วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

"เจริญ : ผู้ยิ่งใหญ่วงการที่ดินตัวจริง"

เขาไม่เคยมีมรดกที่ดินมาก่อน แต่เมื่อเขาเข้าสู่วงการธุรกิจผลิตและค้าสุราอย่างเต็มตัว สินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน กิจการอุตสาหกรรม ธนาคาร บริษัทประกันภัย ก็อยู่ภายใต้การครอบครองของเขาในเวลาอันรวดเร็ว เพียง 6 ปีเท่านั้น เขาสร้างสินทรัพย์เหล่านี้มาด้วยวิธีการใด เป็นปุจฉาที่หลายคนอยากรู้ "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนมกราคม 2531ได้เคยรายงานและวิเคราะห์ถึงชีวิตของเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ หรือ "สิริวัฒนภักดี" ในปัจจุบัน มาแล้วอย่างละเอียดในรายงานชิ้นนั้น "ผู้จัดการ" ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า "บางทีมีผู้คนในวงการธุรกิจยังตอบคำถามได้ไม่ชัดว่า เงินที่เจริญซื้อที่ดินและทรัพย์สินอื่นๆ อย่างมากมายนั้นมาจากไหน" "ผู้จัดการ" ฉบับนี้จะทำหน้าที่สานต่อในประเด็นที่ทิ้งท้ายไว้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงกระบวนการระดมเงินของเจริญมาซื้อทรัพย์สินต่างๆ เพื่อเปิดแง่มุมของเจริญในอีกมิติหนึ่ง ในวงการบริหารธุรกิจของเจริญที่ทุกวันนี้ถ้าจะกล่าวว่าเขาไม่เพียงแต่จะเป็นนักซื้อที่แท้จริงเท่านั้น หากเป็นผู้ครอบครองที่ดินมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทยก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยมีที่ดินมรดกตกทอดมาจากไหนเลย แม้แต่ตารางวาเดียว ย้อนหลังไป 6 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งเกิดศึกประมูลโรงเหล้า ระหว่างกลุ่มสุรามหาราษฎรผู้ผลิตเหล้าแม่โขง และกลุ่มสุราทิพย์ผู้ผลิตเหล้าหงส์ทอง ข่าวนี้สร้างความฮือฮาให้กับผู้คนทั่วประเทศ เพราะนักนิยมดื่มสุรานั้นมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในประเทศไทย ในที่สุดกลุ่มสุราทิพย์ก็ชนะการประมูลโรงเหล้าในครั้งนั้น โรงเหล้าทั้งหมดทั่วประเทศ 12 โรงอยู่ภายใต้อำนาจการผลิตของเหล้าหงส์ทอง ด้วยสาเหตุนี้ประการหนึ่ง ประกอบกับเหล้าหงส์ทองมีรสชาติที่ไม่แตกต่างจากเหล้าแม่โขงมากนัก ศึกระหว่างเหล้าทั้งสองยี่ห้อจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แล้วในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ต้องจับมือกัน เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะประหัตประหารกันเอง ในธุรกิจค้าเหล้าซึ่งมีอยู่น้อยรายเช่นนี้ กลุ่มสุราทิพย์หรือกลุ่มที.ซี.ซี. ผู้ชนะการประมูลโรงเหล้าเมื่อหลายปีก่อน วันนี้ได้ขึ้นมายืนผงาดอยู่ในวงการธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจค้าเหล้าเยี่ยงอย่างแต่ก่อน ผู้ถือธงนำที่มีอยู่เพียง 3 คน คือ เถลิง เหล่าจินดา, จุล กาญจนลักษณ์ และเจริญ สิริวัฒนภักดี ขณะนี้เหลือเจริญ (คนสุดท้าย) เพียงคนเดียวเท่านั้น นั่นจึงเท่ากับว่า เจริญเท่านั้นที่ขึ้นมายืนเด่นอยู่บนเส้นทางสายนี้ เถลิง เป็นผู้ที่เคยนั่งอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของกลุ่มสุรามหาคุณ และเป็นลูกพี่ให้เจริญตั้งแต่เริ่มทำงานในวงการสุราจวบจนทุกวันนี้ เป็นผู้ที่มีพระคุณต่อเจริญอย่างที่สุดคนหนึ่ง แต่ขณะนี้ได้ล้างมืออำลาจากวงการไปแล้ว ส่วนจุล กาญจนลักษณ์ ผู้ปรุงสุรามือหนึ่งของกลุ่มสุรามหาราษฎร ต้นตำรับเหล้าแม่โขงที่คุ้นลิ้นคนไทย จบชีวิตลงเมื่อหลายปีก่อน จึงเหลือแต่เจริญที่กุมบังเหียนที.ซี.ซี.มาเพียงลำพัง ธุรกิจค้าเหล้าเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนมากมายมหาศาล รายได้จากการขายเหล้าของกลุ่มที.ซี.ซี.ตกวันหนึ่งถึง 65 ล้านบาท เนื่องจากตลาดค้าเหล้าสามารถขายได้ทั่วประเทศ ดังนั้นการกระโดดเข้ามาเป็นเศรษฐีของเจริญ ตั้งแต่เศรษฐีรายย่อยจนเป็นเศรษฐีรายใหญ่ไปจนถึงเป็นมหาเศรษฐี จึงเป็นไปตามเหตุผลของธุรกิจโดยแท้ นอกจากสาเหตุของธุรกิจค้าเหล้า ความร่ำรวยของเขายังสืบเนื่องมาจากคำว่า "โชค" ทุกๆ เงื่อนไขของการเจรจาซื้อ-ขาย ล้วนแล้วแต่เป็นโชคชนิดส้มหล่นเกือบทั้งสิ้น มีคำกล่าวกันว่า คนรวยนั้นมักจะใช้วิธีเงินต่อเงิน แต่ถ้าจะพูดถึงเจริญแล้วคงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะวิธีการของเขาคือใช้เงินต่อเครดิต แล้วจึงใช้เครดิตนั้นต่อเครดิตอีกทอดหนึ่ง จากประสบการณ์เช่นนี้ เขาจึงเป็นนักซื้อผู้ร่ำรวยทรัพย์สินที่ดินเหยียบอัครมหาเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองไทย เจริญเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง มีภาพปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ความจริงฐานะของเขาเป็นที่รู้จักกันภายในวงการธุรกิจหลายปีแล้ว ทุกวันนี้หากมีชื่อของเจริญอยู่ข้างหลังโครงการใดก็ตาม โครงการต่างๆ เหล่านั้นจะผ่านขั้นตอนการพิจารณาของธนาคารไปได้อย่างง่ายดายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก การสะสมเครดิตจนทำให้ธนาคารทุกธนาคารในประเทศไทยไว้เนื้อเชื่อใจเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันง่ายๆ เขาต้องใช้เวลานับ 10 ปีในการสร้างฐานะบารมีกว่าจะมีทุกอย่าง อย่างวันนี้ ซึ่งเขาบรรจุการสะสมเครดิตเข้าไว้ในชีวิต เหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องใส่เสื้อผ้าแต่งตัวเพื่อให้ดูภูมิฐานอยู่ทุกวัน เจริญเริ่มซื้อที่ดินที่ติดกับโรงเหล้า 12 โรง ตั้งแต่ได้สัมปทานใหม่ๆ เหตุผลเพราะว่า ส่าเหล้าซึ่งเป็นของเสียจากโรงงานนั้นไม่มีที่จะระบายออกไปได้อย่างถูกส่วน หากปล่อยทิ้งไปจะทำให้รบกวนชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นเขาจึงแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณนั้นเสียเอง พื้นที่เป็นพันๆ ไร่ต่อโรงเหล้าหนึ่งโรง ความจำเป็นที่ไม่ได้ตั้งใจทำให้เจริญต้องเป็นเจ้าของที่ดินหลายหมื่นไร่ไปโดยปริยาย และสิ่งนี้เองที่เป็นตัวสร้างฐานให้ชื่อของเขาขายได้ ในฐานะที่เป็นผู้มีทรัพย์สินอยู่มากมาย โดยเฉพาะโฉนดที่ดินที่ทุกธนาคารยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันที่ดีที่สุด กระบวนการใช้เงินสร้างชื่อเสียงหรือเครดิตให้กับตัวเองจากลักษณะข้างต้นนี้ เจริญไม่ได้เพิ่งเริ่มทำเมื่อประมูลโรงเหล้าได้ หากแต่ก่อนหน้านั้นเขาเองก็มีเครดิตอยู่ไม่น้อย ถาวร อนันต์คูศรี เพื่อนคนหนึ่งของเขาเล่าให้ฟังว่า"เจริญอยู่ต่างประเทศแท้ๆ แต่เขาโทรศัพท์มาบอกผมว่า...ให้ผมเซ็นเปิด L/C คนเดียวก็ได้ เขาว่าเขาโทรศัพท์มาบอกแบงก์แล้ว" วงเงินกู้ในคราวนั้นถึง 30 ล้านบาท ซึ่งผู้มีอำนาจลงนามคือถาวรและเจริญต้องลงนามร่วมกัน เจริญเพียงแต่โทรศัพท์สายตรงมาบอกนายธนาคารเรื่องราวก็ง่ายไปโดยปริยาย เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว เขาเคยร่วมกันกับถาวรรับซื้อโลหะเงินจากต่างประเทศเข้ามาขายให้กับกรมธนารักษ์ ในนามบริษัทแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล อัลอัลรอยด์ ปัจจุบันธุรกิจนี้เลิกไปแล้ว เพราะหนึ่ง-มันไม่คุ้มกับการเสี่ยงความแปรปรวนของราคาโลหะเงินในตลาดโลก และสอง-เจริญสนใจทำธุรกิจที่ความเสี่ยงน้อย แต่เห็นเงินสดรวดเร็วมากกว่า อาณาจักรของเจริญไม่ได้เพียงแค่ธุรกิจค้าเหล้า 2-3 ปีที่ผ่านมาเจริญเริ่มเดินออกจากฉากกำบังเผชิญหน้ากับวงการธุรกิจอย่างเปิดเผย เขาเริ่มซื้อกิจการสถาบันการเงิน ซื้อกิจการอุตสาหกรรม ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซื้อหุ้น และซื้อที่ดิน ไม่มีใครรู้ว่าเจริญคิดอย่างไร แต่ทุกอย่างที่เขาเข้าไปซื้อล้วนแล้วแต่เป็นของสำเร็จรูปทั้งสิ้น เช่น โรงงานน้ำตาลที่ชลบุรี, โรงงานกระดาษที่บางปะอิน, หมู่บ้านเสนานิเวศน์, ตึกปตท.เก่า, ตึกสำนักงานใหญ่ธนาคารสหธนาคารที่เยาวราช, ตึกพันธุ์ทิพย์ พลาซา, อินเตอรืไลฟ์ประกันชีวิต, หรือแม้แต่หุ้น 40% จากอาคเนย์ประกันภัย จะมีก็แต่ที่ดินเท่านั้นที่อยู่ในลักษณะก้ำกึ่ง จะว่าเป็นของสำเร็จรูปหรือไม่ใช่ก็ได้ เพราะยังสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้อีก หรือจะปล่อยเป็นที่ดินว่างเปล่าให้มันเพิ่มมูลค่าด้วยตัวมันเองก็ได้อีกเช่นกัน การขยายอาณาจักรธุรกิจของเจริญ เหตุใดจึงใช้วิธีการซื้อกิจการเหมือนกับวิธีการขยายอาณาจักรธุรกิจของนักธุรกิจในสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่เจริญเรียนมาแค่ป.4 ไม่ใช่ MBA มาจากที่ไหน และที่สำคัญคือธุรกิจของเขาไม่มีลักษณะสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในตลาดโลกเลย ซึ่งไม่น่าที่เขาจะมีความคิดอ่านทันต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลกได้ แต่คนอย่างเจริญ เขาทำได้เสมอ! หากจะประเมินกันตามเหตุผล จะพบว่า การจะได้มาซึ่งโรงงานน้ำตาลสักโรง ถ้าไม่ใช่ได้มาจากการซื้ออย่างเช่นในกรณีของเจริญก็ต้องสร้างขึ้นเอง และเมื่อคิดต่อถึงขั้นตอนในการสร้างโรงงาน เราก็จะพบต่อไปอีกถึงกระบวนการต่างๆ ที่ต้องผ่านมามากมายนั้น ตั้งแต่ขั้นตอนในการลงทุนซื้อที่ดิน โดยต้องหาสถานที่ที่เหมาะสมทั้งการขนย้ายวัตถุดิบและการจัดจำหน่าย ต้องลงทุนก่อสร้างเองซึ่งอาจจะต้องเสี่ยงกับราคาวัสดุอุปกรณ์ ส่วนขั้นตอนอื่นๆ นั้นก็มีลักษณะไม่แพ้กัน ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านความยุ่งยากซับซ้อนและกินเวลาเป็นปีๆ ทั้งสิ้น แต่สำหรับเจริญเขาใช้เวลาเพียงไม่เกิน 2 เดือนก็สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ เป็นเจ้าของตึกราคาหลายร้อยล้านได้ โดยไม่ต้องเจอภาวะความเสี่ยงเยี่ยงเจ้าของโครงการต่างๆ ในปัจจุบัน ดังนั้น...หากจะบอกว่าเขาฉลาด ก็อาจจะไม่ผิด แต่ถ้าให้ดีต้องเติมลงไปอีกนิดว่า เขาฉลาดในการเลือกช่องทางลงทุน เพราะถ้าหากทรัพย์สินที่ซื้อมาแต่ละตัวนั้นไม่มีอนาคต เขาเองก็คงไม่ตัดสินใจลงไปเสี่ยงในทรัพย์สินตัวนั้นด้วยเหมือนกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการลงทุนที่ใช้เหตุผลทางธุรกิจที่เข้าใจกันได้ หลายกรณีที่เขาตัดสินใจเข้าไปลงทุนในกิจการอื่นๆ โดยวิธีการเข้าซื้อกิจการ เป็นไปในลักษณะเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมากกว่าเหตุผลทางธุรกิจ เช่นกรณีเขาซื้อหมู่บ้านเสนานิเวศน์โครงการ 2 ในนามบริษัทสยามพัฒนา ขนาด 400 ไร่ ก็เพื่อต้องการช่วยเหลือในทางออกให้ชวน รัตนรักษ์ แห่งธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่เป็นเจ้าของโครงการอยู่เดิม หรือในกรณีซื้อหุ้น 40% ในนามบริษัทสุราทิพย์ จำกัด จากกลุ่มนรฤทธิ์ ในอาคเนย์ประกันภัย ทั้งๆ ที่เขารู้ดีว่ามีความขัดแย้งกันอย่างสูงในกลุ่มกรรมการและผู้ถือหุ้น หรือในกรณีซื้อพันธุ์ทิพย์ พลาซา จากกลุ่มไพบูลย์สมบัติ และที่ดินของไพบูลย์สมบัติอีก 5 แปลงในเวลาเดียวกัน ก็เป็นไปโดยเหตุผลนี้ทั้งสิ้น "แต่ละกรณีที่ว่า เจริญใช้เวลา deal กับผู้ขายไม่เกิน 3 ครั้งเท่านั้นก็ตัดสินใจซื้อแล้ว" คนใกล้ชิดเจริญกล่าวกับ "ผู้จัดการ" กลไกทางธุรกิจมักจะให้ประโยชน์กับผู้มีอำนาจต่อรองเสมอ ในกรณีการซื้อกิจการของเจริญก็เช่นกัน เขาได้ "เงื่อนไขพิเศษ" เสมอจากผู้ขาย หรืออุปมาอุปไมยเหมือนส้มหล่นเข้าตะกร้าโดยไม่รู้ตัว เขาซื้อเสนานิเวศน์โครงการ 2 ด้วยเงื่อนไขผ่อนชำระเป็นงวดๆ ยาว 15 ปี ซื้อพันธุ์ทิพย์ พลาซา ด้วยการเข้ารับสภาพหนี้โดยวิธีไถ่ถอนให้กลุ่มไพบูลย์สมบัติกับธนาคารไทยทนุและภัทรธนกิจร่วม 500 ล้านบาท และค่อยๆ ผ่อนชำระเป็นงวดๆ ยาว 10 ปี พร้อมได้ที่ดินอีก 5 แปลงในย่านทำเลทองของไพบูลย์สมบัติมูลค่า 500 ล้านบาทมาด้วย"เพียงแค่แปลงตลาดเก่าเยาวราชและอีก 55 ไร่ตรงข้ามและด้านข้างโกดังอี๊สต์เอเชียติ๊ก พระยาไกร ราคาที่ดินปัจจุบันก็เกินราคาซื้อมาแล้ว" นักเลงที่ดินรายหนึ่งเล่าให้ฟัง "ส้มหล่น" ลักษณะนี้มีอยู่คู่กับชีวิตของเจริญมาโดยตลอด แม้แต่รถเบนซ์คันแรกของเขา ก็ได้รับการเสนอขายจากลูกพี่เก่าเถลิง เหล่าจินดา ในราคาเพียง 4 แสนบาท ด้วยเงื่อนไขพิเศษคือ ไม่คิดดอกเบี้ย และให้โอกาสผ่อนชำระเป็นงวด งวดละเพียงหนึ่งหมื่นบาท หลายๆ คนกล่าวว่า"เขาเป็นคนดีไม่มีศัตรู เข้าหาผู้ใหญ่เก่ง มีแต่คนรักใคร่ ดังนั้นจึงพบแต่ความโชคดี"...ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้... เมื่อเจริญก้าวเข้ามาเช่นวันนี้ จุดที่น่าสนใจคือเขาหมุนเงินอย่างไรจึงสามารถนำมาซื้อทรัพย์สินและที่ดินทั่วประเทศได้อย่างมากมาย ที่ "ผู้จัดการ" สืบค้นได้เฉพาะที่ดินมีถึง 32 แปลงทั่วประเทศ (ดูตารางประกอบ) แหล่งเงินของเจริญที่สำคัญนั้นมาจาก 2 แหล่งใหญ่ๆ แหล่งแรกได้มาจากการค้าเหล้าซึ่งเป็นหัวใจหลัก เพราะหนึ่ง-ธุรกิจค้าเหล้าเป็นเงินสด ยอดขายโดยเฉลี่ยตกวันละ 65 ล้านบาท สอง-เจริญเป็นผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารทางการเงินทุกใบแต่ผู้เดียวร่วมกับภรรยา สาม-ขณะที่เทอมการชำระค่าสัมปทานการผลิตและจำหน่ายแก่กรมสรรพสามิตเป็นงวดๆ ไม่ใช่เดือนต่อเดือนเหมือนดอกเบี้ย ดังนั้นการนำรายได้จากการขายเหล้าไปลงทุนโดยการให้กู้ยืมเพื่อสร้างดอกสร้างผล จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เหมือนกับเอาเงินไปต่อเงิน "เพียงเอาบริษัทลงทุนสักบริษัทหนึ่งไปเป็นลูกหนี้กู้ยืมจากบริษัทในกลุ่มธุรกิจสุรา แล้วเอาไปปล่อยต่อให้บริษัทในเครือเพื่อลงทุนซื้อทรัพย์สินต่างๆ ก็เล่นได้ไม่ยาก ในเมื่อเจริญและวรรณาเป็นผู้มีอำนาจลงนามเอกสารทางการเงินทุกบริษัทแต่ผู้เดียว" อดีตคนใกล้ชิดเจริญคนหนึ่งเล่าให้ บผู้จัดการ" ฟังถึงกลวิธีการระดมทุนของเจริญ ส่วนแหล่งเงินอีกแหล่งหนึ่งนั้น ได้มาจากสถาบันทางการเงินต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศซึ่งจะมาในรูปของเงินกู้ การยักย้ายถ่ายเงินมีลักษณะคล้ายกับบริษัทใหญ่ๆ ทั่วไป คือใช้วิธีตั้งบริษัทลงทุนขึ้นมาหลายๆ บริษัทเพื่อทำหน้าที่หาแหล่งเงินทุน แล้วจึงนำมาปล่อยกู้ให้แก่บริษัทในเครืออื่นๆ บริษัทลงทุนที่อยู่ในเครือของที.ซี.ซี.นั้นมีอยู่หลายบริษัทด้วยกัน บริษัทที่จัดอยู่ในลำดับแนวหน้าบริษัทหนึ่งคือ บริษัท เจริญวรรณกิจ ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท พงส์เจริญการลงทุน เมื่อ 15 พฤษภาคม 2527 และถือว่าเป็นบริษัทของเจริญเอง ถึงแม้ว่าจะมีผู้ถือหุ้นรายอื่นปะปนอยู่ แต่เกือบทั้งหมดนั้นก็เป็นหุ้นของเจริญที่เข้าไปถือในนามบริษัทลงทุนต่างๆ อีกบริษัทหนึ่งที่อยู่ในลำดับแนวหน้าไม่แพ้กันคือ บริษัท ฮอนด้า (ประเทศไทย) มีชื่อเหมือนกับบริษัทฮอนด้าคาร์ (ไทย) ผู้ผลิตรถยนต์ฮอนด้า แต่ความจริงเป็นคนละส่วนกัน บริษัท ฮอนด้า (ประเทศไทย) ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2521 เริ่มด้วยทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาทเท่านั้น ตอนแรกเจริญต้องการร่วมทุนกับฮอนด้าญี่ปุ่นในสัดส่วน 60 : 40 เพื่อผลิตรถยนต์ฮอนด้าในไทย แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจหันมาทุ่มเหล้าชื่อบริษัทก็เลยเหมือนกันโดยปริยาย จากงบดุลปีž31 แสดงให้เห็นถึงหนี้สินหมุนเวียนของบริษัทฮอนด้า (ไทย) ซึ่งมีถึง 1,007 ล้านบาท แบ่งออกเป็นตั๋วเงินจ่าย 200 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ส่วนอีกประมาณ 800 ล้านบาทเป็นเงินกู้ยืมจากธนาคารต่างประเทศ แบ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น 758 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8.8125 ต่อปีและ 10.125 ต่อปี และเงินกู้ระยะยาว 171 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี เงินในส่วนนี้จะถูกนำไปปล่อยให้บริษัทในเครือกู้อีกต่อหนึ่ง จะเห็นได้จากลูกหนี้การค้าในงบดุลมีอยู่ถึง 819 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ) ในทางปฏิบัติสำหรับในเครือที.ซี.ซี. บริษัทลงทุนที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศนั้น จะมีวัตถุประสงค์หลักคือ นำเงินนั้นมาปล่อยกู้ให้กับบริษัทในเครือ เพื่อให้บริษัทในเครือนำเงินจากส่วนนี้ไปใช้ชำระหนี้ที่ทำไว้กับสถาบันการเงินภายในประเทศอีกต่อหนึ่ง เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ได้จากต่างประเทศนั้นถูกกว่าในประเทศอยู่มาก แหล่งข่าวรายหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า"ดอกเบี้ยจากต่างประเทศได้มา 4-5% เท่านั้นเอง" ส่วนสิ่งที่นำไปค้ำประกันนั้นก็คือบริษัทลงทุนอื่นๆ ในเครือ ซึ่งก็จะใช้ลักษณะเช่นเดียวกันนี้เกือบทุกบริษัท ถึงแม้ว่าคณะกรรมการของบริษัทลงทุนหรือบริษัทในเครือต่างๆ จะเป็นคนอื่น ไม่ใช่ตัวเจริญหรือวรรณาภรรยาของเขาก็ตาม แต่คนเหล่านั้นก็เป็นลูกน้องเก่าซึ่งเขาแต่งตั้งขึ้นมาเองทุกคน เช่น อุทัย อัครพัฒนากุล, สุเมธ ทนุตันติวงศ์, พูลทรัพย์ ฮึงสกุล, กนกนาฎ รังษีเทียนไชย, กานดา อุตตมะดิลก เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาหากอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดจะต้องขึ้นอยู่กับเขา เจริญจึงเหมือนเป็นตัวแทนของที.ซี.ซี. เพราะเหตุนี้จึงทำให้ชื่อของเขาเป็นเครดิตที่สำคัญที่สุด และสามารถใช้การันตีต่อธนาคารได้ เครดิตตรงนี้เองที่เขานำมาใช้ต่อเครดิตอีกทอดหนึ่งสำหรับการซื้อทรัพย์สินหลายๆ อย่าง ระยะหลัง (ช่วงปี 2530 เป็นต้นไป) จากธุรกิจเหล้าที่โรมรันพันตูกับแม่โขงจนเลือดสาดทั้งคู่มารวมกันสงบศึก เขามีเวลาว่างและสบายใจมากพอที่จะหันมาเล่นที่ดินจนกลายเป็นนักซื้อ แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเจริญรายหนึ่งยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า"เจริญเริ่มจะมาเล่นที่จริงจังก็ระยะช่วงปี 29-30 หลังจากที่กิจการเหล้าของแกไปได้สวยแล้ว" มันเป็นความจริงที่แต่ก่อนเขาทุ่มเทให้กับเหล้าหงส์ทองอย่างสุดชีวิตจนมาเพลามือลงบ้าง เพราะส่วนหนึ่งมีคู่เขยมาร่วมรับผิดชอบ ประกอบกับสถานการณ์แข่งขันอย่างเอาเป็นตายกับแม่โขงได้ยุติลงโดยรวมตัวกันเมื่อปี 2528 ระยะแรกของการซื้อที่ดินอาจเป็นภาวะจำเป็น เพื่อเป็นที่ระบายของเสียจากโรงงานเหล้าดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่ต่อมาระยะหลังช่วงปี 30-31 เจริญกลับเป็นนักเล่นที่อย่างจริงจัง แหล่งข่าวเล่าว่าเจริญยังไม่เคยขายที่ดินแปลงไหนที่ซื้อมาเลย แม้แต่แปลง 2,000 ไรที่บ้านบึงที่ซื้อต่อมาจากเถลิง เหล่าจินดา ในราคาถูกๆ ไร่ละ 20,000 บาทเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่เถลิงล้างมือจากวงการสุรา เดี๋ยวนี้ราคาไร่ละ 200,000 บาท เป็นต้น เพราะฉะนั้นหากจะทึกทักเอาว่า เขาซื้อไว้เพื่อขายเก็งกำไรก็ยังไม่อาจจะกล่าวเช่นนั้นได้ในเวลานี้ ที่ดินนั้นหากไม่ซื้อมาเพื่อขายเอากำไร อีกทางหนึ่งก็คือ นำเอาที่ดินนั้นไปพัฒนา เป็นสิ่งปลูกสร้างอาคาร เจริญเคยคิดจะทำโครงการลักษณะนี้อยู่เหมือนกันตั้งแต่ปี 2531 เขาพยายามดึงตัวผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆ ฝ่ายเข้ามาช่วย เช่น ไพบูลย์ สำราญภูติ จากนิคมอุตสาหกรรมบางปู แต่แล้วพวกเขาเหล่านั้นก็เดินออกจากที.ซี.ซี.ไปภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ด้วยเหตุผลที่เหมือนๆ กันคือ ไม่มีงานทำเพราะโครงการต่างๆ นั้นยังไม่เกิด และไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นด้วย เพราะจนกระทั่งบัดนี้ โครงการใดๆ ที่ว่านั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นเลย เมื่อถามผู้ร่วมงานใกล้ชิดเจริญหลายๆ คนว่า เขาจะซื้อที่เอาไว้ทำไมตั้งมากมาย ก็ไม่มีใครตอบได้ชัดเจนแน่นอนสักคน เพราะเจริญจะเป็นผู้ตัดสินใจเพียงลำพังคนเดียวทั้งหมด แต่อย่างน้อยมันก็เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ช่วยแบ็กอัพชื่อของเขาอยู่ หากไม่เป็นประโยชน์ทางตรงให้เราเห็นกัน มันก็ยังมีประโยชน์แบบอ้อมๆ ในลักษณะนี้ เจริญย่อมมีวัตถุประสงค์ของเขา ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่จำเป็นต้องจ้างมือดีๆ ให้เข้ามาอยู่ในสังกัดที.ซี.ซี.เพื่อคอยกว้านซื้อที่ดินเพียงอย่างเดียว ผู้ชำนาญการที่ดินหรือมือทองของเจริญคนหนึ่งเคยเป็นผู้จัดการสาขาอยู่ธนาคารกรุงศรีฯ พัวพันกับเรื่องที่ดินตั้งแต่สมัยทำงานกับธนาคาร จึงทำให้มีความชำนาญในการประเมินราคาที่และมีความสามารถในการเจรจามากเป็นพิเศษ แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวถึงมือทองของเจริญคนนี้ว่า "เขาไปดูที่ตามที่มีคนมาเสนอขายเกือบทุกวัน ตรงไหนสวย ตรงไหนถูก เจริญแกเอาหมด จนเดี๋ยวนี้ตู้เก็บโฉนด...จะปิดไม่ลงอยู่แล้ว..." แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดอีกคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่ากันว่าเขาเป็นเจ้าของที่ดินเกือบพันแปลงแล้วเวลานี้ "ผู้จัดการ" ไม่ยืนยันในตัวเลขข้อมูลนี้ แต่คนใกล้ชิดยืนยันว่าเป็นไปได้ การซื้อทรัพย์สินของเจริญ ไม่ว่าจะเป็นกิจการอุตสาหกรรม-การเงิน ตึกอาคาร หุ้นและที่ดิน เขาจะใช้วิธีการซื้อผ่านบริษัทในเครือ ดังนั้นสินทรัพย์ต่างๆ ที่ถูกซื้อมาแล้ว จะไปปูดอยู่อยู่ในบัญชีทรัพย์สินของบริษัทในเครือต่างๆ มีอยู่บริษัทหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลเรื่องที่ดินโดยเฉพาะ คือบริษัทที.ซี.ซี.ทรัพย์สินเจริญ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 แต่เดิมนั้นมีชื่อว่าบริษัทที.ซี.ซี.ที่ดินและการเคหะ เพิ่งจะมาเปลี่ยนชื่อเมื่อปี 2531สินทรัพย์ในบริษัทเกือบ 100% อยู่ในหมวดอาคาร ที่ดิน และอุปกรณ์ คิดเป็นตัวเลขถึง 387 ล้านบาท และในจำนวนนี้แบ่งเป็นที่ดินถึง 381 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 6 ล้านบาทนั้นเป็นอาคาร ยานพาหนะและเครื่องใช้สำนักงาน ตัวเลขนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ดี การซื้อที่ดินแปลงละหลายๆ ล้านบาท วิธีที่นิยมทำกันคือ การกู้ยืมเงินระยะยาวจากสถาบันทางการเงินอาจใช้เวลาผ่อนชำระ 5-10 ปีแล้วแต่กรณีไป บริษัทที.ซี.ซี.ทรัพย์สินเจริญก็ทำลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ที่ดินหลายร้อยแปลงจำนวนเงินหลายร้อยล้านบาทนั้น สามารถกู้ยืมได้จากสถาบันการเงินได้อย่างไม่มีปัญหา สินทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันก็คือบริษัทลงทุนและบริษัทในเครือต่างๆ ที่วนอยู่นั่นเอง และก็มีหลายกรณีที่เจริญใช้ชื่อของเขาค้ำประกันในนามบุคคล ซึ่งจะเป็นเฉพาะกรณีใหญ่ๆ เท่านั้น เช่น วงเงินเบิกเกินบัญชีของบริษัทในเครือ นั่นเป็นวิธีการใช้เครดิตต่อเครดิตของเจริญมีลักษณะคล้ายๆ วังวนซึ่งก็จะวนอยู่แต่ในที.ซี.ซี. สาเหตุจากการซื้อทรัพย์สินในนามของบริษัท จึงส่งผลให้บริษัทต่างๆ เหล่านั้นมีสินทรัพย์มากขึ้นตามลักษณะทางบัญชี ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งหมายความถึง ความน่าเชื่อถือของบริษัทมีมากขึ้นเท่านั้น และในที่สุดก็มีฐานะไปค้ำประกันให้กับบริษัทในเครืออื่นๆ ได้ ซึ่งก็จะวนเวียนสลับกันค้ำประกันไปมา โดยเฉพาะเมื่อมีการซื้อทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาอีก และถ้าหากวงเงินขนาดใหญ่มาก ไม่พอที่บริษัทแต่ละบริษัทจะค้ำประกันให้กันได้ ถึงครานั้นจึงจะต้องพึ่งชื่อของเจริญให้ค้ำประกันในนามบุคคล ซึ่งธนาคารให้ความเชื่อถืออย่างที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อในบริษัทที่อยู่ข้างหลังเขา ซึ่งแน่นอนก็คือบริษัทในธุรกิจสุราและกิจการอื่นๆ ในเครือทั้งหลาย ซึ่งทรัพย์สินมากมายเหล่านั้นนั่นเอง ทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่า เจริญเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยที่ดินมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย เขาสามารถบริหารเงิน บริหารทรัพย์สินได้อย่างน่าทึ่ง โดยใช้สถาบันทางการเงินและบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจ "ลงทุน" โดยเฉพาะซึ่งมีอยู่นับ 10 บริษัทเป็นเครื่องมือหลัก โยงใยทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุน สนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ในเครือไปลงทุนในกิจการต่างๆ ดุจปลาหมึกยักษ์ ไม่ต่างอะไรกับวิธีการบริหารทุนของเหล่าธนาคารพาณิชย์ในบ้านเรา จนเดี๋ยวนี้ เครดิตของเจริญเป็นที่ยอมรับในวงการธุรกิจการเงินและมีความเชื่อถือมากพอๆ กับเครดิตของธนาคาร และถ้าจะพูดว่าเครดิตของเขาเป็นที่เชื่อถือมากกว่าเครดิตของธนาคารบางแห่งก็ไม่ผิดนัก

คู่แข่งหน้าใหม่ของสิงห์

"มูลค่าตลาดนับหมื่นล้านบาทส่วนแบ่งตลาดกว่า 90% บุญรอดบริวเวอรี่ผู้ผลิตเบียร์สิงห์ต้อนรับคู่แข่งหน้าใหม่ จาก ค่ายสุราทิพย์และวานิช ไชยวรรณ รวมถึงอมฤตในอีก 3 ปีข้างหน้า ด้วยกลยุทธขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวพร้อมปกป้องเครือข่ายตลาดอย่างรุนแรง" กรมสรรพสามิตด้วยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังอนุญาตให้เอกชนหน้าใหม่เปิดโรงงานผลิตและจำหน่ายเบียร์เพิ่มขึ้นอีก 3 โรง โดยที่ 2 ใน 3 โรงนั้นเป็นของยักษ์ใหญ่วงการสุราไทย "เจริญ สิริวัฒนภักดี" จากค่ายสุราทิพย์ และอีกโรงเป็นของ "วานิช ไชยวรรณ" จากกลุ่มไทยประกันชีวิต ด้วยตัวเลขประมาณการลงทุนขั้นต่ำในโรงเบียร์ใหม่ทั้ง 3 โรง คาดว่าเป็นเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยเฉลี่ยโรงละ 1,500 ล้าน (ขึ้นอยู่กับราคาที่ดิน) และมีกำลังการผลิตน้ำเบียร์สูงสุดถึงโรงละ 100 ล้านลิตร/ปี ทั้งนี้ 1 ใน 2 โรงใหม่ของเจริญได้จับมือร่วมทุนกับเบียร์ชื่อดังของโลก "คาร์ลสเบิร์ก" จากประเทศเดนมาร์ก กำลังจะเริ่มดำเนินการผลิต และคาดว่าจะมีผลิตผลเบียร์ออกสู่ตลาดในราวไตรมาสที่ 2 ของปี 2536 ส่วนอีก 2 โรงที่เหลือจะทยอยดำเนินการผลิตตามมาจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี หรือในปี 2538 ผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ได้คาดการณ์กันว่า ในปี 2538 หลังจากที่โรงเบียร์ใหม่ทุกโรงผลิตน้ำเบียร์ออกมาพร้อมๆ กันแล้ว จะมีผลอตผลออกสู่ตลาดขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200 ล้านลิตร ทั้งนี้รวมถึงการขยายโรงงานของเบียร์เจ้าเก่า คือไทยอมฤตที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 100 ล้านลิตรด้วย เบียร์ใหม่ 200 ล้านลิตรที่จะเพิ่มขึ้นมานั้น คำนวนจากโรงเบียร์ใหม่ทั้ง 4 โรง ที่จะต้องดำเนินการผลิตน้ำเบียร์ออกมา อย่างน้อยถึง 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดซึ่งเป็นจุดที่จะประหยัดต่อขนาดสำหรับโรงเบียร์ที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 100 ล้านลิตร/ปี ด้วยตัวเลขในปัจจุบันยอดขายเบียร์ทั้งอุตสาหกรรมแหล่งข่าวจากการสรรพสามิตได้เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ปี 2535 จาก มค.-พย. อุตสาหกรรมเบียร์มียอดขายทั้งหมดประมาณ 305 ล้านลิตร มูลค่าตลาดเกือบ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มเมื่อเปรียบเทียบกับในปีที่ผ่านมาประมาณ 8% กว่าหรือจากยอดขายรวม 280 ล้านลิตร" ฉะนั้นแล้วเมื่อนำผลผลิตเบียร์ในตลาดมารวมกับผลผลิตเบียร์ใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นมา ก็เท่ากับว่าในปี 2538 อุตสาหกรรมเบียร์ไทยจะมีผลิตผลเบียร์ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านลิตรจากโรงงานผลิตเบียร์ทั้งหมด 5 โรง แต่สถิติของปริมาณการบริโภคเบียร์ในตลาดเบียร์ไทยนั้น มีการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ในช่วง 8-12% นั้นคือจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่จะไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นการบริโภคน้ำเบียร์รวมในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือปี 2538 ที่คำนวนจากตัวเลขการเติบโตของการบริโภคที่เฉลี่ยปีละ 12% (ดูจกาสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี) จะมีการบริโภครวมเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 123 ล้านลิตร/ปี เท่ากับว่าความต้องการบริโภคน้ำเบียร์รวมจะเพิ่มขึ้นประมาณ 428 ล้านลิตรในปี 2538 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกำลังการผลิตทั้งหมดแล้วทำให้มีผลผลิตส่วนเกินทั้งอุตสาหกรรมอยู่ประมาณ 80 กว่าล้านลิตร คำถามคือว่า เบียร์หน้าใหม่ทั้ง 3 โรง จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อฝ่าปราการของเจ้าตลาดอย่าง "เบียร์สิงห์" ที่ครองตลาดเบียร์ไทยด้วยตัวเลขล่าสุดอยู่ถึง 93% ของยอดขายรวมในตลาดเบียร์ไทย ถึงแม้เบียร์ใหม่ทั้ง 3 โรงนั้น เบื้องหลังแล้ว คือยักษ์ใหญ่ในวงการสุราของไทย ที่มีความยิ่งใหญ่ หากจะวัดกันที่กำลังเงินหรือศักดิ์ศรี พอฟัดพอเหวี่ยงกันทั้ง 2 กลุ่มหรือแม้แต่กับบุญรอดฯ เจ้าของเบียร์สิงห์ก็ตาม คงจะไม่แพ้กันเลยทีเดียว แต่สำหรับในธุรกิจค้าน้ำเบียร์แล้วทั้ง 2 กลุ่มถือว่าเป็นยักษ์หน้าใหม่ผู้มาทีหลัง ยังไม่เจนจัดในยุทธจักรของตลาดเบียร์ไทย แล้วจะทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่ยึดติดอยู่กับแบรด์รอยัลตี้ในเบียร์สิงห์ที่สูงกว่า 90% ของตลาดรวมทั้งระบบได้ ความเป็นเจ้าตลาดอย่าง "เบียร์สิงห์" คงไม่ปล่อยให้เบียร์หน้าใหม่เข้าสู่ตลาดได้อย่างง่ายดายเป็นแน่ เพราะด้วยสั่งสมประสบการณ์และเกมการต่อกรที่มีทั้งรุกและรับในตลาดเบียร์ไทย ที่เรียกว่าเป็นผู้ผูกขาดมาตลอดกาลเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี "มันยังไม่เหมาะในภาวะตลาดที่สิงห์นำตลาดอยู่กว่า 90%" คนในซีพีเล่าถึงเหตุผลหนึ่งที่ต้องหยุดลงทุนในโครงการผลิตเบียร์ อย่างไรก็ตาม เบียร์หน้าใหม่ทั้ง 3 โรงยังคงปิดตัวเองเงียบกันอยู่ทั้ง 2 กลุ่ม มีเพียงบางกระแสข่าวที่ออกมาเขย่าบัลลังก์เบียร์สิงห์ให้สั่นไปบ้าง ถึงการกำเนิดของเบียร์หน้าใหม่ทั้ง 3 โรงที่จะมีการร่วมลงทุนกับเบียร์ดังในตลาดโลก แต่ก็ไม่อาจคาดเดาสถานการณ์ในอนาคตได้เลยว่าจะออกมาในรูปใด เพราะเบียร์สิงห์เอง ก็ได้กลับมาทบทวนแผนการตลาดกันใหม่ สั่งคุมเข้มสินค้าของตัวเอง เพื่อเป็นการเตรียมรับมือที่ต้องถือคติว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" ดังนั้นแล้ว นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปการย่างก้าวของเบียร์สิงห์เบียร์ไทยต้องมั่นคงและมั่นใจในทุกๆ ฝีก้าว เพื่อปกป้องตำแหน่งผู้นำและในเวลาเดียวกันก็ต้องเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดให้กับตัวเองไปด้วย เบียร์ จัดว่าเป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่ผลิตมาจากพืชและมีแอลกอฮอลผสมอยู่ ว่ากันว่าเบียร์นั้นเริ่มมีการผลิตโดยชนชาวบาบิโลเนียมากกว่า 6,000 ปีแล้ว และได้มีการวิวัฒนาการมาเป็นลำดับจนเป็นที่นิยมผลิตและบริโภคในแถบยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชาติเยอรมันนี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชาติที่เชี่ยวชาญการผลิตและบริโภคเบียร์มากที่สุดในโลก กรรมวิธีของการผลิตเบียร์ถือว่าไม่ได้สลับซับซ้อนมากนัก แต่ขึ้นอยู่กับสูตรการผลิตที่จะกำหนดสัดส่วนของวัตถุดิบที่นำมาใช้ให้ได้ขนาดตามต้องการ โดยเบียร์มีส่วนผสมของวัตถุดิบคือ 1 ข้าวมอลท์ (malt) ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้จากข้าวบาร์เลย์ โดยผ่านกรรมวิธี malting process แป้งในข้าวมอลล์จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล เพื่อใช้ในการหมักบ่มเบียร์ ในระหว่างการต้มเบียร์จะมีคุณภาพดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้าวมอลล์ที่นำมาใช้ในการผลิตเป็นสำคัญซึ่งมอลท์มีอยู่ 3 ชนิด คือ ไวท์มอลท์ บราวน์มอลท์ และแบล็คมอลท์ ส่วนผสมที่ 2 คือน้ำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตเบียร์อีกด้านหนึ่ง เนื่องจากเบียร์จะมีส่วนประกอบของน้ำอยู่ถึงร้อยละ 90 และคุณภาพของน้ำมีผลต่อรสชาติของเบียร์ เช่น น้ำที่มีแร่ธาตุแคลเซี่ยมและโซเดียมละลายอยู่ด้วย จะช่วยให้เบียร์มีรสชาติดีขึ้น ส่วนผสมที่ 3 คือดอกฮ็อปส์ (hops) เป็นดอกของไม้เลื้อยชนิดหนึ่งซึ่งนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเบียร์เพื่อให้เบียร์มีกลิ่นหอม และมีรสออกขมนิดๆ และสุดท้ายคือ เชื้อหมัก (yeast) ทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอลและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กรรมวิธีการผลิตเบียร์นั้น จะเริ่มจากการนำข้าวมอลท์ดังที่กล่าวมาแล้ว มาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำซึ่งจะได้สารละลายที่เรียกว่า วอร์ต (wort) จากนั้นนำวอร์ตไปต้มและกรองแยกกากมอลท์ออกแล้วก็นำไปต้มอีกครั้งกับดอกฮ็อป (อาจเติบน้ำตาลด้วยก็ได้) ทิ้งไว้ให้เย็นที่อุณหภูมิ 10-15 องศาเซลเซียส แล้วจึงเติมเชื้อหมักเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาจนได้เบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอลตามต้องการ ต่อจากนั้นนำไปแยกเชื้อหมักออกจะได้น้ำเบียร์ แล้วจึงนำไปบรรจุภาชนะและนำไปผ่านขบวนการพาสเจอร์ไรซ์เพื่อฆ่าเชื้อโรคในขั้นสุดท้าย ซึ่งจะได้เบียร์บรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง หรือจะนำลงบรรจุในถังไม้เพื่อจะได้เบียร์สด แต่เบียร์สดจะไม่ผ่านขั้นตอนการพาสเจอร์ไรซ์ ฉะนั้นในตลาดเบียร์ จึงมีชนิดของเบียร์ ทั้งเบียร์ที่บรรจุขวด บรรจุกระป๋อง และเบียร์สดด้วยขบวนการผลิตดังที่กล่าวมา หากจะย้อนยุคกลับไปในอดีตแล้ว ตลาดเบียร์ไทยเริ่มมีการผลิตเบียร์ในเชิงอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา เพื่อจะแข่งขันกับเบียร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัดได้ขออนุญาตทำการผลิตเบียร์ตราสิงห์ขึ้นมาโดย "พระยาภิรมย์ภักดี" ขุนนางผู้หนึ่งแห่งราชสำนักในรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นคนไทยแท้ๆ ที่ให้กำเนิดและอุ้มชูสิงห์จนเติบใหญ่อย่างกล้าแข็งมาได้จนถึงปัจจุบัน บุญรอดฯ มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 600,000 บาทตั้งอยู่บนเนื้อทั้งหมด 9 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางกระบือ โดยได้เริ่มผลิตเบียร์ออกมาจำหน่ายเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2477 การผลิตเบียร์สิงห์นั้น บุญรอดได้อาศัยกรรมวิธีการผลิตตามแบบยุโรป ซึ่งเป็นต้นตำหรับในการผลิตเบียร์แต่ปรับปรุงดีกรีและรสชาติให้แตกต่างออกไปจนเป็นที่นิยมของตลาดภายในประเทศ แต่ก่อนที่เบียร์สิงห์จะเป็นตัวเป็นตนขึ้นมานั้นบุญรอดฯ ได้มีการทดสอบตลาดผลิตเบียร์ยี่ห้อต่างๆ ออกมามากมาย มีความหลากหลายในรสชาติ โดยเบียร์ที่บุญรอดฯ ผลิตออกมาในช่วงนั้นได้แก่ เบียร์ตราสิงห์ ตราว่าว ตราหมี และตรานางระบำ ทั้งนี้เพื่อทดสอบตลาดดูว่าเบียร์ชนิดไหนที่มีรสชาติถูกใจนักดื่ม และเป็นที่ยอมรับของผู้ดื่มจนปรากฏว่า เบียร์ตราสิงห์ได้รับความนิยมมากที่สุดตราอื่นๆ จึงค่อยๆ หยุดการผลิตไปทีละตัว ซึ่งในระยะนั้นตลาดเบียร์ไทยค่อนข้างจำกัด คอเบียร์ชาวไทยนิยมดื่มเบียร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังเป็นตัวเลขของการบริโภคที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับในปัจจุบัน แต่เมื่อรัฐบาลได้ปรับเพิ่มภาษีอากรการนำเข้าเบียร์เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ก็ทำให้เบียร์ที่ผลิตขึ้นในประเทศจำหน่ายได้มากขึ้น ต่อมาจึงทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ขยายตัวมาตลอด จนถึงปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ผู้ผลิตต้องวางแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา และนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการผลิต เพื่อให้ผลผลิตที่ได้คุณภาพสูงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์นั้นส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยที่ผลผลิตร้อยละ 99 สนองตอบตลาดภายในประเทศ คงมีส่วนที่เหลือเพื่อการส่งออกเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ดังนั้นปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดตลาดการค้าเบียร์จึงขึ้นอยู่กับความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามปัจจุบัน อุตสาหกรรมการเบียร์ในประเทศไทยมีผู้ผลิตเบียร์เปิดดำเนินการอยู่ 2 รายเท่านั้น คือบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่จำกัด และบริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด ทั้ง 2 โรงมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นในปัจจุบันประมาณ 327 ล้านลิตร โดยบุญรอดบริวเวอรี่ เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ด้วยกำลังการผลิตทั้งสิ้น 300 ล้านลิตร/ปี และไทยอมฤตบริวเวอรี่มีกำลังการผลิตรวมปีละ 27 ล้านลิตร/ปี โรงเบียร์ทั้ง 2 โรงดังกล่าว ที่ผ่านมานั้นก็ได้มีการขออนุญาตขยายกำลังการผลิต เพื่อสนองตอบความต้องการบริโภคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 30% ในระยะที่ผ่านมา 5 ปี โดยได้รับการอนุมัติไปแล้วทั้ง 2 ราย บุญรอดเองได้ขยายตัวโรงงานออกไปสร้างใหม่ที่จังหวัดปทุมธานีขึ้นไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาอีกประมาณ 40 กิโลเมตร เพราะพื้นที่ในปัจจุบัน 9 ไร่มีความคับแคบทำให้การผลิตสินค้าทำได้จำนวนจำกัด โดยโรงใหม่ที่ปทุนธานีมีกำลังการผลิตสูงสุดปีละ 200 ล้านลิตรเมื่อรวมกับโรงเก่าที่มีกำลังการผลิตสูงสุด เท่ากับว่าจะมีกำลังการผลิตถึง 500 ล้านลิตร/ปีเลยทีเดียว ซึ่งโรงเบียร์ใหม่ของบุญรอดนั้นได้เริ่มเปิดดำเนินการผลิตมาแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2535 ที่ผ่านมา ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำการผลิตให้ได้ 80 ล้านลิตรก่อนสิ้นปีและพร้อมกันนั้นก็ได้ทยอยลดกำลังการผลิตในโรงงานเก่าคือที่ บางกระบือลงในจำนวนที่เท่าๆ กันเพื่อทำการปรับปรุงซ่อมแซมเสียใหม่ ส่วนไทยอมฤตนั้นหลังจากได้รับอนุญาตให้ขยายกำลังการผลิตเพิ่ม จะสร้างโรงงานใหม่ที่ปทุมธานีเช่นเดียวกันซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่ในละแวกเดียวกับโรงงานของเบียร์สิงห์ โดยจะมีกำลังการผลิตสูงสุดปีละ 100 ล้านลิตรคาดว่าจะแล้วเสร็จและดำเนินการผลิตได้ในปี 2538 โรงเบียร์ของไทยอมฤตจะมีกำลังการผลิตรวมทั้งโรงเก่าและใหม่เป็น 127 ล้านลิตร/ปี ดังนั้นเมื่อรวมกำลังการผลิต จากโรงเบียร์ทั้ง 5 โรงจะมีกำลังการผลิตสูงสุดรวมเกือบ 1,000 /ปีในอนาคตการจะเข้ามาของเบียร์ใหม่ยิ่งจะเพิ่มความยากลำบากมากขึ้นอีกทวีคูณ จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวในกรมสรรพสามิตกับ "ผู้จัดการ" ถึงตลาดเบียร์ไทยในปัจจุบันปี 2535 จากเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤศจิกายนว่า มียอดขายรวมทั้งสิ้นประมาณ 305.57 ล้านลิตร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มียอดขายรวม 280.77 ล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 8.83% โดยเบียร์สิงห์มียอดขายรวมทั้งสิ้น 285.08 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 10.20% มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 93.29% รองลงมาคือเบียร์คลอสเตอร์มียอดขายรวมทั้งสิ้น 16.33 ล้านลิตร ลดลงจากในปีที่ผ่านมา 8.07% มีส่วนแบ่งตลาด 5.34% อมฤตเอ็น.บี. มียอดขายรวมทั้งสิ้น 1.88 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นจากในปีที่ผ่านมา 1,969.23% มี่ส่วนแบ่งตลาด 0.61% อมฤต (เบียร์สด) มียอดขายรวม 1.97 ล้านลิตร ลดลงจากในปีที่ผ่านมา 48.86% ส่วนแบ่งตลาด 0.64% และเบียร์สเต๊าท์มียอดขาย 304,000 ลิตร ลดลงจากในปีที่ผ่านมา 16.25% มีส่วนแบ่งตลาด 0.12% ในวงการอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ของไทยแล้ว ทุกคนรู้ดีว่าสิงห์คือผู้นำที่ผูกขาดตลาดเบียร์ไทยมาถึง 60 ปียากที่จะหาคู่แข่งที่ทัดเทียมกันได้และยังได้ปกป้องตลาดของตนเองตลอดมา โดยไม่เปิดโอกาสให้เบียร์หน้าใหม่เข้ามาในตลาดได้เลยอีกเลย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านนโยบายการผลิต หรือจะเป็นทางด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเบียร์ของไทยเบียร์สิงห์เรียกว่าเป็นผู้กุมอำนาจการผลิตและผูกขาดตลาดเสมอมา แม้แต่โรงเบียร์ค่ายไทยอมฤตของตระกูลเตชะไพบูลย์ ยังต้องพึ่งบารมีของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวของสหัท มหาคุณ ซึ่งเป็นเพื่อน อุเทน เตชะไพบูลย์ จึงสามารถเปิดโรงเบียร์ขึ้นมาได้ในปี 2501 แต่เปรียบเทียบถึงสัดส่วนในการจำหน่ายเบียร์ในแล้วยังถือว่าห่างไกลกันมาก ด้วยไทยอมฤตมีกำลังการผลิตสูงลดเพียง 27 ล้านลิตร/ปี ถึงแม้กำลังจะขยายกำลังการผลิตออกไปอีก 100 ล้านลิตร/ปีก็ตาม การผูกขาดตลาดในอุตสาหกรรมเบียร์ไทยของเบียร์สิงห์นั้น มีมานานมาก เบียร์สิงห์ได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เพราะคนในตระกูล "ภิรมย์ภักดี" สามารถเข้าล็อบบี้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมที่ดูแลทางด้านนโยบายการผลิตไม่ให้มเบียร์หน้าใหม่เข้ามาในตลาดได้เลย ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ที่เบียร์สิงห์ได้เริ่มเปิดโรงงานในปี 2476 จนมาถึงเมื่อปี 2527 ที่ตลาดเบียร์ไทยเริ่มถีบตัวสูงขึ้นมา มียอดขายรวมถึง 163.95 ล้านลิตร/ปี เพิ่มขึ้นจากในปี 2526 ถึง 11.9% จนทำให้ตลาดเบียร์เริ่มมีความหอมหวานมีผู้สนใจจะเข้าสู่อุตสาหกรรมเบียร์หลายๆ ราย ในห้วงเวลานั้น สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมหมายเป็นเทคโนแครตสมัยพลเอกเปรม เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาการเจริญเติบโตที่ถดถอยยาวนาน และทุนสำรองอยู่ในภาวะลดต่ำลงอย่างน่าตกใจ กล่าวคือเทียบกับมูลค่าสินค้าเข้าสองเดือนครึ่งเท่านั้น สมหมายจึงได้ใช้นโยบายลดค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นการส่งออก และการขาดดุลงบประมาณมาใช้ อย่างไรก็ตามผลการตั้งงบประมาณขาดดุลในปี 2527 ได้ประมาณการไว้ว่าจะขาดดุลเพียง 32,000 ล้านบาทแต่ ตัวเลขของการขาดดุลที่แท้จริงได้เพิ่มขึ้น มาเป็น 34,891 ล้านบาทซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย ที่วางไว้ จึงจำเป็นต้องพยายามจัดเก็บภาษีรายได้ให้เพิ่มขึ้นทุกวิถีทาง เหตุนี้สมหมาย จึงจำเป็นต้องหาวิธีที่จะทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มมากขึ้นนั้น หมายความว่าการจัดเก็บภาษีอากรที่เป็นรายได้หลักจำเป็นต้องมีการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจึงถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาเพิ่มรายได้ให้กับฐานะทางการคลังได้เป็นอย่างดี เพราะกระทรวงการคลังเองไม่รู้ว่าจะต้องนำนโยบายขาดดุลงบประมาณมาใช้อีกนานเท่าใด ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากการจำหน่ายเบียร์ในช่วงปี 2527 มีเพียง 1.50% ของการจัดเก็บภาษีรายได้ทั้งหมดประมาณ 147,847 ล้านบาทหรือประมาณ 6.30% ของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่มีประมาณ 36,548 ล้านบาท รายได้จากภาษีเบียร์ยังมีการจัดเก็บที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับรายได้จากภาษีสุราและยาสูบ ดังนั้นสมหมายจึงได้มีการวิ่งเต้นบรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลพลเอกเปรม ในขณะนั้น เพื่อให้การผลิตเบียร์มีความเป็นเสรีมากขึ้น โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจจะเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ มายื่นขอตั้งโรงงานได้ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกการแสดงออกถึงความกล้าหาญของสมหมายในนโยบายการกระตุกหนวดสิงห์ หลังจากที่สิงห์ปกป้องตลาดนี้มาตลอด แต่การเปิดให้ยื่นขออนุญาตผลิตเบียร์ มีระยะเวลาของการยื่นขออนุญาตช่วงสั้นๆ ประมาณ 4-6 เดือนเท่านั้นเอง ในข้อเท็จจิรงไม่มีนักลงทุนรายใด เตรียมตัวได้ทัน เพื่อยื่นข้อเสนอในการลงทุนภายใต้เงื่อนไขเวลาที่กำหนด เพราะสมัยนั้นถือว่าการเปิดโรงเหล้าหรือโรงเบียร์จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างเข้มงวด หลังจากนั้นเรื่องของการขออนุญาตเปิดโรงเบียร์ก็ถูกเก็บเข้ากรุเหมือนอย่างเดิมจนกระทั่งมาในปี 2532 ในสมัยสุธี สิงห์เสน่ห์ เป็นรัฐมนตรีคลัง กลุ่มของเจริญก็ยื่นขอมาถึง 2 โรงด้วยกันและได้รับการพิจารณาให้ดำเนิน การเปิดโรงเบียร์ได้ การยื่นขอของเจริญในขณะนั้นได้ยื่นขอในนามของ บริษัทเบียร์ทิพย์จำกัด โดยที่เบียร์ทิพย์จะผลิตเบียร์ที่เป็นสูตรการผลิตของไทยเองในชื่อ "เบียร์ทิพย์" และอีกบริษัทหนึ่ง คือเบียร์ไทย จะร่วมลงทุนกับเบียร์คาร์ลสเบิร์กจากเดนมาร์ก ผลิต "เบียร์คาร์ลสเบิร์ก" นอกจากกลุ่มของเจริญทั้ง 2 โรงแล้วก็ยังมีผู้ที่สนใจอีกรายก็คือ กลุ่มของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ได้ยื่นความจำนงค์ที่จะขอเปิดโรงเบียร์เช่นเดียวกัน โดยซีพี มีแผนการที่จะร่วมลงทุนกับเบียร์ไฮเนเก้น จากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นเบียร์ดังของโลกอีกยี่ห้อหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการยื่นขอเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นทางการ จนมาถึงในสมัยปี 2534 ของรัฐบาล นายกฯ อานันท์ ซึ่งถือว่าเป็นยุคสมัยที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมของไทยอีกครั้ง ด้วยนโยบายการเปิดให้มีการผลิต ได้อย่างเสรี เรื่องของการเปิดโรงเบียร์ก็ถูกหยิบยกมาพิจารณาอีกครั้ง และได้นำเข้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการเปิดโรงเบียร์ได้อย่างเสรี ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเบียร์ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 6 มกราคม2535 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ด้วยเห็นว่าความต้องการบริโภคเบียร์ภายใจประเทศ และการส่งเบียร์ออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อให้การผลิตเบียร์ในประเทศมีปริมาณเพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีทั้งในด้านคุณภาพและราคา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยส่วนรวม โดยหลักเกณฑ์ในประกาศกรมสรรพสามิต ดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 5 ข้อใหญ่คือ 1. หลักเกณฑ์ในการขออนุญาต 1.1 ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และมีวัตถุประสงค์ในการผลิต และจำหน่ายเบียร์ มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท 1.2 ให้ผู้ขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเบียร์ยื่นคำขอต่อกรมสรรพสามิต โดยนำหนังสือรับรองจากกรมทะเบียนการค้ามาแสดง 1.3 ผู้ขออนุญาตต้องวางหลักประกันต่อกรมสรรพสามิตในขณะยื่นคำขอเป็นเงินจำนวน 5 ล้านบาท จะเป็นเงินสดหรือพันธบัตรก็ได้และหลักประกันนี้จะคืนให้หลังได้รับการพิจารณาหรือเมื่อได้ทำสัญญาแล้วแต่กรณี 1.4 ให้ผู้ขออนุญาตเสนอโครงการดังต่อไปนี้พร้อมกับการยื่นคำขอ คือให้เสนอโครงการลงทุน แผนการเกี่ยวกับโรงงานและสถานที่ตั้ง ประมาณการใช้วัตถุดิบ แหล่งวัตถุดิบ จำนวนคนงานปริมาณการผลิตที่จะต้องไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรและไม่เกิน 100 ล้านลิตต่อปีรวมทั้งกรรมวิธีในการผลิตและการดำเนินการ ให้เสนอขั้นตอนในการดำเนินงานแต่ละขั้นอย่างละเอียด ให้มีการเสนอโครงการการใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้เบียร์ที่ผลิตได้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพที่จะสามารถแข่งขันในต่างประเทศได้ และเสนอโครงการการจำกัดสิ่งปฏิกูล การระบายน้ำและอากาศด้วย 2. เงื่อนไขในการขออนุญาต 2.1 ผู้ขออนุญาตจำต้องดำเนินการผลิตและจำหน่ายเบียร์ได้ตามปกติภายในระยะเวลาไม่เกิน 36 เดือน (3 ปี) นับจากวันทำสัญญา 2.2 ผู้ขออนุญาตจะต้องไม่มีเครื่องกลั่นสุราภายในโรงงานผลิตเบียร์ 2.3 กรรมสรรพสามิตสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาไม่อนุญาตให้แก่ผู้เสนอโครงการลงทุนที่มีรายละเอียดไม่เหมาะสม 3. หลักเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติภายหลังที่ได้รับอนุญาตแล้ว 3.1 เมื่อกรมสรรพสามิตอนุญาตแล้วให้ผู้รับอนุญาตมาทำสัญญากับกรมฯ ตามแบบภายในกำหนด 30 วัน 3.2 ในวันทำสัญญาผู้รับอนุญาตต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาท และจะได้รับคือภายใจ 30 วันนับแต่วันที่เริ่มผลิตและจำหน่ายได้ตามปกติ และต้องนำหลักฐานในการจดทะเบียนเพิ่มไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท 3.3 ห้ามไม่ให้ผู้รับอนุญาตโอนหรือขายสิทธิในการผลิตและจำหน่ายเบียร์ให้กับบุคคลอื่น ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ ในข้อ 3 นี้ปลีกย่อยตามข้อบังคับของกรมสรรพสามิตตามปกติในการจำหน่ายสุราหรือเบียร์ 4. บทลงโทษ หากว่าผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะมีการการปรับและหรือมีการบอกเลิกสัญญาและมีการริบเงินประกันได้ 5. การวินิจฉัย ปัญหาหรือข้อโต้แย้งใดๆ เกิดขึ้นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้ขาด ทั้งหมดก็คือกฏเกณฑ์และเงื่อนไขของการให้เปิดเสรีโรงเบียร์ในประกาศปี 2535 ซึ่งยึดถือร่างเดียวกันกับการเปิดอนุญาตโรงเบียร์ในปี 2527 แต่มีการแก้ไขในเพียงบางข้อ เช่นเรื่องของระยะเวลาที่จะยื่นขอเปิดโรงเบียร์ที่ในปี 2527 มีการกำหนดระยะเวลาแต่ในประกาศมี 2535 ไม่มี หรือจะเป็นเรื่องของการวางเงินค้ำประกันในการทำสัญญาก็มีจำนวนสูงขึ้น และเงื่อนไขของการไม่ให้สิทธิในการโอนให้กับผู้อื่นหลังจากได้รับอนุญาตแล้ว อย่างไรก็ตามปรากฏว่าหลังจากที่ได้ประดาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใหม่ไปแล้ว มีผู้ยื่นขออนุญาตเข้ามาเพียงรายเดียวเท่านั้นคือกลุ่มบริษัทไทยประกันชีวิต โดย วานิช ไชยวรรณ และก็ได้รับการพิจารณาอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้ภายใน 3 ปี ซึ่งนับตั้งแต่การพิจารณษอนุญาตให้เปิดดำเนินการภายใน 3 ปี ซึ่งนับตั้งแต่มิถุนายน 2535 เป็นต้นไป ดังนั้นแล้วโรงเบียร์ที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการผลิตและจำหน่ายเบียร์ใหม่มีเพียง 3 โรงเท่านั้นคือ 1. บริษัท คาร์ลสเบิร์ก บริวเวอรี่ (ประเทศไทยจำกัด) มีโรงงานอยู่ที่ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นของเจริญ สิริวัฒนาภักดี กลุ่มสุราทิพย์ 2. บริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด มีโรงงานอยู่ที่ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นของ เจริญ กลุ่มสุราทิพย์ เช่นเดียวกัน 3. บริษัท ไทยผลิตเบียร์ จำกัด มีโรงงานอยู่ที่นนทบุรีเป็นของ วานิช ไชยวรรณ จากกลุ่มไทยประกันชีวิต และสำหรับโครงการของกลุ่มซีพี นั้นได้มีการระงับโครงการไปแล้ว โดย ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท เปิดเผยว่าได้ตัดสินใจยกเลิกโครงการดังกล่าวไปแล้ว เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าจะไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะคิดว่าไม่สามารถแข่งขันสู่กับเจ้าตลาดอย่างเบียร์สิงห์ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกลุ่มของซีพีได้เคยมีการเจรจาร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทสุราทิพย์ ที่ได้ใบอนุญาตการเปิดโรงเบียร์เมื่อปี 2532 ของเบียร์ทิพย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้นเพราะจากซีพีต้องการถือหุ้นใหญ่ ในขณะที่เจริญไม่ยอมจึงมีโครงการที่จะยื่นขอเปิดโรงเบียร์เองดังกล่าว ทั้งนี้กลุ่มซีพี โดยบริษัทเอ็กซ์ชอ อินดัสเตรียลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือในการทำธุรกิจอุตสาหกรรมของซีพี ได้ทำการลงทุนกับ บริษัท ไฮเนเก้น (เนเธอร์แลนด์) ในการตั้งโรงงานผลิตเบียร์ ที่เซี่ยงไฮ้ ได้มีการดำเนินการผลิตมาตั้งแต่ปี 2532 มาแล้วจึงได้สนใจที่จะเข้ามาเปิดโรงเบียร์ในไทยด้วยดังกล่าว แต่สมัยปี 2532 ที่ทางซีพีสนใจจะเข้ามาในอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการขออนุญาตตั้งโรงเบียร์นั้นยากมากเลยได้เข้าเจรจากับกลุ่มสุราทิพย์แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามเบียร์หน้าใหม่ทั้ง 3 โรงปรากฎว่าโรงงานคาร์ลสเบิร์ก บริวเวอรี่ จำกัดขณะนี้การก่อสร้างได้มีความคืบหน้าไปมากที่สุด คือจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้และจะเปิดทดสอบเดินเครื่องผลิตได้ตั้งแต่ต้นปี 2536 เป็นต้นไป และจะสามารถผลิตเบียร์ออกมาจำหน่ายได้ในราวไตรมาสที่ 2 ของปี หรือประมาณ เดือนมีนาคมโดยปัจจุบันได้มีการนำเข้าเบียร์ของคาร์ลสเบิร์กมาจำหน่ายอยู่ เดิมนั้น บริษัท คาร์ลสเบิร์ก บริวเวอรี่ ได้ยื่นขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเบียร์ในนามบริษัท เบียร์ทิพย์จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นของเจริญสิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อสุราทิพย์กับ บริษัท ทีซี.ฟาร์มาซูคิคอลอุตสาหกรรม จำกัด ในนามของเฉลิม อยู่วิทยา ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระทิงแดง ต่อมาได้เข้าร่วมทุนกับ บริษัท คาร์ลสเบิร์ก เอ/เอส ซึ่งเป็นเจ้าของเบียร์คาร์ลสเบิร์กของประเทศเดนมาร์ก เพื่อจะร่วมกันผลิตเบียร์คาร์ลสเบิร์กในประเทศไทยแต่เมื่อทางคาร์สเบิร์ก เอ/เอส ได้เข้ามาร่วมถือหุ้น จึงได้แจ้งเปลี่ยนชื่อมาเป็นคาร์ลสเบิร์กบริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นได้มีการเจรจาซื้อหุ้นจากกลุ่มของเจริญในเบียร์ทิพย์ แต่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยว่าเป็นจำนวนเท่าใดคาดว่าจะเป็นไปตามข้อกำหนดของบริษัทร่วมทุน คือ 49/51 ตามกฎหมาย ต่อจากนั้นได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 55 ล้านบาท รวมเป็น 555 ล้านบาทมีเดือนมีนาคม 2535 ปัจจุบันเป้าหมายของเบียร์คาร์ลสเบิร์กนั้น จะเริ่มนำเบียร์ออกวางตลาดให้ได้ในราวเดือนมีนาคม หรือเมษายน ปีหน้า (ปี 2536) โดยการทดลองตลาดในช่วงต้นจะทำการผลิตด้วยกำลังการผลิต 50 ล้านลิตร และจะค่อยๆ เพิ่มจนเต็มกำลังการผลิต 100 ล้านลิตร แหล่งข่าวจากร้านค้าส่งสุราในเครือของสุราทิพย์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เบียร์คาร์ลสเบิร์กนั้น ทางเจริญได้มีการวางแผนงานการตลาดว่าจะมีการเจาะตลาดด้วยการตั้งบริษัทของตนเองขึ้นเป็นเอเยนต์ทั้ง 73 จังหวัดเพื่อเข้ามารับซื้อเบียร์คาร์ลสเบิร์กที่ผลิต แล้วจะส่งต่อไปร้านค้าส่งหรือร้านค้าปลีก ที่อยู่ในเครือของกลุ่มสุราทิพย์ในแต่ละจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการเปิดตลาดของเบียร์คาร์ลสเบิรก์กกำลังเป็นที่จับตาของผู้ผลิตเจ้าเก่าในตลาดเป็นอย่างมาก หรือแม้แต่ร้านค้าต่างๆ ก็ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะร้านค้าของเบียร์สิงห์เอง ส่วนการรับมือกับเบียร์หน้าใหม่ของบุญรอดนั้นยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใดเลย ในขณะนี้ ซึ่งในปี 2536 เป็นปีที่บุญรอดครบรอบ 60 ปี คาดว่าจะมีการทำการส่งเสริมการขายครั้งใหญ่ โดยจะเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2536 ไปตลอดทั้งปี เป็นที่น่าสังเกตว่า บุญรอดนั้นได้วางเกมการตลาดมาเป็นอย่างดีโดยตลอด การปิดกั้นคู่แข่งขัน จนถึงการปรับแผนงานกำลังการผลิตของตนเอง ซึ่งบุญรอดรู้ดีว่าการนั่งปกป้องอุตสาหกรรม โดยไม่เปิดโอกาสให้เบียร์ หน้าใหม่เข้ามาแข่งขันได้นั้นสักวันหนึ่งคงต้อง หมดไป จึงได้วางแผนขยาย กำลังการผลิตออกไปเพื่อต้องการรักษาการเป็นผู้นำในตลาดได้ ด้วยต้องรักษาความเป็นผู้นำด้วยการเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น หลังจากที่กลุ่มของเจริญได้รับใบอนุญาตเปิดโรงเบียร์ ในปี 2532 ด้วยกำลังการผลิตทั้งหมดของบุญรอดในปัจจุบันนั้นคาดว่าจะสามารถรองรับการขายตัวในตลาดเบียร์ไทยได้อีก 5 ปีข้างหน้า เพราะโรงเบียร์ใหม่ที่มีกำลังการผลิต 200 ล้าน-ลิตร ถือเป็นครึ่งหนึ่งของ อีก 4 โรงที่จะทยอยเริ่มเปิดดำเนินการกันที่จะแล้วเสร็จในปี 2538 นอกจากนี้ทางด้านการตลาด บุญรอดได้มีการดำเนินการคุมเข้มเอเยนต์ทั้งหมดที่มีอยู่เกือบ 400 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งการควบคุมเอเยนต์ และซาปั๊ว จะทำผ่านทางชมรมผู้ค้าเบียร์ที่มีอยู่ 11 ชมรมทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นกลยุทธที่เบียร์สิงห์นำมาใช้เป็นเรื่องธรรมดาของการค้าทั่วไป คือถ้าหากว่าเอเยนต์ไปขาย สินค้าอื่น ก็ต้องหมดสภาพ จากเอเยนต์เบียร์สิงห์ และกลายเป็นร้านค้าธรรมดาไป ชมรมฯ ออกกฎอย่างนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการลงโทษร้านค้าซึ่งเป็นการควบคุมโดยทางอ้อมของสิงห์ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางชมรมค้าเบียร์ ได้มีการออกหนังสือเวียนถึงเอเยนต์และซาปั๊วที่จำหน่ายเบียร์สิงห์เพื่อเป็นการเตือนและมีบางรายได้รับการลงโทษไปแล้ว แต่เท่าที่ผ่านมาเอเยนต์ของ สิงห์ต่างก็เต็มใจที่จะอยู่ในระบบนี้เนื่องจากว่าผลกำไรและอัตราการหมุนเวียนของสินค้าดี โดยเอเยนต์สิงห์ จะมีกำไรต่อลังสำหรับสินค้าทุกประเภทจากสิงห์ลังละกว่า 10 บาทซึ่งแต่ละเอเยนต์โดยเฉลี่ยจะจำหน่ายได้วันละ 2,000 ลัง หรือมีกำไรถึง 20,000 บาทต่อวัน ส่วนซาปั๊วกำไรลังละเกือบ 40 บาท เฉลี่ยแล้วมีการจำหน่ายสัปดาห์ละ 100-200 ลัง ทั้งนี้โรงเบียร์ใหม่อีก 2 โรงคือ บริษัทเบียร์ไทย (1991) จำกัด ในกลุ่มของเจริญ สิริวัฒนภักดีเช่นกัน เริ่มก่อตั้งในปี 2534 โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 500 ล้านบาทกำลังอยู่ในระหว่างการยืนเสนอของปลูกสร้างโรงงาน นอกจากนี้ยังได้มีการเจรจาลับเฉพาะถึงการมองคู่ร่วมลงทุนกับเบียร์ต่างประเทศ แต่ยังไม่เปิดเผยถึงคู่ร่วมทุนแต่อย่างใด ส่วนโรงเบียร์ของกลุ่มวานิช ไชยวรรณ คือบริษัทไทยผลิตเบียร์ จำกัด กำลังอยู่ระหว่างการยืนเรื่องของปลูกสร้างโรงงานอยู่ และหาผู้ร่วมทุนซึ่งเบียร์ต่างชาติ ไทยผลิตเบียร์ เดิมนั้นคือบริษัทไทยผลิตสุรา จำกัดที่ก่อตั้งมาในปี 2519 ด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่มเป็นเงินจำนวน 3 ล้านบาท ผลิตสุราขาวและเป็น ตัวแทนจำหน่ายสุราในเครือของบรษัทสุรามหาราษฎร์ หลังมาขออนุญาต การผลิตเบียร์ จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ไทยผลิตเบียร์ ได้มีการขอเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 2 ครั้ง ครั้งแรกเพิ่มทุนจดทะเบียนมาเป็น 30 ล้านบาท เมื่อปี 2529 และล่าสุดได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกเป็น 575 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2535 โดยมีผู้ให้ความสนใจเสนอตัวเข้ามามีทั้งเบียร์ของอเมริกา อย่างบัดไวเซอร์ หรือซานมิเกลของฟิลิปปินส์และยังมีเบียร์จากญี่ปุ่นอีกอย่างซับโปโร และเบียร์จากยุโรปอีก แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นบริษัทใด ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการตกลงว่าจะร่วมลงทุนกับใคร่แต่อยู่ในขั้นเจรจา ท้ายสุดคาดว่าจะเจรจาเสร็จในราวสิ้นปี 2535 นี้ จะสังเกตเห็นว่าการเข้ามาของเบียร์หน้าใหม่ ทั้ง 3 ราย จะเป็นการร่วมลงทุนกับเบียร์จากต่างประเทศทั้งหมดทั้งนี้ เป็นเพราะว่าการจะเข้ามาบุกในตลาดเบียร์ไทยไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าตลาดเบียร์ไทย เบียร์สิงห์ ได้ผูกขาดมานานถึง 60 ปีมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 90% ในปัจจุบัน ทำให้การเข้ามาของเบียร์หน้าใหม่ต้องมีจุดเด่นในตัวสินค้าเพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้า ซึ่งการอิงบริษัทที่มีชื่อเสียง และมีคุณภาพเป็นที่รู้จักในตลาดอยู่แล้วเท่ากับว่านำมาเป็นหัวหอกในการเจาะตลาดเบียร์ไทยและพร้อมกับการมีแผนงานการตลาด ที่ดีถึงจะสามารถพิชิตเจ้าตลาดอย่างเบียร์สิงห์ได้ อย่างไรก็ตามเบียร์ระดับอินเตอร์ใช่ว่าจะสามารถเจาะเข้าตลาดในภูมิภาคเอเชียนี้ได้อย่างง่าย อย่างเช่นเบียร์คาร์ลสเบิร์กเบียร์ดังระดับโลกเจาะเข้าตลาดฟิลิปปินส์ ฝ่าด่านเบียร์เจ้าถิ่มคือซานมิเกลที่ครองตลาดมาถึง 100 ปีคาร์ลสเบิร์กใช้เวลาถึง 30 ปี จนถึงปัจจุบันได้ส่วนแบ่งตลาดมาเพียง 30% เท่านั้น หรือแม้แต่คลอสเตอร์ที่เข้าสู่ตลาดเบียร์ไทยมาเกือบจะ 20 ปีมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 5% กว่าๆ ในปัจจุบันเรียกว่ายังแจ้งเกิดไม่ได้ เบียร์หน้าใหม่ !!! จะฝ่าการตลาดของเบียร์ไปได้อย่างไรเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ แล้วเบียร์หน้าใหม่ต้องพิสูจน์ตัวเองต่อนักดื่มเพราะเบียร์ไม่ใช่สินค้าแฟชั่นที่จะขึ้นลงตามความฮือฮา !!! แต่เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่เสพแล้วติดในรสชาติเพียงแค่ 1% ของสิงห์คงจะต้องต่อสู้กันจนหืดขึ้นคอทีเดียว

หงส์ดิ้นสุดฤทธิ์ ยุทธการดึงทหารและการเมืองกลับเข้ามา

เมื่อภาพที่ต้องต่อเป็นชิ้นๆ เริ่มชัดขึ้นมาทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งชัดขึ้นมาที่สุดว่าอนาคตของกลุ่มเถลิง จะมีแต่อุปสรรคและขวากหนามในการผลิตเหล้า เพราะต้องเอาไปผูกเงื่อนที่คอตัวเองเอาไว้ก็ต้องหาคนมาช่วยแก้ปัญหาที่ตนเป็นคนก่อ "ทั้งหมดนี้คุณต้องโทษกลุ่มเถลิงเอง เขาไปตั้งราคาประมูลไว้สูงแล้วหวังว่าจะใช้การเมืองบีบแม่โขงในกรณีที่เขาทำไม่ได้ นี่เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดระหว่างการทำงานของทั้งสองฝ่าย ซึ่งฝ่ายแม่โขงเขาประมูลในตัวเลขที่เขาทำได้จริงๆ และให้ผลประโยชน์รัฐได้เต็มที่เรียกว่าได้ด้วยกันทั้งคู่ แต่ทางกลุ่มเถลิงเล่นใช้ตัวเลขที่ตัวเองต้องการได้โรงเหล้ามาเพื่อสับคู่แข่งขัน ไม่ได้มองในแง่การค้าและเมื่อตัวเองเห็นว่าจะทำไม่ได้ก็เริ่มใช้การเมืองและต่อมาก็พยายามดึงทหารให้กลับเข้ามามัวเมาในวงการนี้อีก หลังจากที่ทหารได้ล้างมือไปแล้วและสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่ประชาชน" ผู้ติดตามข่าวเหล้าวิจารณ์ให้ฟัง การเคลื่อนไหวของกลุ่มเถลิงหลังการประมูลเป็นการเคลื่อนไหวสองแนวทาง แนวทางแรก คือการพยายามหาผู้หลักผู้ใหญ่มาไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองกันโดยเจาะเข้าทางอุเทน เตชะไพบูลย์ ซึ่งได้ลงมาเป็นประธานบริษัทสุรามหาราษฎรแทนสุเมธ เตชะไพบูลย์ ซึ่งเถลิงรู้ดีว่าสุเมธไม่คุยด้วยแน่ๆ แต่เถลิงลืมนึกไปว่าสุรามหาราษฎรนั้นไม่ใช่ของเตชะไพบูลย์ฝ่ายเดียว กรรมการบริหารส่วนหนึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นจอมยุทธในวงการทั้งนั้น เช่น โกเมน ตันติวิวัฒน์พันธ์ เจ้าพ่อเหล้าภาคอีสาน วิศาล ภัทรประสิทธิ์ ภาคกลาง หรือคนอย่าง วานิช ไชยวรรณ ที่มีทุกอย่างพร้อม ฯลฯ และบรรดากรรมการบริหารตอนนี้ก็เลือดเข้าตาจะสู้ยิบตาแล้ว "ธรรมดาถ้าเริ่มค้าขายกันต่างคนต่างอยู่ไม่มีลูกเล่นกันก็พอจะพูดกันได้ แต่นี่ฝ่ายเราโดนรุกมาตลอด เราต้องนั่งแก้เกมตลอดเวลา ที่เราอยู่ได้เพราะเราตั้งใจทำธุรกิจให้เป็นธุรกิจ และเราต้องการคุ้มครองสมบัติของชาติไว้ เราไม่ต้องการให้ในอนาคตมีคนมาประณามว่าแม่โขงพังไปในยุคที่เราทำ" ฝ่ายสุรามหาราษฎรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" การประนีประนอมของกลุ่มเถลิงซึ่งผู้ริเริ่มที่แสดงตัวออกมาคือ อบ วสุรัตน์ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ซึ่งให้ตั้งบริษัทกลางขึ้นมารับเหล้าทั้งสองฝ่ายไปขายโดยแต่ละฝ่ายถือหุ้นอยู่ 45% ส่วนอีก 10 % นั้นทางฝ่ายเถลิงเสนอให้เอาองค์การทหารผ่านศึกเข้ามาโดยคิดว่าการดึงให้ทหารเข้ามาร่วมด้วยจะเป็นอำนาจต่อรองอันหนึ่ง แต่ข้อเสนอของบริษัทกลางนี้กลับเป็นหลุมพรางซึ่งทางแม่โขงเห็นเกมทันที เมื่อข้อเสนอของการตั้งบริษัทกลางเป็นไปไม่ได้เพราะแม่โขงไม่เล่นด้วย และเมื่อแม่โขงเสนอกลับหงส์ทองก็ไม่เล่นด้วย เกมการรุกของหงส์ทองก็ออกมาเป็น :- แนวทางที่สอง คือการออกมาขายชนกันแต่การจะขายได้นั้นราคาของแม่โขงและกวางทอง จะต้องสูงกว่านี้อย่างน้อยแม่โขงจะต้องกระโดดไปเป็นราคาเก่าที่ 55 บาท และกวางทองเป็น 44 บาท เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้วจะขายสู้ไม่ได้ ซึ่งก็จะเป็นการบังเอิญหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ หลังจากที่กลุ่มเถลิงประมูล 2 โรงเหล้าได้ในเดือนเมษายน 2526 อีกไม่ถึง 10 เดือนก็มีข้อเสนอให้ประนีประนอมโดยตั้งบริษัทกลาง และเมื่อข้อเสนอบริษัทกลางพับไป อีกไม่นานก็มีคำสั่งจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในวันที่ 9 มีนาคม 2527 สั่งให้แม่โขงและกวางทองขึ้นราคาภายใน 7 วัน ซึ่งทางสุรามหาราษฎรก็ตอบไปว่าทำไม่ได้ "10 เดือนหลังจากประมูลได้ทางกลุ่มเถลิงก็เห็นแล้วว่ามีทางออกเพียง 2 ทาง และอีกประการหนึ่งทางกลุ่มเขาเองก็ประสบปัญหา cash flow พอสมควรในขณะนี้ ทั้งหมดนี้เป็นลางบอกเหตุว่า ถ้าดิ้นไม่ออกตามที่ต้องการแล้ว 1 มกราคม 2528 ก็ดูเหมือนจะเป็นวัน D-DAY" แหล่งข่าวในวงการเหล้าอธิบายให้ฟัง อบ วสุรัตน์ ก็เลยสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการ 3 คนขึ้นมาตีความสัญญา ซึ่งแหล่งข่าวทางสุรามหาราษฎรก็ยืนยันว่า จะต้องสู้ถึงที่สุด ถ้าจะต้องพึ่งบารมีศาลยุติธรรมทางสุรามหาราษฎรก็จะทำ

แม่โขงกับรัฐบาลที่ลืมไปว่าแม่โขงเป็นสมบัติของชาติ

ปี 2525 นับว่าเป็นปีที่แม่โขงแทบจะกระอักโลหิตออกมาเพราะโดน “หงส์ทองบินข้ามเขต” ปะทะด้วยราคาที่ถูกกว่า จนทำให้ยอดขายต้องตกลงอย่างฮวบฮาบ “หงส์ทองเขาได้เปรียบกว่ามาก เพราะฐานภาษีมันไม่เท่ากัน แม่โขงต้องเสียภาษีลิตรละ 60 บาท แต่หงส์ทองเสียจริงๆ สุทธิเพียงลิตรละ 26 บาท เท่านั้น อันนี้เลบเป็นช่องว่างให้หงส์ทองถูกขายข้ามเขต และแม่โขงถูกหงส์ทองเล่นเกมนี้เหมือนถูกผีหลอก เพราะเหล้าที่ขายข้ามเขตมันผิดกฎหมาย แต่ยิ่งประท้วงไปประท้วงมากลายเป็นว่ามีเหล้าหงส์ทองขายอยู่ทั่วราชอาณาจักรไปเสียแล้ว พอจะพูดได้ว่า ในยุคของอธิบดีบัณฑิต ปุณยะปานะ ซึ่งเป็นน้องชายของคุณพงส์ สารสิน หุ้นส่วนของหงส์ทองได้มีการลักลอบขนสุราข้ามเขตไปจำหน่ายในเกือบทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร นับว่าเป็นประวัติการณ์ของการลักลอบขนสุราของเมืองไทยทีเดียว” เอเย่นต์เหล้าต่างประเทศที่รู้เรื่องการขายเหล้าดีเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟังเพิ่มเติม จะเป็นเพราะแม่โขงและกวางทองเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรม และหงส์ทองกับแสงโสมเป็นของกระทรวงการคลัง เลยทำให้เจ้ากระทรวงแต่ละแห่งต้องขยันหามาตรการออกมาฟาดฟันกันอย่างถึงพริกถึงขิง หรืออาจจะเป็นเพราะสมหมาย ฮุนตระกูล ไม่ถูกกับ อบ วสุรัตน์ ก็เลยทำให้ความขัดแย้งนี้แผ่ขยายลงมาถึงสินค้าที่แต่ละคนถืออยู่ หรืออาจจะเป็นเพราะสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นหลานแท้ๆ ของพระยาศรีวิศาลวาจา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างสนิทสนมกับพจน์ สารสิน พ่อของพงส์ สารสิน หุ้นส่วนใหญ่ของหงส์ทอง เพราะแม่โขงดูจะไม่ถูกชะตากับกระทรวงการคลังเป็นอย่างยิ่ง! บทบาทของกระทรวงการคลังทุกอย่างที่ทำลงไปดูเหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่ได้มองข้อเท็จจริง และ ลืมไปว่า “แม่โขง” คือ “ชื่อสินค้า” ของรัฐบาลที่ได้รับการพัฒนามายี่สิบกว่าปีแล้ว และเป็นสินค้าที่นำรายได้เข้ารัฐหลายหมื่นล้านบาท ส่วน “หงส์ทอง” นั้นเป็น “ชื่อสินค้า” ของเอกชนที่ได้สิทธิ์เช่าโรงงานมาผลิตเมื่อสัญญาหมด “หงส์ทอง” ก็ยังคงเป็นของเอกชนซึ่งอาจจะผลิตเองด้วยโรงงานเหล้าธาราที่นครไชยศรี ส่วนรัฐบาลก็ให้สิทธิ์เอกชนคนอื่นต่อไป ที่ได้แล้วก็จะมีเหล้าชื่อใหม่ออกมาอีก ข้อแตกต่างระหว่าง “แม่โขง” กับ “หงส์ทอง” ก็อยู่ตรงนี้!! กระทรวงการคลังนอกจากจะเก็บภาษีเหล้าไม่เท่ากันแล้ว ยังได้มีมาตรการหาเงินเข้าคลังจากภาษีสุรา ซึ่งเป็นมาตรการของการฆ่าแม่โขงทางอ้อมเช่น ...ได้มีการเสนอให้เพิ่มภาษีแม่โขงจากเดิมลิตรละ 60 บาท เป็นลิตรละ 80 บาท แต่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลไม่เห็นด้วยก็ตกไป ...ปลายปี 2525 กระทรวงการคลังเกิดอยากจะให้องค์การสุรากรมสรรพสามิต ผลิตเหล้าปรุงพิเศษ เพื่อขายทั่วราชอาณาจักรเหมือนแม่โขงของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะเปิดให้มีการประมูลผู้ขายส่ง และผู้ประมูลได้จะต้องสร้างโรงงานเพื่อผลิตเหล้านี้ แต่รัฐบาลยังไม่คล้อยตามเพราะยังมีคนเห็นว่าจะต้องคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของโรงงานสุราบางยี่ขัน เรื่องก็ถูกระงับไป ...ปลายปี 2525 กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงฉบับที่ 80 เปลี่ยนแปลงการเรียกเก็บภาษีสุราใหม่ โดยเรียกเก็บเป็น “หรือร้อยละ 32 ของมูลค่า” ซึ่งมาตรการ นี้หงส์ทองเสียภาษีจริง 26 บาท จึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด มีแต่แม่โขงซึ่งเจอเข้าหนักก็ตรงชนิดขวดแบน 350 ซีซี และ 187 ซีซี ซึ่งเป็นเหล้าของคนเบี้ยน้อยหอยน้อย ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก และก็เป็นหมากกลที่วางไว้ ถ้าแม่โขงขึ้นราคา จะต้องแบกภาษีถึง 2 ทาง คือค่าสิทธิ์ที่คิดจากร้อยละ 45.67 ของราคาขายปลีก และค่าภาษีที่คิดจากร้อยละ 32 ของมูลค่าจำหน่าย (ซึ่งหมากตัวนี้เกือบจะเป็นผลในภายหลังเมื่อรัฐมนตรี อบ วสุรัตน์ สั่งให้แม่โขงขึ้นราคา) กระทรวงอุตสาหกรรมเอง ซึ่งเป็นเจ้าของแม่โขง เคยเสนอให้แก้ไขภาษีสุราให้ยุติธรรมระหว่างแม่โขงกับหงส์ทอง ถึงขนาด อบ วสุรัตน์ จะเอาเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี แต่ “กำลังภายในของกลุ่มหงส์ทองเขาแข็งน่าดู เพราะเขาเล่นการเมืองกับการค้าแบบถึงลูกถึงคน ดูง่ายๆ ซิ อบ วสุรัตน์ ออกมาทำเสียงแข็งว่าต้องปรับภาษีหงส์ทองกับสุราผสมให้ใกล้เคียงกับภาษีแม่โขง เห็นเสียงดังว่าจะเอาเข้าคณะรัฐมนตรี พอวันต่อมา อบ วสุรัตน์ ก็ขอถอนกะทันหัน แล้วจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ไม่ให้เหตุผลอะไรเลยว่าทำไมถึงถอนแม้แต่แอะเดียว ทั้งๆ ที่ข่าวที่แกปล่อยไปว่าจะปรับลงหนังสือพิมพ์กันโฉ่งฉ่างไปหมด ไม่ทราบว่ามีอะไรไปอุดแกไว้" นักหนังสือพิมพ์ที่ติดตามข่าวแม่โขง หงส์ทอง ออกความเห็น และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ท่าทีของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเคยปกป้องผลประโยชน์ของแม่โขง ในฐานะเป็นสินค้าของกระทรวงอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนไป มีการย้ายนายวีระ สุสังกรกาญจน์ ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างสายฟ้าแลบ เพราะไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐมนตรี ซึ่งหนึ่งในนโยบายนั้นคือการให้แม่โขงรวมกับหงส์ทอง เพื่อตั้งบริษัทกลางขึ้นมา ซึ่งวีระ สุสังกรกาญจน์ คัดค้าน เพราะจะทำให้แม่โขงซึ่งเป็นของรัฐเสียประโยชน์ เมื่อฮั้วกันไม่ได้ ก็ต้องให้แม่โขงขึ้นราคา การให้แม่โขงขึ้นราคานั้นเป็นการอ้างเพื่อให้เสียสิทธิกับรัฐมากขึ้น แต่กระทรวงอุตสาหกรรมคงลืมไปว่าเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งได้อนุมัติให้แม่โขงลดราคาในต้นปี 2526 เพราะกระทรวงเองก็เห็นด้วยว่าแม่โขงกำลังถูกสุราข้ามเขตที่ขายผิดกฎหมายและไม่ต้องเสียสิทธิ เสียภาษีสรรพสามิตที่น้อยกว่าเกือบ 150% มาทำให้แม่โขงขายตก ทำให้จำนวนค่าสิทธิและภาษีรัฐได้น้อยลงเพียงไม่ถึง 120 ล้านบาทต่อเดือน (ตั้งแต่ ต.ค.-ก.พ.26) และหลังจากลดราคาแล้วตั้งแต่มีนาคม 26 จนถึงธันวาคม 26 ค่าสิทธิและภาษีรัฐได้รับเฉลี่ยเดือนละ 300 ล้านบาท (มากกว่าเดิมเกือบ 150%) ซึ่งก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า แม่โขงทำรายได้ให้รัฐมากกว่าเมื่อลงราคาสู้กับคู่ต่อสู้ มากกว่าสมัยซึ่งขายแพงแล้วขายไม่ออกทำให้รัฐขาดรายได้ และทันทีที่นายวีระ สุสังกรกาญจน์ เข้าสำนักนายกฯ อบ วสุรัตน์ ก็สั่งให้แม่โขงขึ้นราคาจากเดิมทันที! บทบาทของ อบ วสุรัตน์ ที่เปลี่ยนไปอย่างมากในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากจะเดาใจได้ เพราะตรรกวิทยาไม่สมพงษ์กันเลยแม้แต่ข้อเดียว ตั้งแต่เคยขอให้ขึ้นภาษีสุราหงส์ทองให้ยุติธรรมแก่แม่โขงมาเป็นถอนเรื่องออกแล้วปิดปากเงียบ จนกระทั่งถึงสั่งให้แม่โขงรวมกับกลุ่มหงส์ทองเพื่อตั้งบริษัทกลาง จนสุดท้ายสั่งให้แม่โขงขึ้นราคา “ความจริงทางฝ่ายเตชะไพบูลย์เขาก็รู้จักทางคุณอบดี สมัยหนึ่งลูกเขยคุณอุเทนคือ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ก็เคยอยู่พรรคประชาธิปไตย และมีข่าวว่าจะลงสมัครที่ชลบุรี แต่ตอนหลังคุณอุเทนสั่งห้ามเล่นการเมืองเด็ดขาดเพราะกลุ่มนี้เขาเป็นพ่อค้าอยากค้าขายอย่างเดียว ไม่ต้องการเอาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ก็เลยอาจจะไม่ดีนัก” แหล่งข่าวทางการเมืองชี้แจงให้ฟัง ถึงกับมีข่าวภายในว่า มีกลุ่มเหล้ากลุ่มหนึ่งแกล้งทำเงินตกประมาณ 200 ล้านบาท แถวๆ กระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้แม่โขงขึ้นราคา “เท็จจริงแค่ไหนก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าธุรกิจเหล้าเป็นหมื่นล้าน สองร้อยล้านมันแค่ 2% มันเล็กน้อยเหลือเกินแต่สองร้อยล้านก็สามารถทำอะไรในพรรคการเมืองได้เหมือนกัน เช่นซื้อเสียง ส.ส. หรือปิดปากข้าราชการ อย่างว่าเมืองไทยมันเน่าเฟะ มันดูจะดีอยู่พักหนึ่งแต่ดูจริงๆ แล้วมันชักจะเริ่มกลับไประบบเก่า เงินไม่เข้าใครออกใคร มันสามารถทำให้คนลืมหลักการ และอุดมการณ์ได้เหมือนกัน” อาจารย์จุฬาฯ คนเดิมกล่าวเสริม

2522 แม่โขงสีเลือด ศึกศักดิ์ศรีและชื่อเสียงวงศ์ตระกูล

ในที่สุดการประมูลแม่โขงในช่วงที่ 3 ก็เริ่มในรัฐบาลชุดเกรียงศักดิ์ 2 “งานนี้เตชะไพบูลย์ประกาศอย่างหนักแน่นว่า แพ้ไม่ได้ เพราะเป็นศักดิ์ศรี เสียเท่าไรเท่ากัน แต่จะให้ฝ่ายเถลิงประมูลไปไม่ได้” “ตระกูลเตชะไพบูลย์ค้าขายในหมู่คนจีนมานานแล้วและก็เป็นที่เคารพกันในหมู่พ่อค้าคนจีนด้วย พวกกลุ่มเตชะไพบูลย์ถือว่าถูกเถลิงลบเหลี่ยมทางการค้ามาตลอด มันก็เลยเป็นเรื่องต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเถลิงจะได้แม่โขงไปไม่ได้เพราะไม่งั้นแล้วคนอื่นจะไม่นับถือต่อไป” พ่อค้าคนจีนเล่าให้ฟัง บุคคลที่ตกอยู่ในฐานะลำบากใจที่สุดในขณะนั้นคือ อุเทน เตชะไพบูลย์ ประธานบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด เพราะฝ่ายหนึ่งคือ สุเมธ เตชะไพบูลย์ ผู้เป็นน้องชาย อีกฝ่ายคือ เถลิง เหล่าจินดา ผู้เป็นหุ้นส่วนและลูกน้องที่ตนรักใคร่ไว้วางใจมาตลอดเวลา ในตอนมีการประมูลเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันครั้งหลังสุดนี้ อุเทนได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ และสปิริตของตัวเอง เซ็นชื่อในซองเปล่าของเถลิง เหล่าจินดา ซึ่งประมูลในนามบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด ด้วย โดยไม่เห็นตัวเลขที่เถลิงเสนอ ขณะเดียวกันอุเทนก็ไม่ยอมเซ็นชื่อในซองประมูลของกลุ่ม “เตชะไพบูลย์” ที่ตนเป็นประธานอยู่ ทำให้สุเมธ เตชะไพบูลย์ ต้องยื่นประมูลเพียงซองเดียวคือซองของบริษัท สุรามหาราษฎร จำกัด ซึ่งสุเมธเป็นประธานเอง ในการประมูลครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจของเหล้ากำลังเป็นธุรกิจเต็มตัวที่รัฐจะได้รายได้เป็นกอบเป็นกำแทนการต่อสัญญา ซึ่งใช้อำนาจและอิทธิพล การประมูลนอกจากจะให้รายได้รัฐมากขึ้นแล้ว ก็จะเป็นการแสดงให้เห็นจริงๆ ว่าธุรกิจเหล้านั้นผู้ประกอบการมีกำไรเท่าใด และถ้าผู้ประกอบการต้องมาแข่งกันประมูลก็หมายความว่ากำไรที่ตัวเองเคยได้อย่างมหาศาลนั้นก็ต้องยอมลดไปโดยมอบให้รัฐ แล้วตัวเองก็จะได้ส่วนที่คิดว่าคุ้มกับการลงทุน ในช่วงเกรียงศักดิ์ 2 นั้น สถานภาพทางทหารที่เคยมีเอกภาพได้หมดไป ไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาดเหมือนสมัยสฤษดิ์และถนอม ประภาส เถลิงตัดสินใจเข้าหาประสิทธิ์ ณรงค์เดช ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในขณะที่กลุ่มเตชะไพบูลย์ มุ่งไปยังเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แล้วสงครามน้ำเมาบนรายได้เป็นหมื่นล้าน ก็เริ่มขึ้นอย่างถึงพริกถึงขิง! ยกแรกรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศออกมาเลยว่าไม่จำเป็นว่าผู้ประมูลสูงสุดถึงจะได้ (ตัวเลขที่เสนอมาต้องเป็นไปได้) ยกแรกเถลิงชนะเพราะสามบริษัทที่กระทรวงอุตสาหกรรมเลือกขึ้นมาเป็นสามบริษัทของเถลิงทั้งนั้น บริษัทสุรามหาราษฎรของกลุ่มเตชะไพบูลย์ ถูกตัดขาดไปเรียบร้อย ข่าวนี้ทำเอาในวงการปั่นป่วนพอสมควรคิดว่ากลุ่มเตชะไพบูลย์จะต้องพ่ายเถลิงแน่ๆ ยกที่สองเมื่อถึงวาระต้องเอาเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติ คำแรกที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในฐานะนายกฯ ได้ถามออกมา ถ้าเถลิงนั่งอยู่ด้วยก็คงจะต้องใช้ยาดมแน่ เพราะพลเอกเกรียงศักดิ์ถามว่าในบรรดาผู้ที่ประมูลมามีใครที่ให้ผลประโยชน์กับรัฐสูงสุด? รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ตอบว่า มี แต่ทำไม่ได้! พลเอกเกรียงศักดิ์ไม่ยอมเพราะถ้ารัฐได้ประโยชน์สูงสุดก็ควรจะให้คนที่เสนอสูงสุดได้ไป ส่วนทำไม่ได้ก็มีเงื่อนไขบังคับและปรับอยู่แล้ว ในที่สุดคณะรัฐมนตรีต้องลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินให้แน่ชัดว่าใครจะได้ สุรามหาราษฎรได้ไปด้วยคะแนนเสียงที่ชนะกัน 3 เสียง “ในหมู่คนจีนเขาพูดกันเลยว่ากลุ่มเตชะไพบูลย์เหมือนเป็นผีในป่าช้าที่โดนขุดขึ้นมาแล้วปลุกให้เป็นคนออกมาสู้จนชนะ” พ่อค้าจีนคนเดิมเสริมต่อ การพ่ายแพ้ครั้งนั้นของกลุ่มเถลิงเป็นการพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ทั้งนี้เพราะเถลิงประมาทกลุ่มเตชะไพบูลย์จนเกินไป “ทางเถลิงเขามองพวกเตชะไพบูลย์ผิดไปหลายขุม ทั้งๆ ที่เขาเองก็มั่นใจในเส้นสนกลในพอสมควรอย่าลืมว่าบริษัททีซีซีของเขานั้นมีพนักงานระดับบริหารคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกเขยพลเอกพร ธนะภูมิ ซึ่งในขณะนั้นเป็นเลขาธิการนายกฯ เกรียงศักดิ์ อีกประการหนึ่งโรงเหล้าธาราเขาก็ซื้อไปจากคุณประสิทธิ์ ณรงค์เดช ซึ่งในเวลานั้นคือเจ้ากระทรวงอุตสาหกรรมเจ้าของเรื่องแม่โขง เรียกได้ว่าทุกอย่างมันอยู่ในกระเป๋าหมดแล้ว” พ่อค้าสุรารายขนาดกลางเล่าให้ฟัง แต่ที่เถลิงคิดไม่ถึงคือ ผลประโยชน์ตอบแทนซึ่งกลุ่มเตชะไพบูลย์ได้มอบให้รัฐบาลถึง 45.67% ของราคาขายปลีก! ความจริงงานนี้เตชะไพบูลย์ชนะได้เพราะหลักการเขาดีกว่าตรงที่ว่าเขาให้ผลประโยชน์รัฐสูงที่สุดซึ่งข้อนี้คนอื่นจะเถียงไม่ได้ และข้อกล่าวหาที่ว่าเขาจะทำไม่ได้ภายหลังนั้นก็ไม่ถูกเพราะเขาพิสูจน์แล้วว่าเขาทำได้ถึงแม้เขาจะลดราคาเหล้าลงต่อขวด ทำให้รัฐได้ผลประโยชน์น้อยลงแต่เมื่อเอาปริมาณเข้าวัด รัฐกลับได้มากขึ้น” เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมพูดกับ “ผู้จัดการ” ในช่วงนั้นพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นข่าวคราวขึ้นมาว่าได้ไปดูแลการประมูลถึงกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของนายกฯ จะต้องไป “มีข่าวมาว่าคุณอุเทนได้ตีกอล์ฟตัวต่อตัวกับพลเอกเกรียงศักดิ์ก่อนการประมูล” นักสังเกตการณ์เรื่องเหล้าพูดออกมา “ท่านนายกฯ มีส่วนได้ส่วนเสียก็คงจะถูก แต่คงไม่ใช่ส่วนตัว หากแต่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ทำให้รัฐได้ค่าสิทธิ์สูงถึงร้อยละ 45.67 จนกระทั่งบัดนี้” ฝ่ายแม่โขงออกตัวมา จะอย่างไรก็ตาม มันก็เป็นการยากที่จะไปล้มหลักการของกลุ่มเตชะไพบูลย์ที่เสนอสิทธิ์สูงสุดให้แก่รัฐ พลเอกเกรียงศักดิ์กลับจะต้องเป็นฝ่ายตอบคำถามประชาชนทีหลังถ้าไม่ให้กลุ่มเตชะไพบูลย์เป็นผู้ชนะเพราะ “คุณมีเหตุผลอะไรมาอ้างว่าเขาทำไม่ได้ ถ้าคุณให้กลุ่มเถลิงชนะโดยค่าสิทธิ์น้อยกว่ากลุ่มเตชะไพบูลย์มาก คุณเกรียงศักดิ์เองนั่นแหละจะถูกประชาชนชี้หน้าว่ารับเงินของเถลิงเมาเท่าไร” เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมคนเดิมพูดต่อ

กว่าจะมาเป็นแม่โขง

แม่โขงที่โรงงานสุราบางยี่ขัน ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากคลองบางยี่ขัน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในท้องที่แขวงบางปูน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร อันเป็นโรงงานที่มีประวัติเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ครั้งเริ่มสร้างกรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยเรียกกันว่ากรุงรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่ บรมจินตกวีของไทยก็ยังเคยเขียนนิราศกล่าวถึงโรงงานสุราบางยี่ขันนี้ “ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา" ในสมัยนั้นโรงงานสุราบางยี่ขัน เป็นสมบัติของนายอากร ซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ให้ทำการผูกขาดผลิตสุราออกจำหน่ายในกรุงเทพมหานครซึ่งอาจรวมถึงหัวเมืองที่อยู่ติดต่อใกล้เคียงด้วย สุราที่ผลิตคงเป็นสุราขาวหรือที่เรียกตามภาษาตลาดว่า เหล้าโรง ในปี พ.ศ. 2457 โรงงานสุราบางยี่ขัน จึงได้ตกมาเป็นสมบัติแผ่นดินโดยบทบัญญัติของ กฎหมายสุรา กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ได้เป็นผู้ปกครองดูแล โรงงานนี้ตลอดมา แต่ได้เรียกประมูลเงินผลประโยชน์เข้ารัฐในรูปต่างๆ เช่น เงินพิเศษ เงินค่าปรับเนื่องจากจำหน่ายสุราต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดในสัญญา ฯลฯ แล้วตั้งผู้ประมูลได้ให้เป็นผู้รับอนุญาตผลิตสุราออกจำหน่าย ภายในเขตที่กำหนดให้เป็นเขตจำหน่ายสุราของโรงงานมา พ.ศ.2470 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งการปกครองยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ครบกำหนดหมดอายุสัญญาอนุญาตให้ต้มกลั่นและจำหน่ายสุรา ซึ่งพระสวามิภักดิ์ภูวนารถเป็นผู้รับอนุญาตคู่สัญญากับกรมสรรพสามิตคนสุดท้าย กรมสรรพสามิตจึงได้ระงับการอนุญาตให้เอกชนเป็นผู้รับอนุญาตผลิตและจำหน่ายสุรา และกรมสรรพสามิตได้เข้าทำการผลิตสุราที่โรงงานสุราบางยี่ขันเอง แต่การจำหน่ายคงใช้วิธีประมูลเงินผลประโยชน์ตั้งผู้ทำการขายส่งเป็นเขตๆ ไป สุราที่กรมสรรพสามิตทำการผลิตจำหน่ายยังคงเป็นสุราขาวอยู่ตามเดิม แล้วภายหลังได้ผลิตสุราผสมโดยใช้เครื่องสมุนไพรตามเภสัชตำรับของยาดองเหล้าในครั้งโบราณสกัดโดยแช่สุราดีกรีสูงทำเป็นน้ำเชื้อ แล้วนำมาปรุงแต่ง รส กลิ่น สี และแรงแอลกอฮอล์ตามกรรมวิธีเป็นสุราผสมโดยใช้ดื่มโดยไม่ผสมกับโซดา ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของประชาชนที่นิยมดื่มยาดองเหล้าแทนสุราขาว ต่อมากรมสรรพสามิตได้พยายามพัฒนาการทำสุราผสมไปเป็นการทำสุราปรุงพิเศษ โดยค้นคว้าทดลองสกัดทำน้ำเชื้อที่จะใช้ในการปรุงจากเครื่องสมุนไพรต่างชนิดกับที่ใช้ในการทำสุราผสม และสุราปรุงพิเศษนี้จะดื่มโดยผสมโซดาหรือไม่ผสมโซดาก็ได้ เพราะกำลังมีผู้นิยมดื่มสุราผสมโซดากันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็มีแต่สุราประเภทวิสกี้จากต่างประเทศเท่านั้น ต้องอาศัยเป็นผู้มีรายได้สูงจึงจะดื่มได้ เพราะวิสกี้มีราคาแพง ถ้าหากหันมาดื่มสุราปรุงเศษของไทย แทนวิสกี้ ก็จะเป็นการประหยัดและไม่สิ้นเปลืองเงินตราต่างประเทศในการสั่งซื้อวิสกี้เข้ามาจำหน่าย สุราปรุงพิเศษที่กรมสรรพสามิตได้ผลิตจากโรงงานสุราบางยี่ขัน ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกคือ สุรา ว.ก. (เรียกแทนวิสกี้) และสุรา บ.ด. (เรียกแทนบรั่นดี) ต่อมาในไม่ช้าประเทศไทยเรียกร้องดินแดนที่ฝรั่งเศสได้ใช้อำนาจบีบบังคับเอาไปผนวกเข้ากับประเทศในอาณานิคมของตนคืนจากฝรั่งเศส จนเกิดกรณีพิพาทกันขึ้นและหลวงวิจิทรวาทการได้ประพันธ์เพลงปลุกใจคนไทยให้รักชาติ และกล้าเข้าสู่สมรภูมิ ดูเหมือนเพลงจะชื่อว่า “ข้ามโขงไปสู่แคว้นแทนไทย” และ “โขงสองฝั่งเหมือนฝั่งเดียวกัน” อิทธิพลของเพลงจูงใจให้กรมสรรพสามิตตั้งชื่อสุราปรุงพิเศษ 35 ดีกรี ที่ได้ผลิตขึ้นใหม่ในปี 2484 ว่า “แม่โขง” อันนับได้ว่าเป็นนามตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่ง ณ บัดนี้ นับเวลาได้ 40 ปี ก็ยังคงดำรงอยู่และจะคงดำรงต่อไปชั่วกาลนาน ในสมัยที่มีการผลิตสุราแม่โขงออกสู่ตลาดนั้น น.ต.จบ ศิริไพบูลย์ ร.น. เป็นผู้อำนวยการ โรงงานสุราบางยี่ขัน หลวงบรรณกรรัชตภัณฑ์ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงงาน และนายประเสริฐ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นพนักงานชั้นหัวหน้าของโรงงงาน เมื่อได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงอุตสาหกรรมขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2486 ซึ่งเป็นระยะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ขยายตัวมาสู่เอเชียบูรพา และประเทศไทยได้เข้าอยู่ในสถานะสงครามด้วย โรงงานสุราบางยี่ขันพร้อมด้วยโรงงานสุราจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโรงงานสุราจังหวัดสงขลา ได้ถูกโอนจากกรมสรรพสามิตมารวมเป็นโรงงานสุราในกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนราชการของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว หลวงบรรณกรรัชตภัณฑ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานสุรา กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2488 แทน น.ต.จบ ศิริไพบูลย์ ร.น. ซึ่งได้ถึงแก่กรรม นอกจากได้ริเริ่มที่จะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์แผนใหม่ในบางขั้นตอนของการผลิตสุราแม่โขงเป็นการเร่งผลิต ทั้งในคุณภาพและปริมาณในขั้นต่อไปดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังเป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของสุราแม่โขงอีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า ได้เปลี่ยนใช้ขวดกลมขาว ขนาด 750 ลูกบาศก์เซนติเมตร บรรจุแทนขวดกลมสีเขียวขนาด 625 ลูกบาศก์เซนติเมตร ที่ใช้อยู่เดิม ส่วนฉลากก็เปลี่ยนจากฉลากพื้นขาวลวดลายเขียนอย่างง่ายๆ สีเขียวมาใช้ฉลากพื้นขาวมีคำว่า “แม่โขง” เขียนเป็นลวดลายสีแดง ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ของสุราแม่โขงมาจนกระทั่งปัจจุบัน ปากขวดเดิมใช้ชุบครั่งแดงหุ้มจุก ก็ได้เปลี่ยนใช้แคปซูลตะกั่วผลิตจากโรงงานกษาปณ์กระทรวงการคลังแทน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโฉมสร้างความน่าดูและความเชื่อถือในคุณภาพให้แก่สุราแม่โขงยิ่งขึ้น ส่วนประกอบต่างๆ ของสุราแม่โขงนี้ ได้รับการปรับปรุงวิวัฒนาการในสมัยหลวงบรรณกรรัชตภัณฑ์ เป็นผู้อำนวยการ และในสมัยต่อมาอีกหลายประการ รวมทั้งได้ใช้ขวดแบนสีขาว ขนาด 375 ลูกบาศก์เซนติเมตร และ 187.5 ลูกบาศก์เซนติเมตร ออกจำหน่ายด้วย ความต้องการบริโภคสุราแม่โขงได้เพิ่มตัวสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง โดยความขาดแคลนสุราต่างประเทศในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังดำเนินอยู่ เป็นกำลังกระตุ้นเตือน แต่เมื่อได้หมดภาวะสงคราม มีสุราต่างประเทศตกเข้ามีปริมาณเพิ่มอยู่เรื่อยๆ ความต้องการบริโภคสุราแม่โขงก็คงยังมีเพิ่มขึ้นมากตลอดมา ทำให้การบรรจุสุราลงขวดเพื่อส่งออกจากโรงงานไปเพื่อการจำหน่าย จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลเข้าช่วยนับตั้งแต่ชั้นทำความสะอาดของขวดจนถึงการบรรจุสุราลงขวด จึงได้มีการสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อตั้งเครื่องล้างขวด และบรรจุสุรา และได้ทำการสั่งซื้อเครื่องจากประเทศฝรั่งเศสในสมัยนายนิตย์ ใบเงิน เป็นผู้อำนวยการโรงงานสุรา แต่ด้วยความจำเป็นบางประการ ได้ระงับการประกอบติดตั้งเครื่อง ซึ่งได้เข้ามาถึงแล้ว ต่อมารัฐบาลในปี พ.ศ.2502 มีนโยบายให้เอกชนเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันไปทำการผลิตสุราออกจำหน่าย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 เป็นต้นไป มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี ซึ่งบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เช่าโดยเสียค่าเช่าปีละ 41 ล้านบาท แล้วภายหลังบริษัทนี้ได้รับการต่อสัญญาอีก 10 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 โดยเสียค่าเช่าปีละ 55 ล้านบาท กับส่วนแบ่งผลกำไรสุทธิอีกร้อยละ 25 บริษัทสุรามหาราษฎร จำกัด ได้เข้าสู่การประมูล ในปี พ.ศ.2522 ให้เงินค่าสิทธิสูงสุด และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้เช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 มีกำหนด 15 ปี

"สุรามหาราษฎร" หรือ "สุราทิพย์" มาแล้วก็จากไป มีแต่ "แม่โขงกับกวางทอง" เท่านั้น ที่ต้องอยู่ตลอดไปเพราะเป็นของคนไทย

ยุทธจักรเหล้าแต่ไหนแต่ไรมาเป็นเรื่องของผลประโยชน์ก้อนมหาศาลที่ไม่เข้าใครออกใคร การเริ่มของโรงงานสุราบางยี่ขันกับเหล้าแม่โขงเป็นการเริ่มที่ถูกต้อง เพราะเป็นการหารายได้เข้ารัฐโดยให้รัฐผลิตสินค้าที่ประชาชนต้องซื้อมาบริโภค 2503 เป็นจุดเปลี่ยนแปลงจุดแรกที่มีการให้สัมปทานโดยใช้อภิสิทธิ์ไม่มีการประมูล ทั้งนี้เราอาจจะตำหนิระบบการปกครองแบบเผด็จการก็ได้ ซึ่งเป็นตัวการส่งเสริมให้ผู้มีอำนาจซึ่งเผอิญเป็นทหารที่ถือปืนให้อภิสิทธิ์ออกไป 2513 เป็นสัญญาช่วงที่สองซึ่งก็ยังคงเป็นผลพวงของเผด็จการทหารที่ทำให้ธุรกิจไม่เป็นธุรกิจ ทำให้รัฐบาลขาดรายได้อันพึงควร 2523 เป็นช่วงสัญญาครั้งที่สามซึ่งเป็นครั้งแรกที่แม่โขงเริ่มหลุดพ้นจากอิทธิพลทางการเมืองและการทหารอย่างเด็ดขาด ส่วนหนึ่งที่สำคัญมากคือ บรรยากาศทางการเมืองซึ่งเอื้ออำนวยให้ระบบธุรกิจได้มีโอกาสพัฒนาตัวของ มันเองโดยปราศจากการแทรกแซงจากอิทธิพลภายนอก และก็มีหลักฐานประจักษ์พยานพิสูจน์เห็นชัดว่า เมื่อพ้นจากอิทธิพลของการเมืองและทหารแล้ว ผลประโยชน์ก็ตกเป็นของรัฐทันที เรื่องนี้ต้องถือว่าเป็นนิมิตที่ดีมาก เพราะเมื่อได้อะไรมาด้วยอภิสิทธิ์ การเก็บรักษาหรือทำการย่อมไม่มีความจริงใจต่อสิ่งนั้น เพราะต้องมัวปันใจไปให้ผู้มอบอภิสิทธิ์ และถ้าสิ่งที่ได้มาทำการนั้นเป็นสมบัติของชาติ เช่น แม่โขง ความจริงใจในอดีตก็ไม่มี เพราะถ้ามีความจริงใจแล้วผลประโยชน์จะต้องมอบให้รัฐได้เต็มที่ กลุ่มสุรามหาราษฎร กับกลุ่มสุราทิพย์ต่างก็เป็นพ่อค้าด้วยกันทั้งคู่ ชั้นเชิงทางการค้าที่ต่างฝ่ายต่างฟาดฟันกันก็เป็นเรื่องธรรมดาในวงการธุรกิจ หน้าที่ของรัฐก็คือ การตักตวงผลประโยชน์และวางตัวเป็นกลางป้องกันไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้ำเส้น ถ้ารัฐหรือผู้บริหารของรัฐผู้ใดบกพร่องในเรื่องวางตัวแล้วก็เท่ากับว่าผู้นั้นไม่ได้ทำหน้าที่รับใช้ประเทศชาติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ส่วนกลุ่มสุรามหาราษฎรและกลุ่มสุราทิพย์ ต่างฝ่ายต่างก็มีหน้าที่ของการรับใช้ประเทศชาติในฐานะภาคเอกชน ในการประมูลของรัฐเมื่อชนะไปแล้วก็สมควรจะปฏิบัติตามเงื่อนไข ถ้าปฏิบัติไม่ได้ก็ต้องประสบกับภาวการณ์ไปตามครรลอง อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าตัวเองไม่รอบคอบในการทำการค้า! การที่ต้องพลาดเพราะมีจิตใจมุ่งมั่นในการทำลายคู่ต่อสู้มากกว่าความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจการค้าทั่วๆ ไป ก็ย่อมสมควรแล้วที่จะต้องรับผลจากการกระทำ ซึ่งตัวเองเป็นผู้ก่อทั้งสิ้น!!! แต่ถ้าจะดิ้นโดยการลากเอาการเมืองและการทหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั้นนอกจากจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนทำงานไม่มีฝีมือแล้ว ยังจะต้องถูกประวัติศาสตร์จารึกลงไปอีกว่า เป็นคนที่มีส่วนในการทำให้ระบอบการปกครองของประเทศถอยหลังเข้าคลองไปอีก ส่วนนักการเมืองหรือผู้บริหารประเทศคนใดที่ถูกลากเข้ามาในเวทีนี้ก็ควรจะระลึกเสมอว่า ความถูกต้องคือสัจธรรมของอุดมการณ์ เพราะถ้าขาดแล้วซึ่งอุดมการณ์ก็จะเป็นคนที่มีแต่ร่างกายที่ทำงานได้แต่ก็ไม่มีชีวิต ในสี่ห้าปีที่ผ่านมาประเทศชาติได้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ มาด้วยดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระบรมเดชานุภาพของพระราชวงศ์จักรี อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยในทุกสาขาอาชีพต่างรู้ตัวว่ามีหน้าที่อะไรในชาติ สี่ห้าปีที่ผ่านมาเราได้เห็นนิมิตที่ดีหลายประการเช่น ข้าราชการที่เริ่มจริงจังกับบทบาทของตนเองในการพัฒนาประเทศ ประชาชนที่เข้าใจปัญหาของชาติและให้ความร่วมมือด้วยดีตลอดมาในยามที่ขมขื่นก็อดทน พ่อค้าที่เริ่มจะกลับสู่ระบบธุรกิจที่ปราศจากอภิสิทธิ์หากจะต้องแข่งขันกันมากขึ้น ทหารก็รู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชาติ และได้กำจัดบทบาทของตัวเองซึ่งเคยออกมาในรูปของการใช้อำนาจสร้างอภิสิทธิ์จนหมดสิ้นไป จนปัจจุบันนี้ภาพลักษณ์ของทหารก็ดูดีกว่าเก่ามาก นักการเมืองเองก็รู้ว่าสถาบันการเมืองจะอยู่ได้ถ้านักการเมืองมีความจริงใจต่อสังคมและประชาชน เมื่อทุกอย่างเริ่มที่จะเข้าสู่ในสิ่งที่ดีและเป็นนิมิตที่ดีว่า ประเทศชาติมีทั้งเสถียรภาพทางการเมืองและการค้าที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้สินค้าของชาติขายดีกว่าเก่าแล้ว มันจะเป็นการถอยหลังเข้าคลองถ้าปัญหาของสุราถูกการเมืองและการทหารเข้ามาแทรกแซง เพียงเพราะอีกฝ่ายหนึ่งจะอยู่ไม่ได้เนื่องจากประมูลให้ตัวเลขแก่รัฐสูงเกินไป และมันจะยิ่งเป็นการชัดเจนถ้าอีกฝ่ายจะอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อสมบัติของรัฐคือเหล้าแม่โขงถูกเบียดเบียนผลประโยชน์ออกไปเพื่อให้เหล้าหงส์ทองซึ่งเป็นสินค้าของเอกชนอยู่ได้ และถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ ในวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อแม่โขงเกิดขายไม่ออกและต้องพับฐานไป หน้าไหนจะกล้าลุกขึ้นมายกมือแสดงความรับผิดชอบว่า ตัวเองเป็นส่วนที่ทำให้มันต้องเป็นเช่นนี้ เหล้าเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการอย่างมหาศาล กำไรก้อนนี้เป็นแรงดึงดูดใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่เคยเกี่ยวข้องต้องวนเวียนกลับมาเมากับมันอีก แม้แต่ธนาคารกรุงเทพซึ่งแนวทางธุรกิจก็ไม่เคยออกมาในด้านนี้มากมายนัก ก็เริ่มกระโดดเข้ามาเล่นอย่างเต็มตัว ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนมันมหาศาล แต่ในการทำธุรกิจถ้าใครจะพึ่งแต่ฐานอำนาจทางการเมืองและอิทธิพลทางการทหารมาหนุนเพียงอย่างเดียวแล้ว วิธีการนั้นก็จะเป็นหอกที่จะคืนมาสนองให้ตัวเองได้ในวันหนึ่งถ้าเกิดมีอีกกลุ่มที่มีอำนาจเหนือกว่าตัวเอง ซึ่งตัวอย่างที่เกิดขึ้นในรอบเกือบสิบปีที่ผ่านมาก็พอจะมีให้เห็นได้บ้าง ซึ่งในที่สุดแล้ว “สุรามหาราษฎร” และ “สุราทิพย์” จะมาแล้วก็จากไป มีแต่ “แม่โขงกับกวางทอง” เท่านั้นที่จะต้องอยู่ตลอดไปเพราะเป็นของคนไทย

ขบวนการปล้นชาติ 15,000 ล้านบาท

ไม่เคยมีธุรกิจใดในประวัติศาสตร์ไทย ที่จะยุ่งวุ่นวาย และใช้อิทธิพลทุกรูปแบบไปจนกระทั่งเกี่ยวพันกับสถาบันการเงินถึง 7 แห่ง เหมือนธุรกิจเหล้าของกลุ่มสุราทิพย์ และก็ไม่เคยมีใครเคยเห็นได้กู้เงินกว่าครึ่งหมื่นล้านโดยไม่เพียงเอาลายเซ็นค้ำประกันนอกจากผู้บริหารกลุ่มสุราทิพย์ 4-5 คนนี้เท่านั้น และไม่เคยมีคนในวงการธุรกิจใดๆ ในประเทศที่จะเห็นแก่ได้มากเท่ากับกลุ่มสุราทิพย์เช่นกัน! ตำนานเหล้าหงส์ทองของกลุ่มสุราทิพย์นี้ผู้จัดการเคยเขียนลงใน "ผู้จัดการ" เป็นภาคที่ 1 (ฉบับเดือนเมษายน 2527) และภาคที่ 2 (ฉบับเดือนธันวาคม 2528) มาแล้ว และเมื่อมีการรวมตัวกันระหว่างแม่โขงกับหงส์ทองนั้นก็เป็นเกมที่พอจะมองกันออกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นขบวนการร่วมมือกันโกงผลประโยชน์ของชาติอย่างหน้าด้านๆ ที่สุด ตำนานเหล้าครั้งนี้จำเป็นที่จะต้องมีคนจารึกลงไปในประวัติศาสตร์เพื่อเป็นเครื่องเตือนความจำให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะคนไทยในอนาคตควรที่จะต้องรับทราบว่าธุรกิจเหล้านั้น ได้ถูกกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งบิดเบือนข้อเท็จจริงใช้อิทธิพลทางการเมืองและใช้สถาบันการเงินร่วมมือกับข้าราชการที่เห็นแก่ได้บางคนกระทำการหาวิธีการแก้ไขสัญญาประมูล เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บรรดาพ่อค้าเหล้าทั้งหลาย โดยบิดเบือนข้อเท็จจริงต่อสาะารณชน สงครามเหล้าเป็นสงครามที่ชิงไหวชิงพริบกันอย่างถึงพริกถึงขิงง ตามลักษณะของธุรกิจการค้า ระหว่างเหล้าแม่โขงของกรมโรงงานอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม และกลุ่มโรงงานสุรา 12 โรงที่ผลิตเหล้าหงส์ทองของกรมสรรพสามิตกระทรวงการคลังทั้งคู่ต่างก็ประมูลได้มาจากหน่วยงานของรัฐบาลทั้งสิ้น แตกต่างในเรื่องเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ไปตามระเบียบและกฎเกณฑ์ที่เจ้ากระทรวงได้กำหนดลงมา เพื่อเป็นประโยชน์แก่รัฐ ทั้งคู่เข้าประมูลและก็ประมูลได้สิทธิขาดในการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยผู้แพ้ประมูลโรงงานสุราบางยี่ขันที่ผลิตแม่โขงและกวางทอง ได้ทุ่มตัวเองเข้ามาประมูลโรงงานสุรา 12 โรงงานของกระทรวงการคลังเพืยงตัวเองจะได้ปิดตลาดและฟาดฟันกับแม่โขงได้อย่างสะใจ "เค้าแห่งการทุ่มเทกำลังเข้าช่วยกลุ่มสุราทิพย์โดยกระทรวงการคลังเป็นพี่เลี้ยงและกรมสรรพสามิตเป็นหัวหอกก็เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว ในเดือนมกราคม 2528 กลุ่มสุราทิพย์ยังไม่สามารถส่งมอบโรงงาน 12 โรงให้กับกรมสรรพสามิตได้ตามสัญญา และพยายามจะขอยกเว้นเงินค่าปรับวันละ 1.2 ล้านบาท รองอธิบดีกรมสรรพสามิต นายบรรหาร บัณฑุกุล ได้แสดงความเห็นใจชนิดที่น้ำตาแทบจะไหลออกมาว่า ทางกรมฯ จะร่วมกับคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาผ่อนผันการรับมมอบโรงงาน ซึ่งบริษัทสุราทิพย์เสนอขอยืดไปอีก 6 เดือน ยิ่งกว่าการชี้โพรงให้กระรอกเสียอีก! แต่นั่นก็คือแผนการขนาบแม่โขงทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ข้างหน้าโดย อบ วสุรัตน์ กับ ธาตรี ประภาพรรณ โดยใช้จำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นคนคู่กายคู่ใจของอบด้วยฟาดฟันแม่โขงไม่ให้ขายเกินราคาและตั้งแท่นให้ปรับแม่โขงพันกว่าล้านบาท! ส่วนข้างหลังก็โดยกระทรวงการคลังใช้นโยบายอะลุ้มอล่วยกับกลุ่มสุราทิพย์กันอย่างชื่นมื่น! และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 28 ยุทธการบีบแม่โขงก็เริ่มมองออกให้เห็นรางๆ กันแล้ว ในขณะที่กระทรวงการคลังทุ่มจนสุดตัวเพื่อช่วยกลุ่มหงส์และกระทรวงอุตสาหกรรมอัดแม่โขงจนสุดแรง เพื่อให้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากันไป ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ วีระ สุสังกรกาญจน์ กำลังโดนจวกหนัก ซึ่งกรณีของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมวีระนั้น เมื่อมาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังแล้วก็จะเห็นข้อแตกต่างและก็จะเข้าใจรายการรุมกินโต๊ะจีนของทั้ง 2 กระทรวงที่มีต่อบริษัทสุรามหาราษฎรอย่างเห็นได้ชัด ปลัดวีระถูกนายอบตั้งกรรมการชุดที่สองจำนวน 5 คน ขึ้นมาสอบหลังจากที่กรรมการชุดแรกบอกว่าเขาไม่ผิด กรรมการชุดที่สองบอกว่าปลัดวีระผิดเพราะ :- 1. ไม่ควรให้แม่โขง-กวางทอง ลดราคา 2. ไม่ปฏิบัติตามมติครม.เรื่องการทำสัญญา 3. ไม่สามารถสั่งการให้บริษัทสุรามหาราษฎรปรับราคาให้สูงขึ้นได้ เนื่องจากไม่ได้มีการทำสัญญาเพิ่มเติมมติครม. แต่เมื่อเรื่องถูกสรุปและส่งไปสำนักนายกฯ ซึ่งเป็นเจ้าสังกัดของวีระ สุสังกรกาญจน์ ปรากฏว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็บอกออกมาชัดแจ้งแดงแจ๋ว่า วีระไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา และถ้าเราหันมาดูการทำงานของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงการคลังแล้ว เราจะเห็นว่ามีข้อกล่าวหาต่างๆ ดังนี้ :- 1. ทำไมกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตไม่ดำเนินการให้สุราทิพย์จ่ายค่าปรับและจ่ายค่าสิทธิผลประโยชน์ ที่ต้องจ่ายให้รัฐตามสัญญา (ข้อนี้ถือได้หรือไม่ว่าอธิบดีกรมสรรพสามิตสมัยนายอรัญ ธรรมโน ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยละเลยและเพิกเฉย) 2. กระทรวงการคลังฝ่าฝืนมติครม..ที่ สร.0203/2418 ลงวันที่ 2 มีนาคมม 26 ที่มีมติให้กระทรวงการคลังประกาศกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าประมูลขอรับอนุญาตทำและจำหน่ายสุราขาวผสม พ.ศ.2528-2542 ว่า "ห้ามผลิตสุราผสมที่ใช้สูตรของสุราปรุงพิเศษแม่โขง และหรือกวางทอง ออกจำหน่าย" (ข้อนี้ถือได้หรือไม่ว่าตั้งแต่รัฐมนตรีไปจนถึงอธิบดีสมัยบัณฑิต ปุณยะปานะ และอรัญ ธรรมโน ฝ่าฝืนมติครมม.อันเป็นการทำผิดกฎหมายแผ่นดิน) 3. เมื่อกลุ่มสุราทิพย์ประมูลโรงงานสุราครั้งแรกได้แล้วทิ้งประมูลต้องเปิดประมูลใหม่ซึ่งทำให้รัฐบาลขาดค่าสิทธิไปปีละ 800 ล้านบาท (15 ปีเป็นเงิน 12,000 ล้านบาท) ในหลักปฏิบัติทั่วไปนั้น คนที่ทิ้งการประมูลจะต้องถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าประมูลใหม่ การเอาเปรียบรัฐบาลแบบนี้เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตในขณะนั้นมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่? เพียงแค่ 3 ข้อนี้ก็เชื่อกันได้ว่า ตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายก็คงจะต้องวิ่งกันเข้ามาช่วยพรรคพวกตัวเองแก้ตัวกันเป็นการใหญ่ จะเห็นได้ชัดถึงความลำเอียง และร่วมกันปกป้องผลประโยชน์เหล้าหงส์ทองของข้าราชการประจำบางคนในกระทรวงการคลัง และก็จะเห็นได้ชัดว่า ในขณะที่ปลัดวีระ สุสังกรกาญจน์ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ถูกเจ้ากระทรวงเล่นงานอย่างหนักหน่วงแต่เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังกลับหมั่นละเลยและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กันอย่างครื้นเครงและก็ไม่ยี่หระต่ออะไรทั้งสิ้น พอจะเห็นข้อแตกต่างกันหรือยังครับ! เขาถึงบอกกันเป็นสัจธรรมในแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองนี้ว่า กฎหมายบ้านนี้เมืองนี้มันศักดิ์สิทธิ์แต่จะศักดิ์สิทธิ์ตรงที่ว่า ใครเป็นคนใช้ และเจตนาคนใช้จะเป็นอย่างไร? ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะได้ฟังยุทธการยอกย้อนอันนี้ จำเป็นจะต้องทราบถึงการปฏิบัติและวิธีการค้าสุราที่มีมาแต่โบราณกาล ตั้งแต่สมัยปู่สมัยทวด และวิธีการปฏิบัตินี้ก็เป็นขนบธรรมเนียมในวงการค้าเหล้าที่ทุกคนยอมรับกันมาตลอด ในสัญญาของการดำเนินการผลิตสุรากับรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมโดยผ่านทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือกับกระทรวงการคลัง โดยผ่านกรมสรรพสามิต เมื่อใกล้จะหมดสัญญาการผลิตแล้ว ทางหน่วยงานของรัฐก็จะประกาศเปิดการประมูลให้เช่าสัญญาต่อและการประมูลก็จะมีก่อนสัญญาจะหมดประมาณหนึ่งปี หรือ 2 ปี สุดแล้วแต่ว่าการประมูลใหม่ผู้ประมูลได้จะต้องสร้างโรงงานอะไรหรือไม่? ถ้าต้องลงทุนสร้างโรงงานเช่นที่กลุ่มสุราทิพย์ประมูลได้ก็จะเปิดประมูลเร็วขึ้น เมื่อผู้ประมูลรายใหม่ประมูลรับช่วงต่อไปได้และมีการประกาศออกมาเป็นทางการว่าใครประมูลได้ซึ่งถ้าไม่ใช่เจ้าเก่าได้เจ้าใหม่ก็จะต้องประสบปัญหาดังนี้ :- เหล้าค้างสต็อก เจ้าเก่าที่ทำอยู่เมื่อรู้ว่าตัวเองจ ะไม่ได้ต่อไปแล้วก็จะเร่งผลิตเหล้าทั้งวันทั้งคืนผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะต้นทุนด้านภาษีของตนต่ำกว่าเจ้าใหม่มาก เหล้าค้างสต็อกนั้นก็จะถูกออกมาจำหน่ายเพื่อตัดราคาเจ้าใหม่ที่เข้ามาทำโรงงานต่อ และประเพณีเป็นเรื่องทีทุกคนในวงการเหล้าได้ประสบพบเห็น พร้อมทั้งยอมรับกันทั่วหน้า ทางแก้ของผู้ประมูลใหม่ก็มีอยู่สองทางคือยอมให้เหล้าเก่าของเจ้าเก่าขายไปจนใกล้จะหมด หรือวิธีที่สอง ที่มักจะทำกันคือการขอซื้อเหล้าค้างสต็อกทั้งหมดในราคาที่ทั้งสองฝ่ายยินยอมพร้อมใจกัน กรณีของกลุ่มสุราทิพย์ก็เช่นกัน เถลิง เหล่าจินดา เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ เกียรติและกมล เอี่ยมสกุลรัตน ก็คือพ่อค้าเหล้าที่คร่ำหวอดมากับวงการน้ำเมาหลายสิบปี ขนบธรรมเนียมประเพณีนี้ก็ต้องรู้อยู่แก่ใจ ฉะนั้นเมื่อกลุ่มสุราทิพย์นี้ประมูลได้สิทธิ์ในการทำเหล้า 12 โรงงานทั่วประเทศเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานั้น กลุ่มนี้ก็ได้เตรียมแก้ปัญหานี้ไว้แล้ว โดยไปรับเซ้งหรือร่วมกิจการจากผู้ผลิตเดิม 31 โรงงาน โดยส่วนใหญ่จะเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการแทนผู้ผลิตเดิมทั้งเกือบ 31 โรงงาน ก่อนที่โรงงานนั้นจะครบอายุสัญญาปี 2527 ในการเข้าไปก้ผลิตสุราค้างสต็อกขึ้นมาประมาณ 7.8 ล้านเท ซึ่งเป็นเหล้าที่กลุ่มสุราทิพย์เป็นผู้ผลิตขึ้นมาเองก่อนที่โรงงานเหล้านั้นจะครบอายุสัญญาด้วยการรับโอนกิจการไว้ก่อน สุราค้างสต็อก 7.8 ล้านเทนี้เป็นเหล้าที่เสียภาษีตามแสตมป์ที่ปิดขวดเท่านั้น แปลได้ว่าเป็นเหล้าที่ไม่ต้องเสียค่าสิทธิ์ ค่าภาษีค่าปรับตามเงื่อนไขใหม่ของโรงงาน 12 โรงที่เพิ่งประมูลได้ และกลุ่มบริษัทที่เข้าไปซื้อเหล้าเก่าพวกนี้ก็คือ บริษัทท่าจีนการสุรา ซึ่งโดยสภาพแล้วเป็นนิติบุคคลอีกบริษัทหนึ่งซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับสุราทิพย์เลย ปัญหามันก็เกิดขึ้นเมื่อสุราทิพย์เกิดสมองใสจะเอาตัวรอดขึ้นมา!!! สุราทิพย์ก็เลยเสนอกระทรวงการคลังว่าตัวเองต้องรับซื้อสุราค้างสต็อกจากผู้ผลิตเดิม 7.8 ล้านเท และเมื่อบวกกับโควตาการผลิตปี 2528 ตามสัญญาใหม่อีก 14.66 ล้านเทแล้ว สุราทิพย์ก็อ้างว่า ตนเองต้องรับภาระถึง 22.46 ล้านเทจะหนักไป ฉะนั้นก็จะขอลดโควตาการผลิตเสียภาษีและค่าผลประโยชน์ให้แก่รัฐในปี 2528 นี้ลงไป 7.8 ล้านเท โดยถือเสมือนว่า สุราทิพย์ได้เป็นผู้ผลิตเสียภาษีและค่าผลประโยชน์จากเหล้าที่ซื้อมาจากผู้ผลิตเก่า 7.8 ล้านบาทให้กับรัฐแล้ว เรื่องนี้ได้ผ่านการพิจารณาของกระทรวงการคลังมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยปลัดกระทรวงการคลัง พนัส สิมะเสถียร กลัวว่ากลิ่นเหล้าจะเหม็นหึ่งมาถึงวงศ์ตระกูลก็คัดค้านไม่เห็นด้วย จะด้วยอาเพศอันใดที่ประเทศนี้ยังมีอยู่ก็ไม่ทราบได้? รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุคก่อนก็ส่งเรื่องกลับมาโดยตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาใหม่อีก โดยมีตัวกรรมการอยู่สามคน คนแรกคือ เฉลิมชัย วสีนนท์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งอย่างสดๆ ร้อนๆ ต่อจาก อรัญ ธรรมโน คนที่สองคือ นิพัทธ พุกกะนะสุต รองผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง ผู้มีศักดิ์เป็นหลานรักของสมหมาย ฮุนตระกูล ที่กำลังขึ้นหม้ออยู่ปัจจุบัน และนิพัทธนี้เองในยุคสมัยหนึ่งก็เป็นผู้เสนอให้มีการประมูลสร้างโรงงานเหล้าขึ้นมาใหม่เพื่อผลิตแอลกอฮอล์ และทำสุราปรุงพิเศษลักษณะเดียวกับแม่โขงและกวางทอง โดยให้ขายทั่วราชอาณาจักรได้ แต่เผอิญความคิดนี้มีคณะรัฐมนตรียังมีสติสัมปชัญยะสมบูรณ์อยู่ก็เลยไม่เห็นด้วย คนสุดท้ายคือเจ้าเก่าที่เลือดข้นกว่าน้ำชื่อบัณฑิต ปุณยะปานะ อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิตปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมสรรพากร และก็เป็นน้องชายแท้ๆ ของพงส์ สารสิน หุ้นส่วนใหญ่คนหนึ่งของกลุ่มสุราทิพย์ เห็นแค่ชื่อกรรมการก็ต้องบอกว่าเลือกได้เจ็บมาก เหมือนกับสั่งมาเลย และแทบจะทำนายผลออกมาได้ กลุ่มสุราทิพย์ก็ค่อยหายใจคล่องหน่อยที่เห็นชื่อกรรมการชุดนี้หลังจากที่ผิดหวังและอารมณ์เสียมากับพนัส สิมะเสถียร ครั้งหนึ่ง แต่เผอิญงานนี้เฉลิมชัย วสีนนท์ อธิบดีกรมสรรพสามิตไม่เล่นด้วย เพราะ "ท่านอธิบดีเห็นว่าไม่ถูกต้อง และรัฐเสียผลประโยชน์มาก อีกประการหนึ่งท่านเองอีกไม่กี่ปีก็เกษียณแล้ว ท่านคงไม่อยากจะต้องมีเรื่องมีราวหลังเกษียณ" คนใกล้ชิดเฉลิมชัย วสีนนท์ พูดให้ฟัง เป็นอันว่าแผนนี้ก้คงค้างเติ่งกันต่อไป" ยุทธการรวมตัวเพื่อยึดครอง ดูตามผิวเผินแล้วในช่วงต้นปี 2529 เป็นช่วงที่แม่โขงน่าจะเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะในสงครามเหล้าและฝ่ายหงส์ทองกำลังประสบปัญหาการเงินอย่างหนักที่ดูๆ แล้วไม่น่าจะเอาตัวเองรอดได้ แต่แรงช่วยจากกระทรวงการคลังก็ยังคงหนักแน่นและถึงกับมีการกำหนดยุทธวิธีการช่วยกลุ่มสุราทิพย์ขึ้นมาอย่างแยบยล จากมันสมองของระดับรองอธิบดีในกระทรวงการคลังคนหนึ่ง "รองอธิบดีคนนี้ได้บอกกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในกระทรวงว่า ต้องให้กลุ่มสุราทั้งสองแห่งรวมตัวกันให้ได้ เพื่อแก้ปัญหาการล้มของสุราทิพย์และเพื่อป้องกันไม่ให้แม่โขงได้เปรียบมากเกินไปกว่านี้ เพราะไม่งั้นแล้วแผนบีบแม่โขงให้รวมกับหงส์ทองก็จะล้มเหลว" แหล่งข่าวผู้อยู่ในเหตุการณ์คนหนึ่งตัดสินใจเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังหลังจากที่ไตร่ตรองมาเป็นอาทิตย์ การรวมนั้นแน่นอนที่สุดต้องติดอยู่ที่กลุ่มสุรามหาราษฎรมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตระกูลเตชะไพบูลย์ "คนอื่นอย่างเช่นคุรโกเมน คุณวิศาล หรือคุณวานิช ไชยวรรณ นั้นเขาเองก็อยากจะรวมมานานแล้ว โดยเฉพาะสายคุณวิศาล ภัทรประสิทธิ์ ที่เล่นทั้งฝ่ายแม่โขงและหงส์ทองมาเป็นเวลานานจะติดก็ตรงสายของคุณสุเมธ เตชะไพบูลย์ ที่ยืนกรานไม่ยอม" คนในกรมสรรพสามิตเล่าให้ฟัง "คุณสุเมธจะไปยอมได้อย่างไร? เพราะตัวแกเองคิดว่าแม่โขงไม่ได้ทำอะไรผิด สัญญาต่างๆ ที่มีกับรัฐบาลก็ไม่ได้ผิดเงินค่าสิทธิ ค่าภาษีก็ไม่ได้ค้าง ประมูลมาได้ภายใต้เงื่อนไขไปอย่างไรก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขเช่นนั้น" คนสนิทของสุเมธ เตชะไพบูลย์ พูดกับ "ผู้จัดการ" แต่กระทรวงการคลังโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนได้มีแผนการขั้นนี้อยู่แล้ว "เขารู้ว่าคนจีนนั้นเวลาทำอะไรต้องประชุมตระกูลกันแล้วพี่ใหญ่จะเป็นคนสั่งการ คำสั่งของพี่ใหญ่นั้นก็เปรียบเสมือนคำสั่งของเตี่ยเอง จะบีบให้คุณสุเมธยอมนั้นจะต้องเดินหมากชนพี่ใหญ่ของคุณสุเมธคือคุณอุเทนเสียก่อน" คนเก่าในกระทรวงการคลังพูดต่อให้ฟัง นอกจากหมากเดินชนอุเทน เตชะไพบูลย์ แล้วก็ยังใช้สถานภาพทางการเงินเข้ามาบีบกลุ่มสุรามหาราษฎรอีกด้วย "ตัวเราเอง (แม่โขง) ตอนต้นปีก็ประสบปัญหาเรื่องการเงินมาก เพราะว่าตอนขึ้นภาษีนั้นเหล้าขายไม่ออก และเราเองก็ขาดทุนอย่างมากมาย แหล่งเงินก็หมดไป เราต้องหาเงินกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่เขาบีบเราเสนอให้มีการรวมบริษัททั้งสองบริษัทเข้ามานั้น เราติดต่อขอกู้เงินกับสถาบันการเงินทุกแห่งก็ไม่มีใครยอมให้ ถึงเราจะเอาหลักทรัพย์ส่วนตัวออกมาค้ำประกันให้เกินมูลค่าเงินที่ขอกู้เป็นจำนวนมากก็ยังไม่มีใครยอมให้ เรียกว่าเข้สใช้สถาบันการเงินมาบีบเราอีกทีหนึ่ง" คนสนิทของสุเมธ เตชะไพบูลย์ ได้พูดให้ฟังเพิ่มเติม และแล้วยุทธการเดินชนอุเทน เตชะไพบูลย์ ก็เริ่มต้น ตระกูลเตชะไพบูลย์นั้นได้แบ่งสายกันทำธุรกิจการค้าไปคนละแบบ พี่น้องบางคนก็หันเข้าไปจับกิจการธนาคาร บางคนก็ไปจับทางด้านที่ดิน บางคนเช่นสุเมธ เตชะไพบูลย์ ก็เข้าไปลงทุนในธุรกิจสุรา เผอิญตรงข้ามกับธนาคารศรีนครนั้นมีธนาคารชื่อมหานครอยู่และธนาคารมหานครนี้ก็มีผู้บริหารระดับเจ้าของที่ชื่อ คำรณ เตชะไพบูลย์ ซึ่งเป็นน้องคนที่สี่ของอุเทน เตชะไพบูลย์ ถึงแม้ว่าจะเป็นเตชะไพบูลย์ด้วยกันแต่คำรณกับตระกูลเตชะไพบูลย์นั้นดูเหมือนจะเพียงแค่ใช้นามสกุลร่วมกันเท่านั้น สายสัมพันธ์ได้ขาดลงไปนานแล้ว "คุณอุเทนกับคุณคำรณนั้นไม่ได้ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันมานานแล้ว นับตั้งแต่วันที่คุณรำรณเข้าไปเป็นเจ้าของที่แท้จริงของธนาคารมหานครแต่ผู้เดียว ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของตระกูลเตชะไพบูลย์ ในปี 2528-2529 คำรณ เตชะไพบูลย์ กับธนาคารมหานครกำลังมีปัญหา ซึ่งเกิดจากการที่ลูกน้องคำรณคนหนึ่งไปเล่นเงินตราต่างประเทศจนกลับตัวไม่ทัน คำรณได้เชิญปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ซึ่งเป็นเพื่อนรักของตัวเองเข้าไปเพื่อแก้ไขสถานการณ์และพยายามปรับและแก้ปัญหาให้น้อยลง ปัญหาของธนาคารมหานครนั้น เมื่อเทียบกับธนาคารนครหลวงไทยแล้วยังดูเล็กมาก ยิ่งธนาคารมหานครได้คนธนาคารชาติเช่น ปกรณ์ มาลากุลฯ เมื่อเทียบกับธนาคารนครหลวงไทย ที่ยังคงใช้พ่อค้านาฬิกา เช่น พวกมหาดำรงค์กุล แล้วปัญหาของมหานครดูเป็นเรื่องไม่หนักหนาเป็นปัญหาในด้านการขาดสภาพคล่องและแก้ได้ดวยการเพิ่มทุนทีละขั้นตอน แต่ที่ธนาคารมหานครต้องถูกคำสั่งสายฟ้าฟาดให้ถูกยึดและลดทุนทันทีนั้น จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องการเมืองที่เกี่ยวพันกับกิจการเหล้า" แหล่งข่าวคนเดิมในกระทรวงการคลังพูดให้ฟัง การบุกเข้ายึดธนาคารมหานครนั้น"จริงๆ แล้วเป็นการส่งสัญญาณให้คุณอุเทน เตชะไพบูลย์ มากกว่าว่าถ้าเรื่องเหล้านั้นตกลงรวมกันไม่ได้ ถ้าธนาคารศรีนครถูกแบงก์ชาติเข้ามาตรวจสอบก็อย่ามาว่ากันนะ" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวต่อ ขณะเดียวกันธนาคารศรีนครเป็นเสาหลักของตระกูลเตชะไพบูลย์ การที่ถูกเจ้าหน้าที่ธนาคารชาติเข้ามาตรวจสอบ และเข้ามาควบคุมนั้นถึงแม้จะไม่มีอะไรผิดหรือไม่ได้มีปัญหาอะไรร้ายแรง แต่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมีสิริมงคลเลยแม้แต่น้อย ธรรมดาของคนจีนที่ทำมาค้าขายก็ไม่อยากจะมีเรื่องมีราวกับข้าราชการไม่ว่าจะเป็นระดับไหน "การเชื่อว่าธนาคารมหานครให้เตชะไพบูลย์ดู แล้วส่งคนมากระซิบบอกว่าถ้าเรื่องแม่โขงกับหงส์ทองรวมตัวกันไม่ได้ก็จะมีปัญหากับศรีนครในภายหน้าก็ป็นยุทธศาสตร์วิธีขู่ขวัญที่ได้วางแผนกันในกลุ่มคนไม่กี่คน ที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะถ้าปล่อยหงส์ทองล้มไปแล้ว ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องหงส์ทอง อาจถูกรื้อฟื้นคดีข้อหาละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ไม่เรียกเก็บภาษีเหล้าหงส์ทองและผ่อนปรนให้กับเหล้าหงส์ทองได้ ก็เลยไม่มีใครกล้าเสี่ยง แต่ถ้ารวมกันแล้วยังล้มก็ล้มด้วยกันทั้งคู่ก็คงจะมีข้อแก้ตัวได้บ้างไม่มากก็น้อย" แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังคนเดิมพูดต่อ ความจริงแล้วได้มีการวิ่งเต้นในเรื่องนี้มานานพอสมควร ยุทธวิธีของกลุ่มเหล้าหงส์ทองได้เปลี่ยนไปจากการพยายามเดินทางการทหาร มาเป็นเดินสายข้าราชการกระทรวงการคลัง เพื่อบีบให้แม่โขงล้มด้วยการขึ้นภาษีเหล้าเพื่อให้แม่โขงแพงกว่าหงส์ทองมากๆ จะได้ขายไม่ออก แต่หงส์ทองก็แพ้ภัยตัวเองเพราะแม่โขงก็กัดฟันยอมขาดทุน เมื่อเกมการขึ้นราคาใช้ไม่ได้ผลก็เลยต้องพักรบ และดำเนินแผน ถ้ารบสู้ไม่ได้ก็ให้เข้าไปร่วมเสีย แล้วค่อยทำลายจากภายในตรงกับคำพังเพยที่ว่า "If you can't fight them-join them" การล้มธนาคารมหานครโดยส่งสัญญาณให้กับอุเทน เตชะไพบูลย์ นั้นได้ผลเพราะ"คุณอุเทนเป็นคนทำงานประเภทไม่ต้องการให้เห็นการได้เสียกันทันที และพวกเขาจับเส้นคุณอุเทนได้ถูกว่าคุณอุเทนเป็นคนขี้เกรงใจคนและเป็นคนที่ต้องการจะให้สังคมเห็นว่าตัวเองเป็นคนมีเมตตาธรรม เอาอย่างไรก้ได้ ยิ่งมีการตีธนาคารมหานครมากระทบทางศรีนครก็ทำให้คุณอุเทนต้องระวังตัวเพราะต้นไม้ใหญ่ก็ต้องปะทะกับลมแรงเป็นของธรรมดา" แหล่งข่าวในตระกูลเตชะไพบูลย์พูดให้ฟัง การรวมสุราแม่โขงและหงส์ทองก็เริ่มขึ้นโดยคำสั่งของพี่ใหญ่ที่สั่งลงมายังสุเมธ เตชะไพบูลย์ ให้ถอนตัวออกจากการผสมเหล้าสองยี่ห้อนี้"คุณสุเมธขมขื่นมากแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร? ทางสายคุณสุเมธก็ถอนตัวออกมาทั้งยวง พวกกลุ่มสุราทิพย์พอรู้ว่ารวมตัวกับสุรามหาราษฎรได้ก็ดีใจมากในงานประชุมพอตกลงได้ว่ารวมตัวได้ คุณเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ ถึงกับตระกูลไชโยขึ้นมาลั่นห้องด้วยความดีใจ จนทุกคนสะดุ้งแล้วก็หัวเราะกันในท่าทางของคุณเจริญที่ดีใจจนออกนอกหน้า" คนที่เข้าประชุมด้วยเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟัง ทุกคนที่เกี่ยวข้องพากันถอนหายใจกันอย่างโล่งอกที่สุราทั้งสองกลุ่มรวมตัวกันได้ในขณะที่บริษัทใหม่พากันขนของออกจากที่ทำการอาคารเตชะไพบูลย์แถวๆ พลับพลาไชยไปยังอาคารทีซีซีของกลุ่มมสุราทิพย์ที่ถนนสุรวงศ์ ขณะนั้นทุกคนที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับสุรากำลังปลื้มปีติ และรัฐบาลไทยก็ได้สูญเสียผลประโยชน์จากการรวมตัวในรูปของค่าสิทธิและภาษีไปประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปีทันที "จะไม่เสีย 2,000 ล้านได้อย่างไร? พอรวมกันสองบริษัทเหล้าแม่โขง-กวางทอง ก็ลดลงจากเดิมที่ขายอยู่เดือนละ 16 ล้านขวด เหลือเพียง 6.5 ล้านขวด ทำให้รัฐเสียหายค่าสิทธิ และภาษีปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่แม่โขงและกวางทองลดเพราะถ้าขายมาก็จ่ายค่าสิทธิและค่าภาษีเพิ่มขึ้น และถ้าลดก็จ่ายน้อยลง ส่วนเหล้าหงส์นั้นเป็นระบบเหมาจ่าย ถ้าขายไม่ได้เลยก็ต้องจ่ายในอัตราที่ประมูลไว้ ทีนี้พอรวมตัวก็ใช้วิธีบีบให้ขายแม่โขงกวางทองน้อยลง" เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรมผู้รับผิดชอบโดยตรงของเหล้าแม่โขง กวางทอง เอาตัวเลขมาแฉให้กับ "ผู้จัดการ" แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ในกระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันว่า ผู้บริหารกระทรวงทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ โดยไม่ปกป้องผลประโยชน์ของเหล้าแม่โขงซึ่งเป็นเหล้าของรัฐบาลเพราะ"เขารับเงินรับทองกันไปเรียบร้อยแล้ว คุณอย่าลืมว่าพวกเขาเข้ามาแล้วก็จากไป ฉะนั้นเมื่อเวลาอยู่มีโอกาสจะโกยก็ต้องรีบรับ เพราะพวกเขาขาดรายได้มานานแล้ว ยิ่งหาเสียงแต่ละทีนั้นต้องใช้เงินเป็นสิบๆ ล้าน" คนในกระทรวงอุตสาหกรรมที่อึดอัดกับการโกงกินของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพูดให้ฟัง การจ่ายเงินจ่ายทองนั้นได้มีกระแสข่าวที่ยืนยันพร้อมกันทั้งสามสายรวมทั้งบรรณาธิการ "ผู้จัดการ" ได้มีโอกาสพบกับผู้จัดการธนาคารต่างประเทศแห่งหนึ่งในฮ่องกง เมื่อคราวบรรณาธิการ "ผู้จัดการ" ได้เดินทางไปทำข่าวที่ฮ่องกง และได้พบผู้จัดการธนาคารต่างประเทศคนนี้ ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าสมัยเรียนด้วยกัน บรรณาธิการ "ผู้จัดการ" พูดให้ผู้เขียนฟังว่า"ผมไปเจอบ๊อบแล้วเขาถามผมว่า รู้จักชื่อคนไทยกลุ่มนี้ไหม? มี 6 คน ผมฟังชื่อแล้วถึงบางอ้อ เพราะมีอยู่ 2 คน อยู่กระทรวงการคลังระดับสูงด้วยที่ชอบไปกู้เงินเมืองนอก อีก 4 คนนั้นเป็นนักการเมือง ทั้ง 4 คน 2 คนอยู่ฝ่ายค้าน อีก 2 อยู่ฝ่ายรัฐบาล คนอยู่ฝ่ายรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย ส่วนคนอยู่ฝ่ายค้านนั้นบ๊อบเขาบอกผมว่ามีการโอนเงินแปลกๆ โดยมีบริษัทหนึ่งในฮ่องกงได้รับแอลซีจากบริษัทในกรุงเทพฯ ให้ส่งของไปแล้วก็เอาแอลซีนี้มาขึ้นเงินแล้วโอนเงินเปิดเป็นบัญชีเงินฝากให้คนหกคน พอถึงเวลาแอลซีจะครบกำหนดบริษัทในฮ่องกงนี้ก็ขอเปิดแอลซีเพื่อสั่งเหล้าจากกรุงเทพฯ โดยเอาเงินสดมาค้ำไว้จำนวนเท่ากับแอลซีที่ได้รับมาแล้วก็ขอแลกแอลซีคืนกันไป ผมถามว่าตัวเลขเงินฝากทั้งหกคนนั้นเป็นเงินเท่าไร? เขาบอกแต่เพียงว่าเป็นเลขแปดหลัก แต่เป็นเงินเหรียญฮ่องกง แล้วต่อมาเขาก็ขอยกเลิกแอลซีนั้นโดยเอาเงินสดส่วนที่เหลือมาจ่ายให้จนครบ" การรวมตัวครั้งนั้นเป็นเกมการพักรบเพื่อให้สุราหงส์ทองได้หายเหนื่อย"เป็นยุทะวิธีที่ประเสริฐมาก เพราะเวลานี้กลายเป็นว่าปัญหาของหงส์ทองก็เป็นปัญหาร่วมของกลุ่มสุรามหาราษฎรไปแล้ว และการรวมตัวทำให้หงส์ทองมีข้อต่อรองกับสถาบันการเงินซึ่งการพิจารณาว่า เหล้าหงส์ทองจะไปได้ไม่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องต้องมาตั้งข้อสมมติฐานเหมือนเมื่อสมัยยังต้องแข่งกับแม่โขง"สมัยก่อนแบงก์จะพูดว่าคุณขายได้เต็มโควตาคงยาก เพราะแม่โขงกวางทองเขาค้ำคออยู่และต้นทุนคุณก็สูงกว่าเขา แต่มาตอนนี้พอเป็นบริษัทเดียวกันและพวกคุณคุมการบริการอยู่คุณก็ขายเหล้าหงส์ให้เต็มที่แล้วให้แม่โขงง-กวางทอง ขึ้นราคาคนจะได้หันกลับมาซื้อหงส์ทองกันให้มาก คุณขายได้เต็มโควตา ส่วนแม่โขง-กวางทอง จะขายตกอย่างไรก็ช่างมัน เพราะขายน้อยก็จ่ายค่าสิทธิค่าภาษีน้อยไม่ต้องไปห่วง ธนาคารเจ้าหนี้ก็ต้องเห็นว่ารวมตัวย่อมดีกว่าไม่รวม" แหล่งข่าวในวงการเหล้าเล่าให้ฟัง แต่การรวมตัวอย่างเดียวนั้นไม่ใช่ยุทธศาสตร์สุดท้ายที่พวกนี้วางเอาไว้ ยุทธศาสตร์นั้นคือการขอแก้ไขสัญญากับรัฐบาลและการแก้ไขสัญญาชั้นแรกนั้นคือ การหาทางให้รัฐบาลยอมรับให้โอนเอาเหล้าค้างสต็อก 7.8 ล้านเท เข้ามาหักออกจากโควตา 14.6 ล้านเท ที่ตัวเองต้องผลิตโดยทางกลุ่มหงส์ทองอ้างว่า ตัวเองเมื่อประมูลโรงงานสุรา 12 โรง ได้ก็ต้องกว้านซื้อเหล้าเก่าจากเจ้าของเดิมที่เขาเร่งผลิตให้มากที่สุด ก่อนที่สัญญาใหม่จะเริ่มต้นและกลุ่มหงส์ทองก็ได้กู้เงินธนาคารมา 5,000 ล้านบาท เพื่อกว้านซื้อเหล้าเก่า 7.8 ล้านเทนี้เก็บเอาไว้ "เรื่องเหล้าค้างสต็อกนี้เป็นการโกหกและโกงรัฐบาลอย่างหน้าด้านๆ เพราะกลุ่มสุราทิพย์ก็คือพ่อค้าสุราที่รู้ดีว่าทุกครั้งที่มีการประมูลครั้งใหม่ได้เจ้าของเดิมก็จะเร่งผลิตสุราเก่าให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก่อนที่สัญญาโรงงานจะหมด ส่วนเจ้าของโรงงานใหม่ก็รู้อยู่แก่ใจว่า เหล้าเก่านี้คือปัญหาของเขา ซึ่งก็จะแก้ได้ด้วยการเจรจาเจ้าของเก่าขอกว้านซื้อให้หมด และนี่ก็เป็นประเพณีนิยมที่เขาทำกันมาตั้งแต่ประเทศไทยได้เริ่มมีกิจการสุรา" หลงจู๊โรงงานเหล้าแหล่งหนึ่งอธิบายเรื่องเหล้าค้างสต็อกให้ฟัง เรื่องเหล้าค้างสต็อกเป็นเรื่องที่ได้มีการจับโกหกกันคำโตๆ ได้คาหนังคาเขา ในขณะที่เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ ได้พูดออกมาว่า เหล้าค้างสต็อกนั้นเป็นเหล้าเก่าที่เจ้าของโรงเหล้าเก่าเขาผลิตออกมาแล้วกลุ่มสุราทิพย์ได้กว้านซื้อเอาไว้ทั้งหมดมีจำนวน 7.8 ล้านเท แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าเหล้าเก่า 7.8 ล้านเท นั้นส่วนหนึ่งเป็นเหล้าเก่าที่เจ้าของเก่าได้ผลิตออกมาขายจริง แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเหล้าที่กลุ่มสุราทิพย์หลังจากได้ซื้อโรงงานจากเจ้าของสัญญาเดิมที่ยังไม่หมดสัญญาไปแล้วก็ได้เร่งผลิตเหล้าขึ้นมาอย่างเต็มที่ "ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลิตเหล้าก่อนหมดสัญญานั้นเสียภาษีได้ถูก และถ้าสามารถเอาเหล้าเก่าชุดนี้มาหักออกจากโควตาเหล้าตามสัญญาใหม่แล้วก็จะทำให้กำไรถึงสองต่อ" เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เล่าให้ฟัง แม้แต่ชาตรี โสภณพนิช เองก็ยังยืนยันข้อเท็จจริงนี้ เมื่อมาให้การกับคณะกรรมาธิกาการเงินการคลังฯ ทั้งหมดนี้เป็นแผนของกลุ่มสุราทิพย์ที่คิดว่าตัวเองสามารถจะขายได้ทั้งเหล้าเก่าและเหล้าใหม่ แต่"เดิมทีเขาคิดว่าตลาดแม่โขงมีเพียง 70-75 ล้านขวดเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงๆ ทั้งแม่โขงและกวางทองมีถึง 200 ล้านขวดต่อปี หงส์ทองก็เลยพลาดไปอย่างแรง" เฉลิมชัย วสีนนท์ อธิบดีกรมสรรพสามิต พูดให้ฟัง แม้กระทั่งกลุ่มธนาคารเองก็ยังยอมรับว่าโดนโครงการนี้ของกลุ่มสุราทิพย์แหกตาอย่างแรง ในคำพูดของธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้จัดการของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ให้การต่อคณะกรรมาธิการ"ตอนแรกๆ ที่เขากู้ไปเราดูโครงการก็เป็นไปได้ แต่ทำไปทำไปเขาเองก็ทำอะไรผิดแผกไปและมีปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นมาก็ไม่ได้บอกให้เราทราบ ซึ่งก็ไม่เคยปรากฏในโครงการตอนแรก จู่ๆ เขาก็เดินเข้ามาบอกว่าตอนนี้ไปไม่ไหวแล้วขอให้ช่วยเราก็เลยอยู่ในภาวการณ์ที่กระอักกระอ่วนมาก" การใช้เงินผิดประเภทนั้นคือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ เช่น การกู้เงินไปสร้างโรงงานนั้นกลับเอาส่วนหนึ่งไปกว้านซื้อเหล้าค้างสต็อกไว้ เลยทำให้เงินสร้างโรงงานต้องขาดแคลน ฯลฯ ในการรวมตัวกันนี้ได้มีการแต่งตั้งวรรณ ชันซื่อ ขึ้นมานั้นเป็นการใช้คนที่ถูกต้องที่สุด เพราะวรรณ ชันซื่อ เป็นคนที่มีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมากทั้งทางทหารและทางการเมือง ทางทหารนั้นหลานของวรรณคืออดีตลูกเขยของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน ทางการเมืองนั้นวรรณเองก็มีสายสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับพรรคชาติไทย ซึ่งปัจจุบันก็เป็นผู้ดูแลกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ การดิ้นของเหล้าหงส์ทองครั้งนี้คือ การดิ้นเพื่อให้รัฐบาลแก้สัญญา และได้มีการเห็นชอบแล้วในระดับกระทรวงการคลังที่ต้องรับผิดชอบแพียงแต่ว่าจะต้องมีการจัดฉากทางการเมืองให้ดีกว่านี้ เพราะกระทรวงการคลังเองเพิ่งจะถูกสภาผู้แทนราษฎรจวกเอาเมื่อไม่นานมานี้ในเรื่องการให้กลุ่มเหล้าหงส์ทองติดค้างเงินค่าภาษี "เกมใหม่คือต้องไปให้ทางสภาผู้แทนเดินเรื่องเสนอให้ทางรัฐบาลช่วย" คนวงในพูดให้ฟัง และเกมนี้ก็เริ่มเข้าล็อกลงตัวเมื่อคณะกรรมาธิการการเงินการคลังฯ ได้ศึกษาปัญหาเรื่องนี้และได้มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องในวงการมาให้การ อาทิ กลุ่มธนาคารที่ให้กู้-ฝ่ายบริหารของหงส์ทอง เช่น วรรณ ชันซื่อ-เจริญ ศรีสมบูรณานนท์-การุนย์ เหมวนิช ฯลฯ ในการให้การต่อคณะกรรมาธิการนั้นก็ได้ข้อยืนยันมาหลายประการว่าเหล้าเก่าค้างสต็อกนั้น ส่วนหนึ่งคือฝีมือของพวกกลุ่มสุราทิพย์ที่เมื่อซื้อโรงงานเก่าไปแล้วก็เร่งผลิตเอาไป ทางอธิบดีเฉลิมชัย วสีนนท์ เองก็ยืนยันว่าการประมูลครั้งนั้นของสุราทิพย์นั้นเป็นการให้ตัวเลขที่เป็นไปไม่ได้ แต่ทางกลุ่มก็ยืนยันว่าทำได้ ทั้งหมดนี้ก้ได้ซักถามกันอย่างจะแจ้ง แต่ฝ่ายบริหารของกลุ่มสุราทิพย์ก็ไม่ได้ตอบคำถามที่แท้จริงออกมาให้เห็นได้ชัดว่าเวลาประมูลนั้นตัวเองก็ทราบเรื่องเงื่อนไขอยู่แล้ว เพราะตัวเองเป็นคนเสนอตัวเลข แต่เมื่อประมูลได้แล้วทำไม่ได้ ทำไมถึงต้องมาขอให้แก้สัญญา แสดงว่าการเสนอตัวเลขครั้งแรกนั้นเสนอไปเพียงเพื่อให้ตัวเองประมูลได้เท่านั้น แล้วก็หวังว่าเมื่อมีปัญหาก็จะสามารถหาทางให้รัฐบาลผ่อนปรนและแก้ไขปัญหา ผู้เขียนเคยคุยกับบรรณาธิการ "ผู้จัดการ" สนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งสนธิได้บอกกับผู้เขียนว่า"ผมเคยเจอคุณตามใจ ขำภโต ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง ซึ่งเพิ่งจะสรุปผลการศึกษาปัญหาของกลุ่มบริษัทสุราทิพย์เสร็จใหม่ๆ คุณตามใจบอกผมว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้ไม่ได้เสนอวิธีแก้ปัญหาอะไรให้กับรัฐบาล เพียงแต่ศึกษาปัญหาแล้วเพียงแต่บอกทางรัฐบาลว่าปัญหานี้ต้องรีบแก้เราไม่มีหน้าที่จะไปบอกว่าต้องแก้อย่างไร?" หลังจากนั้นไม่นาน หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2529 ก็ได้ลงข่าวเรื่องผลของการสรุปของคณะกรรมาธิการ ซึ่งเนื้อหาก็แตกต่างไปจากที่ตามใจ ขำภโต ได้บอกว่าทางสนธิ ลิ้มทองกุล บรรณาธิการ "ผู้จัดการ" เนื้อหาตามข่าวมติชนก็มีดังนี้ :- "กรรมาธิการการคลัง สภาผู้แทนฯ สรุปผลศึกษาหนี้สินบริษัทสุราทิพย์แล้วให้รัฐบาลและธนาคารพาณิชย์ร่วมถือหุ้นใหญ่เพื่อลดภาระหนี้สินและดอกเบี้ยกว่า 20,000 ล้านบาท อีก 3 ปีข้างหน้าบริษัทต้องกู้ธนาคารอีก 6,000 ล้านบาท ชี้ถ้าไม่ช่วยเจ๊งแน่ ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า คณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงินสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดทำรายงานสรุปผลการพิจารณาศึกษาปัญหาการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทสุราทิพย์เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยตั้งข้อสังเกตว่า จากการศึกษาข้อเท็จจริงและคำชี้แจงของบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลคือ กรมสรรพสามิต ผู้ผลิต และธนาคารเจ้าหนี้ สรุปว่า ปัจจุบันกลุ่มบริษัทสุรามหาราษฎรและสุราทิพย์ มีภาระหนี้สินค้างชำระค่าสิทธิประโยชน์ทางราชการเป็นเงิน 4,494 ล้านบาท เป็นหนี้กลุ่มธนาคารพาณิชย์อีกประมาณ 19,000 ล้านบาท รวมกว่า 23,000 ล้านบาท รายงานระบุว่า จากตัวเลขหนี้สินจำนวนมหาศาลเอาจทำให้เกิดปัญหาและมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทหากมิได้รับการแก้ไขในแนวทางที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที จะก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาล กลุ่มธนาคารพาณิชย์เจ้าหนี้ และประชาชนทั่วไปในฐานะผู้ฝากเงินกับธนาคารและผู้บริโภคสุรา เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว รายงานได้คาดหมายในประเด็นสภาพปัญหาของบริษัทว่า การดำเนินงานต่อไปนี้จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์อีกทั้งที่ได้ยืมมาแล้วเป็นจำนวนมาก และสาเหตุสำคัญของการค้างชำระค่าสิทธิก็เพราะต้องนำเงิน 4,400 ล้านบาทไปซื้อสุราเก่าจากผู้ผลิตตามสัญญาเดิมเพื่อลดการแข่งขันในปริมาณ 7.8 ล้านเท หรือ 53 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตขั้นต่ำในปีแรก กรมสรรพสามิตได้ชี้แจงต่อกรรมาธิการด้วยว่าการที่มีการรวมบริษัทเข้าด้วยกัน หากบริษัทมีปัญหาการเงินเกิดขึ้น ประชาชนคงไม่มีทางเลือก ต้องซื้อสุราในราคาสูงขึ้น "ทางกลุ่มสุราทิพย์ชี้แจงคณะกรรมาธิการว่า สาเหตุที่ต้องประสบปัญหาขาดทุนและเป็นหนี้ เนื่องจากไม่สามารถขายสุราได้ตามเป้าหมาย เพราะประสบปัญหาการแข่งขันอย่างรุนแรงจากสุราเก่าที่ผลิตไว้ก่อนปี 2527 ซึ่งบริษัทก็ได้เข้าไปซื้อมาไว้ ทั้งยังลดราคาสุราขาวลงขวดละ 3 บาท แต่สุราขาวยังมีคู่แข่งสำคัญคือสุราเถื่อน ส่วนสุราผสมก็มีคู่แข่งคือ สุราต่างประเทศ ในเมื่อบริษัทต้องจ่ายค่าสิทธิประโยชน์และภาษีให้รัฐในอัตราขั้นต่ำตายตัว บริษัทจึงต้องพยายามขายสุราให้มากที่สุด เรื่องที่บริษัทจะตั้งราคาขายไว้สูงเกินไปหรือเข้าผูกขาดธุรกิจแต่ผู้เดียวจึงเป็นไปไม่ได้" รายงานระบุและแจ้งต่อไปว่าบริษัทเรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมถือหุ้นใหญ่ โดยจดทะเบียนเพิ่มทุน เพื่อลดภาระหนี้สินและดอกเบี้ยโดยกลุ่มบริษัทผู้ถือหุ้นเดิมจะยังคงถือหุ้นจำนวนเท่าเดิม แต่มิได้มีการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานกล่าวต่อไปว่า ต่อข้อเสนอที่บริษัทจะกู้เงินเพิ่ม ธนาคารตั้งเงื่อนไขว่าบริษัทต้องชำระค่าดอกเบี้ยที่ยังคงค้างอยู่ให้หมดสิ้นและต้องได้รับการพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขในสัญญาจากรัฐบาลก่อน ดังนั้น บริษัทเห็นว่า หากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบันไม่ได้รับการแก้ไขจากทั้งรัฐบาลและธนาคารแล้ว บริษัทคงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จำเป็นต้องปล่อยให้ธุรกิจนี้ล้ม ซึ่งย่อมจะก่อความเสียหายกับทุกฝ่าย "คาดว่าบริษัทจะต้องกู้เงินจากธนาคารเพิ่ม 4,000-6,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปี ข้างหน้า เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนดำเนินการรวมทั้งสิ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท บริษัทเชื่อว่าจากผลการดำเนินงานตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป บริษัทคงจะสามารถชำระหนี้ที่มีต่อธนาคารและรัฐบาลได้ ปัญหาอยู่ที่ว่าบริษัทจะกู้เงินจากธนาคารเพิ่มได้หรือไม่" รายงานระบุ รายงานได้ระบุถึงความเห็นของธนาคารพาณิชย์เจ้าหนี้ต่อเรื่องนี้ว่า ธนาคารพาณิชย์เป็นสื่อกลางให้ 2 บริษัทรวมตัวกัน เรื่องจะเกิดการผูกขาดหรือไม่ เนื่องจากกิจการอยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาล 100 เปอร์เซ็นต์จึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและหน่วยงานของรัฐเป็นสำคัญ "การให้ความช่วยเหลือโครงการนี้ต่อไป บริษัทต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของโครงการและความช่วยเหลือของรัฐบาลต่อโครงการนี้ โดยที่ธนาคารยังไม่แนใจว่าโครงการจะไปรอดหรือไม่ จึงต้องพิจารณาประเด็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย คือผู้ถือหุ้น และผู้แทนจำหน่ายฝ่ายหนึ่ง การแก้ไขเงื่อนไขในสัญญากับรัฐบาลฝ่ายหนึ่ง และธนาคารพาณิชย์อีกฝ่ายหนึ่ง จึงสมควรจัดให้ 3 ฝ่ายได้พบปะเจรจาหรือและขอให้คณะกรรมาธิการเป็นสื่อกลางให้ด้วย" รายงานระบุ นี่ก็เรียกได้ว่าเข้าทางปืนเรียบร้อย ทีนี้มันลงล็อกหมดทุกตัวคณะกรรมาธิการส่งเรื่องให้สภาเห็นด้วยว่าควรช่วยสุราทิพย์ สภาก็ส่งเรื่องให้รัฐบาล ทางรัฐบาลก็ส่งให้กระทรวงการคลัง ซึ่งอ้าแขนรออุ้มอยู่แล้ว มันช่างวิจิตรพิสดารพันลึกอะไรเช่นนี้!! และขอให้เชื่อขนมกินกันได้เลยว่าขั้นตอนต่อไปจะต้องเป็นไปอย่างนี้ : 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้เพื่อเสนอผลสรุป ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงที่มีชื่อในบัญชีเงินฝากในธนาคารที่ฮ่องกงด้วยหรือเปล่า? 2. คณะกรรมการชุดใหม่นี้ ก็จะสรุปออกมาว่าสมควรช่วยโดยอาจจะให้มีการแก้ไขสัญญาบางประการเช่น การยอมให้ลดโควตาลงมาหรือลดภาษี หรือยอมให้เอาเหล้าเก่าค้างสต็อกอีก 7.8 ล้านเท หักออกจากโควตาปัจจุบันได้ 3. คณะกรรมการก็จะส่งเรื่องให้รัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสิน รัฐมนตรีก็อาจจะตัดสินทันทีตามมติคณะกรรมการหรืออาจจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นยันต์กันผี 4. คณะรัฐมนตรีซึ่งก็มีพรรคชาติไทย ซึ่งก็รู้ๆ กันอยู่แล้ว และมีพรรคกิจสังคมซึ่งเผอิญมีรองนายกฯ ที่ชื่อพงส์ สารสิน ก็เผอิญเป็นหุ้นส่วนใหญ่คนหนึ่งของกลุ่มสุราทิพย์ มิหนำซ้ำมีน้องชายคนหนึ่งอยู่กระทรวงการคลังและมีน้องอีกคนเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจซึ่งก็เกิดไปเป็นกรรมการและกรรมการบริหารในบริษัทสุราใหม่ที่รวมตัวครั้งใหม่นี้ด้วย และสุดท้ายก็คือพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งก็มีรัฐมนตรีบางคนได้แสดงจุดยืนว่าต้องช่วยกลุ่มสุราทิพย์อยู่แล้ว ทั้งหมดนี้ก็คงจะสงสารกลุ่มสุราทิพย์จนน้ำตาไหลพรากๆ และก็คงอนุมัติให้ช่วย 5. ในที่สุดสุราทิพย์ก็ได้รับการช่วยเหลือ ผู้บริหารสุราทิพย์ที่เพียงเอาตัวเองเข้าค้ำประกันหนี้เป็นหมื่นล้านก็มีความสุข คอยวันร่ำวันรวยในอนาคตเพราะกิจการเหล้าทั่วประเทศมันผูกขาดไว้หมดแล้ว (จนกว่าสัญญาแม่โขงจะหมดแล้วค่อยประมูลใหม่) รัฐบาลเองก็คงไม่มีน้ำยาจะควบคุมการผูกขาดไม่ให้กระทบประชาชนเพราะรัฐบาลบ้านนี้เมืองนี้ชอบทำอะไรเกรงอกเกรงคนรวย แต่กับคนจนแล้วมันจะตายก็ช่างหัวมันไป 6. แล้วแผ่นดินนี้มันก็สงบสุขทุกฝ่ายแฮปปี้คนที่มีเงินฝากอยู่ฮ่องกงก็แฮปปี้ นักการเมือง 4 คนนั้นก็มีทุนรอนไว้หาเสียงเพื่อเข้ามามีอำนาจใหม่เพื่อช่วยคนรวยที่มีปัญหา ข้าราชการอีก 2 คนก็คงจะใช้เงินไปซื้อบ้านที่เมืองนอกไว้สักหลังหรือไม่ก็พาเมียไปเดินกรีดกรายแถวๆ แฮร์ร็อดสักพัก นักธุรกิจที่ลงทุนในเรื่องเหล้าก็แฮปปี้กลายเป็นผู้มีอำนาจบารมี มีเงินเป็นพันล้านคอยหาทางประมูลกันใหม่ 7. ประชาชนคนทำมาหากิน ชาวนา ชาวไร่ ก็คงต้องคอยหวาดผวากับค่าครองชีพ ภาษีอากรที่ต้องขึ้นเพราะรัฐหาเงินเข้าไม่ทัน และนี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นขอให้เชื่อเถอะว่ามันเป็นอย่างข้อ 1-7 แน่ๆ ไม่เชื่อก็ตัดข้อความนี้แล้วแปะติดข้างฝา เล่าเรื่องให้ลูกให้หลานผังและบอกลูกบอกหลานให้คอยดูว่ามันจะจริงหรือไม่จริง? เสร็จแล้วบอกกับมันไปว่า"บ้านนี้เมืองนี้อย่าไปหวังอะไรกับมันเลย ถ้าจะเอาตัวรอดไปให้ได้ดีก็อย่าไปคำนึงถึงความถูกต้อง เพราะสังคมไทยทุกวันนี้มันไม่มีความถูกต้องแล้ว มันมีแต่ว่าใครมีเงินใครมีอำนาจคนนั้นก็เอาไปเลย" ตัวละครในวงการสุราที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในอนาคตข้างหน้าที่ถึงวันนั้นแล้วก็คงจะรู้ว่าใครบ้างที่ปล้นชาติ? 1. เฉลิมชัย วสีนนท์ มารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิตในช่วงที่สุราหงส์กำลังประสบปัญหากับวิกฤติที่สุด บทบาทของเฉลิมชัยก็คงต้องให้เหตุการณ์ข้างหน้าเป็นเครื่องวัด 2. อรัญ ธรรมโน อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลังซึ่งจะต้องเป็นคนที่รัฐมนตรีสุธี สิงห์เสน่ห์ ใช้ในเรื่องเหล้า 3. พนัส สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้มีหน้าที่คอยรับใช้ตามคำบัญชาของรัฐมนตรี คอยหาช่องหาทางตั้งกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องเหล้า เปรียบเสมือนนักไต่ลวดที่ต้อง balance ตัวเองให้ดี 4. อบ วสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนก่อนที่ขึ้นราคาเหล้าแม่โขง-กวางทอง เพื่อให้ราคาต่างกับสุราหงส์ทองอย่างมาก เป็นรัฐมนตรีกระทรวงที่เป็นเจ้าของเหล้าแม่โขงและกวางทองในยุคที่เหล้าหงส์ทองของกระทรวงการคลังต่อสู้กับแม่โขง-กวางทอง ของกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างถึงพริกถึงขิง 5. วีระ สุสังกรกาญจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่โดนอบ วสุรัตน์ ย้ายด่วนและตั้งกรรมการสอบสวนว่าประพฤติมิชอบเพราะไปช่วยเหล้าแม่โขงและกวางทองและเรื่องอื่น แต่คณะกรรมการบอกว่าไม่ผิด 6. สมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เป็นห่วงเป็นใยธนาคารนครหลวงไทยและกลุ่มสุราทิพย์เป็นกรณีพิเศษ 7. สุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ที่ต้องมาตัดสินใจเรื่องเหล้าในยุคตัวเอง แต่สุธี สิงห์เสน่ห์ ก็เป็นคนเล่นเกมเป็นทุกอย่างนั้นจะขึ้นอยู่กับลมและความกดดันทางการเมือง 8. เถลิง เหล่าจินดา คนเก่าศัตรูคู่อาฆาตของสุเมธ เตชะไพบูลย์ ที่ฝ่ายการประมูลโรงงานสุราบางยี่ขันให้กับสุเมธก็เลยต้องเทเค้ามาทุ่มประมูลโรงงานสุรา 12 เขตอย่างสุดตัว เพื่อให้ตัวเองต้องได้ เมื่อได้แล้วเกิดปัญหา ทำให้ทุกอย่างต้องวุ่นวายไปจนทุกวันนี้ 9. วรรณ ชันซื่อ ผู้อำนวยการบริษัทสุรามหาราษฎรยุคใหม่ที่รวมทั้งเหล้าแม่โขงหงส์ทองเข้าด้วยกัน เป็นคนที่มีสายสัมพันธ์สูงมาก และเป็นคนที่กลุ่มสุราทิพย์หวังว่าจะต่อสู้ให้สำเร็จ ขณะนี้วรรณ ชันซื่อ ได้รถประจำตำแหน่งเป็นเบนซ์ 500 คันใหม่เอี่ยม 10. อุเทน เตชะไพบูลย์ ผู้รักษากฎตระกูลเตชะไพบูลย์ ผู้ที่เป็นสุภาพบุรุษและชอบมองคนอื่นในแง่ดี และชอบอะลุ้มอล่วยเมตตากับคนข้างนอก แต่กับพี่น้องลูกหลานตัวเองจะทำนอกรีตนอกรอยไม่ได้ 11. สุเมธ เตชะไพบุลย์ เป็นน้องคนที่สามของตระกูลเตชะไพบูลย์ ทำเหล้ามาตลอดชีวิต เป็นคนยอมหักไม่ยอมงอ ปัจจุบันถอนตัวออกจากแม่โขงอย่างสิ้นเชิง ขายหุ้นจนหมดเหลือแต่ความเจ็บช้ำและความขมขื่นที่ได้รับมาเป็นแผลเป็นไว้เตือนใจ 12. เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ คนซัวเถาที่เมื่อเด็กๆ ขี่จักรยานขายของโชวห่วยส่งตามโรงงานต่างๆ มีนิสัยขยันขันแข็ง หัวดี และเข้าผู้หลักผู้ใหญ่เก่งมาก เถลิง เหล่าจินดา เห็นหน่วยก้านก็เลยเอาตัวมาทำงานด้วยเริ่มจากการเป็นลูกน้องจนเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนในวันนี้ ในขณะที่เถลิง เหล่าจินดา เริ่มเงียบหายไป เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ กลับกลายเป็นตัวหลักในการวิ่งเต้นและประสานงานกับกลุ่มต่างๆ ของสุราทิพย์กับหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง ประวัติศาสตร์วงการสุรานั้นจะต้องจารึกลงไปว่า เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ คนนี้คือตัวละครเอกตัวหนึ่งในตำนานเหล้าที่คนรุ่นหลังต้องจำเอาไว้ให้ดีๆ 13. ตามใจ ขำภโต ประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลังฯ ที่บอกว่าคณะกรรมาธิการไม่มีหน้าที่เสนอแนะวิธีแก้ปัญหามีแต่การชี้ปัญหาของสุรา อดีตเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ปัจจุบันเป็น ส.ส.พรรคสหประชาธิปไตย 14. พจน์ สารสิน คนที่มีบารมีมากที่สุดในประเทศไทย เป็นทั้งอดีตนายกฯ-รองนายกฯ-รัฐมนตรีและทูต มีบุตรที่เป็นกรรมการตั้งแต่ธนาคารไทยพาณิชย์ กสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ ตัวเองยังเป็นประธานกรรมการธนาคารไทยทนุ บุตรคนโตชื่อพงส์ เป็นรองนายกฯ พล.ต.ท.เภา สารสิน คืออนาคตอธิบดีกรมตำรวจ บัณฑิต ปุณยะปานะ (เป็นบุตรแท้ๆ แต่ไปใช้นามสกุลน้อง) อธิบดีกรมสรรพากรปัจจุบัน และอนาคตคือปลัดกระทรวงการคลัง อาสา สารสิน ทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา อดีตเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ มีคนเคยเปรียบเทียบว่า พจน์ สารสิน นั้นไม่ได้ต่างไปกว่า Joseph Kenedy เลย 15. พงส์ สารสิน หนึ่งในผู้สร้างตำนานเหล้าเป็นทายาทคนโตของตระกูลที่เปรียบเสมือนเคนเนดี้ของเมืองไทย เป็นนายทุนให้พรรคกิจสังคม เป็นรองนายกฯ ในปัจจุบันมีธุรกิจจนตัวเองจำไม่ได้ และเป็นหุ้นใหญ่คนหนึ่งในกลุ่มสุราทิพย์ที่ถูกลากให้เข้ามาขี่บนหลังเสือตัวนี้ อดีตเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์หนึ่งในหลายธนาคารที่ให้เหล้าหงส์ทองกู้ 16 พล.ต.ท.เภา สารสิน รองอธิบดีกรมตำรวจคนแรกที่จบปริญญาทางวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ เป็นน้องพงส์ สารสิน เคยได้ตำแหน่งผู้บัญชาการสอบสวนกลางตัดหน้าพล.ต.ต.อารีย์ กะรีบุตร โดยคำสั่งสายฟ้าแลบจากรองนายกฯ ประจวบ สุนทรางกูร ปัจจุบันนอกจากมีหน้าที่พิทักษ์รักษากฎหมาย แล้วยังเป็นทั้งกรรมการและกรรมการบริหารของบริษัทสุรามหาราษฎรชุดใหม่เป็นคนที่สนิทพลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ อย่างลึกซึ้ง และก็เป็นตัวเก็งอธิบดีกรมตำรวจคนต่อไป 17. ชาตรี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ ที่หนุนเหล้าหงส์ทองมาตั้งแต่ต้นเพราะกมล เอี่ยมสกุลรัตน์ เป็นพี่น้องกับเกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์ ที่เป็นคนสนิทของชาตรี 18. ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล ตัวแทนธนาคารนครหลวงไทยหนึ่งในธนาคารที่เป็นผู้ให้กู้กับกลุ่มสุราทิพย์ 19. เริงชัย มะระกานนท์ ตัวเทนธนาคารกรุงไทย ที่เข้ามาทีหลังเพราะถูกกระทรวงการคลังสั่ง ตอนนี้มีหน้าที่รับจำนำเหล้า 20. ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ คนโตของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่กระอักกระอ่วนใจกับหนี้ของสุราทิพย์และขั้นตอนของข้อมูลประกอบการปล่อยสินเชื่อที่สวนทางกับคำว่ามืออาชีพ 21. บรรยงค์ ล่ำซำ แห่งธนาคารกสิกรไทย หนึ่งในหลายธนาคารที่ปล่อยกู้ไปให้กลุ่มสุราทิพย์แล้วมากระอักกระอ่วนใจทีหลัง 22. ร.ท.ชวลิต เตชะไพบูลย์ ลูกชายสุเมธ เตชะไพบูลย์ อดีตหุ้นส่วนสุรามหาราษฎร ปัจจุบันเป็น ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ยื่นญัตติขอทราบจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีปัญหาสุราหลังจากที่อ่านข่าวว่า ศุภชัย พานิชภักดิ์ ส.ส.ร่วมพรรคและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่าสมควรจะช่วยสุราหงส์ทอง ชวลิตยื่นญัตติโดยพูดว่าเพื่อความถูกต้อง และเพื่อรักษาอุดมการณ์และภาพพจน์ของพรรคว่ามิได้ถูกอิทธิพลของตระกูลพ่อค้าสุราครอบงำและเพื่อความบริสุทธิ์ของตัวเองและน้องชายซึ่งเป็นส.ส.ร่วมพรรค ว่าการที่ได้เข้ามารับใช้ประเทศชาติครั้งนี้มิได้มีเจตนาเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของวงศ์ตระกูล 23. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติผู้ที่พูดว่าอึดอัดใจมากในเรื่องเหล้าเพราะมีการเมืองมากและปฏิเสธว่าตัวเองไม่เคยพูดว่าให้ช่วยสุราทิพย์ หนังสือพิมพืลงไปเองโดยตีความหมายผิด