันนี้
กรณีที่บริษัท ปตท. ธุรกิจและค้าปลีก เจ้าของร้านสะดวกซื้อ “จิฟฟี่” แสดงความมั่นใจว่าจะสามารถเข้าไปบริหารร้านสะดวกซื้อในปั๊ม ปตท. แทนร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่จะหมดสัญญาในปี 2566 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า
เรื่องนี้ทำเอาชาวเน็ตวิจารณ์หลายเสียง มีทั้งหนุน มีทั้งค้าน กระทั่งบริษัทแม่อย่าง บมจ.ปตท. และเจ้าของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น อย่าง บมจ.ซีพี ออลล์ ต้องออกมาเคลียร์ว่า ทั้งคู่ยังคงร่วมธุรกิจเหมือนเดิม
หนึ่งในความเห็นของชาวเน็ตระบุว่า ซีพี หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ น่าจะทำปั๊มน้ำมันเป็นของตัวเอง ทั้งที่จริงแล้ว ซีพีก็เคยทำธุรกิจปั๊มน้ำมันมาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน 2536 ซีพี ร่วมลงทุนกับ “ซิโนเปค” บริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของจีน จัดตั้งบริษัทปิโตรเลียมชื่อ “ปิโตรเอเชีย” โดยเชิญการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เข้าร่วมทุนด้วย
โดยสัดส่วนการถือหุ้น ซีพีถือหุ้น 35% ปตท.ถือหุ้น 35% และซิโนเปค 30%
ปิโตรเอเชีย ภายใต้สัญลักษณ์ “ช้างแดง” เริ่มเปิดให้บริการในปี 2537 มีสถานีบริการน้ำมัน 37 แห่ง และจุดจ่ายน้ำมันขนาดเล็กอีก 450 แห่งทั่วประเทศ
หนึ่งในจุดขายสำคัญของปั้มช้างแดงก็คือ มีร้านเซเว่นอีเลฟเว่นให้บริการ ในยุคที่ ปตท.ยังคงบริหารร้านสะดวกซื้อแบรนด์ของตัวเอง เช่น จอย, พีพีทีที, สไมล์, ปตท.มาร์ท
แต่ธุรกิจปั๊มน้ำมันช้างแดงไม่ได้ราบรื่นเท่าที่ควร ขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 5-7 ล้านบาท หรือตลอดที่เปิดกิจการ ขาดทุนราว 200 ล้านบาท แม้ปรับแผนการตลาดในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ประสบความสำเร็จ
เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เกิดขึ้น ผู้ค้าน้ำมันทุกรายระส่ำ ปิดกิจการจำนวนมาก เฉพาะ ปตท.ขาดสภาพคล่องราว 2 พันล้านบาท
ทั้ง ซีพี และซิโนเปค เสนอถอนทุน และให้ ปตท.เข้าซื้อหุ้นแทนทั้งหมด ขณะเดียวกัน ปตท.ถูกตัดลดงบลงทุนโครงการ ก็เลยจะขายหุ้นปิโตรเอเชียให้กับต่างชาติ เพราะไม่ต้องการแบกรับภาระ
กลายเป็นเผือกร้อนที่ต่างฝ่ายต่างก็โยนใส่กัน
แม้ว่าช่วงหนึ่ง ปตท.จะเปิดเผยว่ามีบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง “อาร์โก้” ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ร้านเอเอ็มพีเอ็มในขณะนั้น แสดงความสนใจที่จะเข้ามาซื้อหุ้น แต่สุดท้ายก็ไม่สนใจที่จะซ์้อหุ้นแล้ว
ปี 2541 ซีพีเสนอขายปั๊มน้ำมัน 37 แห่งทั่วประเทศให้กับ ปตท.เพียงรายเดียว เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องเนื่องจากขาดทุนสะสมสูงถึง 300 ล้านบาท อีกทั้งยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
แต่ ปตท.ก็ตัดสินใจไม่รับซื้อกิจการ เพราะต้องการประคับประคองปั๊ม ปตท.ที่ในขณะนั้นเหลือเพียงแค่ 1,500 แห่งให้อยู่รอด อีกทั้งปั๊ม ปตท.กับปั๊มพีเอหลายแห่งอยู่ติดกัน จะเกิดการแข่งขันกันเอง
ผลที่สุด ที่ประชุมบอร์ด ปตท.เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2541 อนุมัติให้ ปตท.ซื้อปั้มน้ำมันปิโตรเอเชีย 17 แห่ง ด้วยงบประมาณ 200 ล้านบาท ที่เหลือมีทำเลไม่เหมาะสม
21 ส.ค. 2541 การประชุม 3 ฝ่ายระหว่าง ปตท. ซีพี และ ซิโนเปค เห็นชอบให้หยุดดำเนินธุรกิจขายปลีกน้ำมัน แต่ยังคงดำเนินธุรกิจจำหน่ายส่งน้ำมันเพื่ออุตสาหกรรม และดำเนินธุรกิจร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในปั๊ม
ส่วนปั้มปิโตรเอเชียที่ดูแลโดยตัวแทนจำหน่าย 11 แห่ง ถ้าต้องการดำเนินกิจการต่อก็ให้เปลี่ยนเป็นปั๊ม ปตท. แต่ถ้าไม่ต้องการก็ให้ปิดกิจการ เพื่อหยุดความเสียหายต่างๆ
ปัจจุบัน ปัํ๊มปิโตรเอเชียได้เลือนหายไปจากความทรงจำ เพราะทุกปั๊มเปลี่ยนเป็น ปตท.หมดจนไม่เหลือเค้าความเป็นปั๊มช้างแดงที่มีอยู่เดิม ขณะที่บางส่วนก็ปิดกิจการไปแล้ว
ความล้มเหลวของปั๊มช้างแดงในอดีต สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่ยึดติดแบรนด์เดิม กระทั่งมาถึงวิกฤตเศรษฐกิจ ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ยิ่งซ้ำเติมให้ปิโตรเอเชียอยู่ลำบาก
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปมีความเป็นไปได้ว่า อีกหนึ่งสาเหตุที่ซีพีลงมาทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน เพราะเซเว่นอีเลฟเว่น ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่เป็นร้านสะดวกซื้อตามปั๊มน้ำมัน (Gasoline Store) หรือ G Store
ในเวลานั้น มีร้านไทเกอร์มาร์ทของปั๊มเอสโซ่ ร้านสตาร์มาร์ทของปั้มคาลเท็กซ์ และร้านซีเล็คของปั๊มเชลล์ ซึ่งแต่ละค่ายต่างหาจุดดึงดูดให้ลูกค้าใช้บริการในปั๊มของตัวเอง
ซีพีจึงก่อตั้งปั๊มน้ำมันของตัวเองภายใต้ชื่อ ปิโตรเอเชีย เพื่อให้เซเว่นอีเลฟเว่นมีสาขา G Store ที่จะมารองรับไลฟ์สไตล์ของคนเดินทาง ภายหลังปั้มปิโตรเอเชียเปลี่ยนเป็นปั๊ม ปตท. ก็ยังคงให้บริการอยู่
ขณะที่ร้านเอเอ็มพีเอ็ม ที่ ปตท.บริหารในปี 2540 โดยมีทิพยประกันภัยร่วมลงขัน ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในความเป็นจริงได้เพียงแค่โลโก้เอเอ็มพีเอ็มมาติดไว้หน้าร้าน แต่ไม่ได้รับเซอร์วิสต่างๆ มาเลย
เมื่อ ปตท.ตัดสินใจเซ็นสัญญาให้เซเว่นอีเลฟเว่นเปิดร้านสะดวกซื้อแทนร้านเอเอ็มพีเอ็มเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2545 กลายเป็นการต่อความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างสองธุรกิจยักษ์ใหญ่ มาจนถึงทุกวันนี้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น