aaathinkg
วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2564
Wireless N (2.4G) Wireless AC (5G)
AC1200 Mbps แบ่งเป็น 300 Mbps (2.4G) และ 867 Mbps (5G)
AC1300 Mbps แบ่งเป็น 400 Mbps (2.4G) และ 867 Mbps (5G)
AC1900 Mbps แบ่งเป็น 600 Mbps (2.4G) และ 1200 Mbps (5G)
วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564
CTO Azure ชี้เป้าหมายสำคัญของคอมพิวเตอร์ควอนตัมคือการผลิตปุ๋ย ต้องการคอมพิวเตอร์ขนาด 170 qubit, การเข้ารหัสยังปลอดภัยถึงปี 2030
ที่งาน Microsoft Ignite ปีนี้ Mark Russinovich CTO ของ Azure บรรยายถึงความสำคัญของคอมพิวเตอร์ควอนตัม และแนวทางการพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ไมโครซอฟท์เปิดตัว Azure Quantum โดยเป้าหมายสำคัญคือการออกแบบกระบวนการทางเคมีที่จะสร้างความก้าวหน้าให้กับโลกได้อย่างชัดเจน
เขายกตัวอย่างกระบวนการผลิตปุ๋ยเคมีที่ทุกวันนี้ใช้พลังงานสูงมาก โดยรวมประมาณ 3% ของไฟฟ้าทั้งโลกเนื่องจากกระบวนการดึงไนโตรเจนต้องใช้พลังงานสูง แต่ในพืชตระกูลถั่วกลับสามารถดึงไนโตรเจนจากอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่ามาก อย่างไรก็ดีจนทุกวันนี้วิทยาการยังทำความเข้าใจกระบวนการดึงไนโตรเจนในพืชไม่ได้ เนื่องจากกระบวนการทางเคมีมีความซับซ้อนสูง หากเรามีคอมพิวเตอร์ควอนตัมเราจะสามารถจำลองกระบวนการทำงานได้ในเวลาอันดรวดเร็ว Russinovich คาดว่าการจำลองกระบวนการทางเคมีนี้ต้องการคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาด 170 qubit
ในการบรรยาย Russinovich อธิบายถึงเกตแบบต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ควอนตัม และแนวทางการใช้งาน เช่น การกระจายกุญแจเข้ารหัสด้วยอัลกอริธึม BB84 หรือการถอดรหัส RSA-2048 ที่คาดว่าจะใช้เวลาเพียง 100 วินาทีหากคอมพิวเตอร์ควอนตัมมีขนาดใหญ่พอ อย่างไรก็ดีอัลกอริธึม Shor ที่ใช้ถอดรหัส RSA นั้นทำงานช้าอย่างมากบนซอฟต์แวร์จำลอง เพราะปริมาณแรมที่ต้องการจะเพิ่มอย่างรวดเร็ว คอมพิวเตอร์ขนาดเพียง 27 qubit ก็ใช้แรมถึง 2GB
ความกังวลถึงคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ใช้ถอดรหัส RSA ได้นั้นไม่น่ากังวลอย่างที่คิด เพราะ RSA-2048 ต้องการคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาดถึง 4096 qubit เพื่อถอดรหัส และ Russinovich คาดว่าจะใช้เวลาถึงประมาณปี 2030 กุญแจจึงถูกถอดรหัสได้ และระหว่างนี้ก็มีการพัฒนากระบวนการเข้ารหัส โดยภายในปี 2026 น่าจะมีการใช้งานกระบวนการเข้ารหัสที่ทนทานต่อคอมพิวเตอร์ควอนตัมแล้ว และใช้เวลาอีก 5 ปีในการเลิกใช้งานกระบวนการเข้ารหัสที่ไม่ทนทานต่อคอมพิวเตอร์ควอนตัม โดยไมโครซอฟท์เองก็ออกแบบอัลกอริธึมเข้ารหัสที่ทนทานต่อคอมพิวเตอร์ควอนตัมถึง 4 กระบวนการและยังเข้ารอบการประกวดของ NIST จนตอนนี้
ชนิดของคอมพิวเตอร์ควอนตัมในโลกความเป็นจริง ที่อาจใช้โฟตอน, superconducting qubit, หรือ quantum dot
Russinovich ยังระบุว่าคอมพิวเตอร์ควอนตัมในโลกความเป็นจริงนั้นต่างจากในทฤษฎีมาก โดย qubit เป็นนิยามทางทฤษฎีที่ไม่มีอยู่จริง แต่ qubit จริงๆ นั้นจะมีสัญญาณรบกวน โดยทุกวันนี้คอมพิวเตอร์ควอนตัมที่มีอยู่จริงนั้นสัญญาณรบกวนสูงมาก การสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมจริงๆ จึงต้องการ qubit จำนวนมากเพื่อแก้ไขความผิดพลาด โดย qubit จริง (physical qubit) อาจจะต้องสูงกว่า qubit ที่ใช้งานจริง (logical qubit) นับร้อยเท่า และตัวคอมพิวเตอร์ควอนตัมก็ต้องลดสัญญาณรบกวนให้ต่ำที่สุดด้วยการลดอุณหภูมิจนเหลือเพียงไม่กี่มิลลิเคลวิน
27 qubit ใช้ RAM 2GB แต่เขาต้องการ 170 qubit ก็คูณสองไปเรื่อยๆอีก 143 ครั้ง
2 GB น่ะไม่เยอะครับ แต่มันแค่สำหรับจำลอง 27 qbits ซึ่งมันเอาไปใช้งาน apply science ไม่ได้ครับ
ถ้าจะเอาไปใช้งานในเชิงวิจัยประยุกต์ วิจัยการทำงานสังเคราะห์เอมไซม์ใหม่ๆ ต้องไปแตะระดับ 100+ qbits ขึ้น ก็แปลว่าต้องเพิ่มเข้าไปอีก 2^(100-27) เท่า หรือประมาณ 9 แล้วตามด้วยศูนย์แค่ 21 ตัว ของ 2 GB เท่านั้น
1 qubit = 16 byte
27 qubit = 16 x (2^27) byte = 2.14 x 10 ยกกำลัง 9 ประมาณ 2 GB
170 qubit = 16 x (2^170) byte = 2.23 x 10 ยกกำลัง 43 ... โอ้โห หมดโลกยังไม่พอเลยมั้งครับ Ram
วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2561
รู้หรือไม่? “ซีพี” เคยร่วมทุนกับ ปตท.-จีน ทำธุรกิจปั๊มน้ำมันมาก่อน
ย้อนตำนาน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดึง ปตท. และกลุ่มทุนจีน “ซิโนเปค” ก่อตั้งปั๊ม “ปิโตรเอเชีย” หวังดึงแบรนด์ “เซเว่นอีเลฟเว่น” มาอยู่ในปั๊มน้ำมัน แม้สุดท้ายจะไปต่อไม่ได้ แต่สบช่องที่ ปตท. เปลี่ยนร้านเอเอ็มพีเอ็ม สานสัมพันธ์ยืนยาวถึงทุกวันนี้
กรณีที่บริษัท ปตท. ธุรกิจและค้าปลีก เจ้าของร้านสะดวกซื้อ “จิฟฟี่” แสดงความมั่นใจว่าจะสามารถเข้าไปบริหารร้านสะดวกซื้อในปั๊ม ปตท. แทนร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่จะหมดสัญญาในปี 2566 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า
เรื่องนี้ทำเอาชาวเน็ตวิจารณ์หลายเสียง มีทั้งหนุน มีทั้งค้าน กระทั่งบริษัทแม่อย่าง บมจ.ปตท. และเจ้าของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น อย่าง บมจ.ซีพี ออลล์ ต้องออกมาเคลียร์ว่า ทั้งคู่ยังคงร่วมธุรกิจเหมือนเดิม
หนึ่งในความเห็นของชาวเน็ตระบุว่า ซีพี หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ น่าจะทำปั๊มน้ำมันเป็นของตัวเอง ทั้งที่จริงแล้ว ซีพีก็เคยทำธุรกิจปั๊มน้ำมันมาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน 2536 ซีพี ร่วมลงทุนกับ “ซิโนเปค” บริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของจีน จัดตั้งบริษัทปิโตรเลียมชื่อ “ปิโตรเอเชีย” โดยเชิญการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เข้าร่วมทุนด้วย
โดยสัดส่วนการถือหุ้น ซีพีถือหุ้น 35% ปตท.ถือหุ้น 35% และซิโนเปค 30%
ปิโตรเอเชีย ภายใต้สัญลักษณ์ “ช้างแดง” เริ่มเปิดให้บริการในปี 2537 มีสถานีบริการน้ำมัน 37 แห่ง และจุดจ่ายน้ำมันขนาดเล็กอีก 450 แห่งทั่วประเทศ
หนึ่งในจุดขายสำคัญของปั้มช้างแดงก็คือ มีร้านเซเว่นอีเลฟเว่นให้บริการ ในยุคที่ ปตท.ยังคงบริหารร้านสะดวกซื้อแบรนด์ของตัวเอง เช่น จอย, พีพีทีที, สไมล์, ปตท.มาร์ท
แต่ธุรกิจปั๊มน้ำมันช้างแดงไม่ได้ราบรื่นเท่าที่ควร ขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 5-7 ล้านบาท หรือตลอดที่เปิดกิจการ ขาดทุนราว 200 ล้านบาท แม้ปรับแผนการตลาดในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ประสบความสำเร็จ
เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เกิดขึ้น ผู้ค้าน้ำมันทุกรายระส่ำ ปิดกิจการจำนวนมาก เฉพาะ ปตท.ขาดสภาพคล่องราว 2 พันล้านบาท
ทั้ง ซีพี และซิโนเปค เสนอถอนทุน และให้ ปตท.เข้าซื้อหุ้นแทนทั้งหมด ขณะเดียวกัน ปตท.ถูกตัดลดงบลงทุนโครงการ ก็เลยจะขายหุ้นปิโตรเอเชียให้กับต่างชาติ เพราะไม่ต้องการแบกรับภาระ
กลายเป็นเผือกร้อนที่ต่างฝ่ายต่างก็โยนใส่กัน
แม้ว่าช่วงหนึ่ง ปตท.จะเปิดเผยว่ามีบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง “อาร์โก้” ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ร้านเอเอ็มพีเอ็มในขณะนั้น แสดงความสนใจที่จะเข้ามาซื้อหุ้น แต่สุดท้ายก็ไม่สนใจที่จะซ์้อหุ้นแล้ว
ปี 2541 ซีพีเสนอขายปั๊มน้ำมัน 37 แห่งทั่วประเทศให้กับ ปตท.เพียงรายเดียว เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องเนื่องจากขาดทุนสะสมสูงถึง 300 ล้านบาท อีกทั้งยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
แต่ ปตท.ก็ตัดสินใจไม่รับซื้อกิจการ เพราะต้องการประคับประคองปั๊ม ปตท.ที่ในขณะนั้นเหลือเพียงแค่ 1,500 แห่งให้อยู่รอด อีกทั้งปั๊ม ปตท.กับปั๊มพีเอหลายแห่งอยู่ติดกัน จะเกิดการแข่งขันกันเอง
ผลที่สุด ที่ประชุมบอร์ด ปตท.เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2541 อนุมัติให้ ปตท.ซื้อปั้มน้ำมันปิโตรเอเชีย 17 แห่ง ด้วยงบประมาณ 200 ล้านบาท ที่เหลือมีทำเลไม่เหมาะสม
21 ส.ค. 2541 การประชุม 3 ฝ่ายระหว่าง ปตท. ซีพี และ ซิโนเปค เห็นชอบให้หยุดดำเนินธุรกิจขายปลีกน้ำมัน แต่ยังคงดำเนินธุรกิจจำหน่ายส่งน้ำมันเพื่ออุตสาหกรรม และดำเนินธุรกิจร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในปั๊ม
ส่วนปั้มปิโตรเอเชียที่ดูแลโดยตัวแทนจำหน่าย 11 แห่ง ถ้าต้องการดำเนินกิจการต่อก็ให้เปลี่ยนเป็นปั๊ม ปตท. แต่ถ้าไม่ต้องการก็ให้ปิดกิจการ เพื่อหยุดความเสียหายต่างๆ
ปัจจุบัน ปัํ๊มปิโตรเอเชียได้เลือนหายไปจากความทรงจำ เพราะทุกปั๊มเปลี่ยนเป็น ปตท.หมดจนไม่เหลือเค้าความเป็นปั๊มช้างแดงที่มีอยู่เดิม ขณะที่บางส่วนก็ปิดกิจการไปแล้ว
ความล้มเหลวของปั๊มช้างแดงในอดีต สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่ยึดติดแบรนด์เดิม กระทั่งมาถึงวิกฤตเศรษฐกิจ ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ยิ่งซ้ำเติมให้ปิโตรเอเชียอยู่ลำบาก
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปมีความเป็นไปได้ว่า อีกหนึ่งสาเหตุที่ซีพีลงมาทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน เพราะเซเว่นอีเลฟเว่น ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่เป็นร้านสะดวกซื้อตามปั๊มน้ำมัน (Gasoline Store) หรือ G Store
ในเวลานั้น มีร้านไทเกอร์มาร์ทของปั๊มเอสโซ่ ร้านสตาร์มาร์ทของปั้มคาลเท็กซ์ และร้านซีเล็คของปั๊มเชลล์ ซึ่งแต่ละค่ายต่างหาจุดดึงดูดให้ลูกค้าใช้บริการในปั๊มของตัวเอง
ซีพีจึงก่อตั้งปั๊มน้ำมันของตัวเองภายใต้ชื่อ ปิโตรเอเชีย เพื่อให้เซเว่นอีเลฟเว่นมีสาขา G Store ที่จะมารองรับไลฟ์สไตล์ของคนเดินทาง ภายหลังปั้มปิโตรเอเชียเปลี่ยนเป็นปั๊ม ปตท. ก็ยังคงให้บริการอยู่
ขณะที่ร้านเอเอ็มพีเอ็ม ที่ ปตท.บริหารในปี 2540 โดยมีทิพยประกันภัยร่วมลงขัน ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในความเป็นจริงได้เพียงแค่โลโก้เอเอ็มพีเอ็มมาติดไว้หน้าร้าน แต่ไม่ได้รับเซอร์วิสต่างๆ มาเลย
เมื่อ ปตท.ตัดสินใจเซ็นสัญญาให้เซเว่นอีเลฟเว่นเปิดร้านสะดวกซื้อแทนร้านเอเอ็มพีเอ็มเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2545 กลายเป็นการต่อความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างสองธุรกิจยักษ์ใหญ่ มาจนถึงทุกวันนี้
วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559
"เจริญ : ผู้ยิ่งใหญ่วงการที่ดินตัวจริง"
เขาไม่เคยมีมรดกที่ดินมาก่อน แต่เมื่อเขาเข้าสู่วงการธุรกิจผลิตและค้าสุราอย่างเต็มตัว สินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน กิจการอุตสาหกรรม ธนาคาร บริษัทประกันภัย ก็อยู่ภายใต้การครอบครองของเขาในเวลาอันรวดเร็ว เพียง 6 ปีเท่านั้น เขาสร้างสินทรัพย์เหล่านี้มาด้วยวิธีการใด เป็นปุจฉาที่หลายคนอยากรู้ "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนมกราคม 2531ได้เคยรายงานและวิเคราะห์ถึงชีวิตของเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ หรือ "สิริวัฒนภักดี" ในปัจจุบัน มาแล้วอย่างละเอียดในรายงานชิ้นนั้น "ผู้จัดการ" ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า "บางทีมีผู้คนในวงการธุรกิจยังตอบคำถามได้ไม่ชัดว่า เงินที่เจริญซื้อที่ดินและทรัพย์สินอื่นๆ อย่างมากมายนั้นมาจากไหน"
"ผู้จัดการ" ฉบับนี้จะทำหน้าที่สานต่อในประเด็นที่ทิ้งท้ายไว้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงกระบวนการระดมเงินของเจริญมาซื้อทรัพย์สินต่างๆ เพื่อเปิดแง่มุมของเจริญในอีกมิติหนึ่ง ในวงการบริหารธุรกิจของเจริญที่ทุกวันนี้ถ้าจะกล่าวว่าเขาไม่เพียงแต่จะเป็นนักซื้อที่แท้จริงเท่านั้น หากเป็นผู้ครอบครองที่ดินมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทยก็ว่าได้
ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยมีที่ดินมรดกตกทอดมาจากไหนเลย แม้แต่ตารางวาเดียว
ย้อนหลังไป 6 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งเกิดศึกประมูลโรงเหล้า ระหว่างกลุ่มสุรามหาราษฎรผู้ผลิตเหล้าแม่โขง และกลุ่มสุราทิพย์ผู้ผลิตเหล้าหงส์ทอง ข่าวนี้สร้างความฮือฮาให้กับผู้คนทั่วประเทศ เพราะนักนิยมดื่มสุรานั้นมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในประเทศไทย ในที่สุดกลุ่มสุราทิพย์ก็ชนะการประมูลโรงเหล้าในครั้งนั้น โรงเหล้าทั้งหมดทั่วประเทศ 12 โรงอยู่ภายใต้อำนาจการผลิตของเหล้าหงส์ทอง ด้วยสาเหตุนี้ประการหนึ่ง ประกอบกับเหล้าหงส์ทองมีรสชาติที่ไม่แตกต่างจากเหล้าแม่โขงมากนัก ศึกระหว่างเหล้าทั้งสองยี่ห้อจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แล้วในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ต้องจับมือกัน เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะประหัตประหารกันเอง ในธุรกิจค้าเหล้าซึ่งมีอยู่น้อยรายเช่นนี้
กลุ่มสุราทิพย์หรือกลุ่มที.ซี.ซี. ผู้ชนะการประมูลโรงเหล้าเมื่อหลายปีก่อน
วันนี้ได้ขึ้นมายืนผงาดอยู่ในวงการธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจค้าเหล้าเยี่ยงอย่างแต่ก่อน ผู้ถือธงนำที่มีอยู่เพียง 3 คน คือ เถลิง เหล่าจินดา, จุล กาญจนลักษณ์ และเจริญ สิริวัฒนภักดี ขณะนี้เหลือเจริญ (คนสุดท้าย) เพียงคนเดียวเท่านั้น นั่นจึงเท่ากับว่า เจริญเท่านั้นที่ขึ้นมายืนเด่นอยู่บนเส้นทางสายนี้
เถลิง เป็นผู้ที่เคยนั่งอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของกลุ่มสุรามหาคุณ และเป็นลูกพี่ให้เจริญตั้งแต่เริ่มทำงานในวงการสุราจวบจนทุกวันนี้ เป็นผู้ที่มีพระคุณต่อเจริญอย่างที่สุดคนหนึ่ง แต่ขณะนี้ได้ล้างมืออำลาจากวงการไปแล้ว
ส่วนจุล กาญจนลักษณ์ ผู้ปรุงสุรามือหนึ่งของกลุ่มสุรามหาราษฎร ต้นตำรับเหล้าแม่โขงที่คุ้นลิ้นคนไทย จบชีวิตลงเมื่อหลายปีก่อน จึงเหลือแต่เจริญที่กุมบังเหียนที.ซี.ซี.มาเพียงลำพัง
ธุรกิจค้าเหล้าเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนมากมายมหาศาล รายได้จากการขายเหล้าของกลุ่มที.ซี.ซี.ตกวันหนึ่งถึง 65 ล้านบาท เนื่องจากตลาดค้าเหล้าสามารถขายได้ทั่วประเทศ
ดังนั้นการกระโดดเข้ามาเป็นเศรษฐีของเจริญ ตั้งแต่เศรษฐีรายย่อยจนเป็นเศรษฐีรายใหญ่ไปจนถึงเป็นมหาเศรษฐี จึงเป็นไปตามเหตุผลของธุรกิจโดยแท้
นอกจากสาเหตุของธุรกิจค้าเหล้า ความร่ำรวยของเขายังสืบเนื่องมาจากคำว่า "โชค" ทุกๆ เงื่อนไขของการเจรจาซื้อ-ขาย ล้วนแล้วแต่เป็นโชคชนิดส้มหล่นเกือบทั้งสิ้น
มีคำกล่าวกันว่า คนรวยนั้นมักจะใช้วิธีเงินต่อเงิน แต่ถ้าจะพูดถึงเจริญแล้วคงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะวิธีการของเขาคือใช้เงินต่อเครดิต แล้วจึงใช้เครดิตนั้นต่อเครดิตอีกทอดหนึ่ง จากประสบการณ์เช่นนี้ เขาจึงเป็นนักซื้อผู้ร่ำรวยทรัพย์สินที่ดินเหยียบอัครมหาเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองไทย
เจริญเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง มีภาพปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ความจริงฐานะของเขาเป็นที่รู้จักกันภายในวงการธุรกิจหลายปีแล้ว ทุกวันนี้หากมีชื่อของเจริญอยู่ข้างหลังโครงการใดก็ตาม โครงการต่างๆ เหล่านั้นจะผ่านขั้นตอนการพิจารณาของธนาคารไปได้อย่างง่ายดายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก
การสะสมเครดิตจนทำให้ธนาคารทุกธนาคารในประเทศไทยไว้เนื้อเชื่อใจเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันง่ายๆ เขาต้องใช้เวลานับ 10 ปีในการสร้างฐานะบารมีกว่าจะมีทุกอย่าง อย่างวันนี้ ซึ่งเขาบรรจุการสะสมเครดิตเข้าไว้ในชีวิต เหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องใส่เสื้อผ้าแต่งตัวเพื่อให้ดูภูมิฐานอยู่ทุกวัน
เจริญเริ่มซื้อที่ดินที่ติดกับโรงเหล้า 12 โรง ตั้งแต่ได้สัมปทานใหม่ๆ เหตุผลเพราะว่า ส่าเหล้าซึ่งเป็นของเสียจากโรงงานนั้นไม่มีที่จะระบายออกไปได้อย่างถูกส่วน หากปล่อยทิ้งไปจะทำให้รบกวนชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นเขาจึงแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณนั้นเสียเอง พื้นที่เป็นพันๆ ไร่ต่อโรงเหล้าหนึ่งโรง ความจำเป็นที่ไม่ได้ตั้งใจทำให้เจริญต้องเป็นเจ้าของที่ดินหลายหมื่นไร่ไปโดยปริยาย และสิ่งนี้เองที่เป็นตัวสร้างฐานให้ชื่อของเขาขายได้ ในฐานะที่เป็นผู้มีทรัพย์สินอยู่มากมาย โดยเฉพาะโฉนดที่ดินที่ทุกธนาคารยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันที่ดีที่สุด
กระบวนการใช้เงินสร้างชื่อเสียงหรือเครดิตให้กับตัวเองจากลักษณะข้างต้นนี้ เจริญไม่ได้เพิ่งเริ่มทำเมื่อประมูลโรงเหล้าได้ หากแต่ก่อนหน้านั้นเขาเองก็มีเครดิตอยู่ไม่น้อย ถาวร อนันต์คูศรี เพื่อนคนหนึ่งของเขาเล่าให้ฟังว่า"เจริญอยู่ต่างประเทศแท้ๆ แต่เขาโทรศัพท์มาบอกผมว่า...ให้ผมเซ็นเปิด L/C คนเดียวก็ได้ เขาว่าเขาโทรศัพท์มาบอกแบงก์แล้ว" วงเงินกู้ในคราวนั้นถึง 30 ล้านบาท ซึ่งผู้มีอำนาจลงนามคือถาวรและเจริญต้องลงนามร่วมกัน เจริญเพียงแต่โทรศัพท์สายตรงมาบอกนายธนาคารเรื่องราวก็ง่ายไปโดยปริยาย
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว เขาเคยร่วมกันกับถาวรรับซื้อโลหะเงินจากต่างประเทศเข้ามาขายให้กับกรมธนารักษ์ ในนามบริษัทแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล อัลอัลรอยด์
ปัจจุบันธุรกิจนี้เลิกไปแล้ว เพราะหนึ่ง-มันไม่คุ้มกับการเสี่ยงความแปรปรวนของราคาโลหะเงินในตลาดโลก และสอง-เจริญสนใจทำธุรกิจที่ความเสี่ยงน้อย แต่เห็นเงินสดรวดเร็วมากกว่า
อาณาจักรของเจริญไม่ได้เพียงแค่ธุรกิจค้าเหล้า 2-3 ปีที่ผ่านมาเจริญเริ่มเดินออกจากฉากกำบังเผชิญหน้ากับวงการธุรกิจอย่างเปิดเผย เขาเริ่มซื้อกิจการสถาบันการเงิน ซื้อกิจการอุตสาหกรรม ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซื้อหุ้น และซื้อที่ดิน
ไม่มีใครรู้ว่าเจริญคิดอย่างไร แต่ทุกอย่างที่เขาเข้าไปซื้อล้วนแล้วแต่เป็นของสำเร็จรูปทั้งสิ้น เช่น โรงงานน้ำตาลที่ชลบุรี, โรงงานกระดาษที่บางปะอิน, หมู่บ้านเสนานิเวศน์, ตึกปตท.เก่า, ตึกสำนักงานใหญ่ธนาคารสหธนาคารที่เยาวราช, ตึกพันธุ์ทิพย์ พลาซา, อินเตอรืไลฟ์ประกันชีวิต, หรือแม้แต่หุ้น 40% จากอาคเนย์ประกันภัย จะมีก็แต่ที่ดินเท่านั้นที่อยู่ในลักษณะก้ำกึ่ง จะว่าเป็นของสำเร็จรูปหรือไม่ใช่ก็ได้ เพราะยังสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้อีก หรือจะปล่อยเป็นที่ดินว่างเปล่าให้มันเพิ่มมูลค่าด้วยตัวมันเองก็ได้อีกเช่นกัน
การขยายอาณาจักรธุรกิจของเจริญ เหตุใดจึงใช้วิธีการซื้อกิจการเหมือนกับวิธีการขยายอาณาจักรธุรกิจของนักธุรกิจในสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่เจริญเรียนมาแค่ป.4 ไม่ใช่ MBA มาจากที่ไหน และที่สำคัญคือธุรกิจของเขาไม่มีลักษณะสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในตลาดโลกเลย ซึ่งไม่น่าที่เขาจะมีความคิดอ่านทันต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลกได้
แต่คนอย่างเจริญ เขาทำได้เสมอ!
หากจะประเมินกันตามเหตุผล จะพบว่า การจะได้มาซึ่งโรงงานน้ำตาลสักโรง ถ้าไม่ใช่ได้มาจากการซื้ออย่างเช่นในกรณีของเจริญก็ต้องสร้างขึ้นเอง และเมื่อคิดต่อถึงขั้นตอนในการสร้างโรงงาน เราก็จะพบต่อไปอีกถึงกระบวนการต่างๆ ที่ต้องผ่านมามากมายนั้น ตั้งแต่ขั้นตอนในการลงทุนซื้อที่ดิน โดยต้องหาสถานที่ที่เหมาะสมทั้งการขนย้ายวัตถุดิบและการจัดจำหน่าย ต้องลงทุนก่อสร้างเองซึ่งอาจจะต้องเสี่ยงกับราคาวัสดุอุปกรณ์ ส่วนขั้นตอนอื่นๆ นั้นก็มีลักษณะไม่แพ้กัน ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านความยุ่งยากซับซ้อนและกินเวลาเป็นปีๆ ทั้งสิ้น แต่สำหรับเจริญเขาใช้เวลาเพียงไม่เกิน 2 เดือนก็สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ เป็นเจ้าของตึกราคาหลายร้อยล้านได้ โดยไม่ต้องเจอภาวะความเสี่ยงเยี่ยงเจ้าของโครงการต่างๆ ในปัจจุบัน
ดังนั้น...หากจะบอกว่าเขาฉลาด ก็อาจจะไม่ผิด แต่ถ้าให้ดีต้องเติมลงไปอีกนิดว่า เขาฉลาดในการเลือกช่องทางลงทุน เพราะถ้าหากทรัพย์สินที่ซื้อมาแต่ละตัวนั้นไม่มีอนาคต เขาเองก็คงไม่ตัดสินใจลงไปเสี่ยงในทรัพย์สินตัวนั้นด้วยเหมือนกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการลงทุนที่ใช้เหตุผลทางธุรกิจที่เข้าใจกันได้
หลายกรณีที่เขาตัดสินใจเข้าไปลงทุนในกิจการอื่นๆ โดยวิธีการเข้าซื้อกิจการ เป็นไปในลักษณะเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมากกว่าเหตุผลทางธุรกิจ เช่นกรณีเขาซื้อหมู่บ้านเสนานิเวศน์โครงการ 2 ในนามบริษัทสยามพัฒนา ขนาด 400 ไร่ ก็เพื่อต้องการช่วยเหลือในทางออกให้ชวน รัตนรักษ์ แห่งธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่เป็นเจ้าของโครงการอยู่เดิม หรือในกรณีซื้อหุ้น 40% ในนามบริษัทสุราทิพย์ จำกัด จากกลุ่มนรฤทธิ์ ในอาคเนย์ประกันภัย ทั้งๆ ที่เขารู้ดีว่ามีความขัดแย้งกันอย่างสูงในกลุ่มกรรมการและผู้ถือหุ้น หรือในกรณีซื้อพันธุ์ทิพย์ พลาซา จากกลุ่มไพบูลย์สมบัติ และที่ดินของไพบูลย์สมบัติอีก 5 แปลงในเวลาเดียวกัน ก็เป็นไปโดยเหตุผลนี้ทั้งสิ้น
"แต่ละกรณีที่ว่า เจริญใช้เวลา deal กับผู้ขายไม่เกิน 3 ครั้งเท่านั้นก็ตัดสินใจซื้อแล้ว" คนใกล้ชิดเจริญกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
กลไกทางธุรกิจมักจะให้ประโยชน์กับผู้มีอำนาจต่อรองเสมอ ในกรณีการซื้อกิจการของเจริญก็เช่นกัน เขาได้ "เงื่อนไขพิเศษ" เสมอจากผู้ขาย หรืออุปมาอุปไมยเหมือนส้มหล่นเข้าตะกร้าโดยไม่รู้ตัว
เขาซื้อเสนานิเวศน์โครงการ 2 ด้วยเงื่อนไขผ่อนชำระเป็นงวดๆ ยาว 15 ปี ซื้อพันธุ์ทิพย์ พลาซา ด้วยการเข้ารับสภาพหนี้โดยวิธีไถ่ถอนให้กลุ่มไพบูลย์สมบัติกับธนาคารไทยทนุและภัทรธนกิจร่วม 500 ล้านบาท และค่อยๆ ผ่อนชำระเป็นงวดๆ ยาว 10 ปี พร้อมได้ที่ดินอีก 5 แปลงในย่านทำเลทองของไพบูลย์สมบัติมูลค่า 500 ล้านบาทมาด้วย"เพียงแค่แปลงตลาดเก่าเยาวราชและอีก 55 ไร่ตรงข้ามและด้านข้างโกดังอี๊สต์เอเชียติ๊ก พระยาไกร ราคาที่ดินปัจจุบันก็เกินราคาซื้อมาแล้ว" นักเลงที่ดินรายหนึ่งเล่าให้ฟัง
"ส้มหล่น" ลักษณะนี้มีอยู่คู่กับชีวิตของเจริญมาโดยตลอด แม้แต่รถเบนซ์คันแรกของเขา ก็ได้รับการเสนอขายจากลูกพี่เก่าเถลิง เหล่าจินดา ในราคาเพียง 4 แสนบาท ด้วยเงื่อนไขพิเศษคือ ไม่คิดดอกเบี้ย และให้โอกาสผ่อนชำระเป็นงวด งวดละเพียงหนึ่งหมื่นบาท หลายๆ คนกล่าวว่า"เขาเป็นคนดีไม่มีศัตรู เข้าหาผู้ใหญ่เก่ง มีแต่คนรักใคร่ ดังนั้นจึงพบแต่ความโชคดี"...ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้...
เมื่อเจริญก้าวเข้ามาเช่นวันนี้ จุดที่น่าสนใจคือเขาหมุนเงินอย่างไรจึงสามารถนำมาซื้อทรัพย์สินและที่ดินทั่วประเทศได้อย่างมากมาย ที่ "ผู้จัดการ" สืบค้นได้เฉพาะที่ดินมีถึง 32 แปลงทั่วประเทศ (ดูตารางประกอบ)
แหล่งเงินของเจริญที่สำคัญนั้นมาจาก 2 แหล่งใหญ่ๆ แหล่งแรกได้มาจากการค้าเหล้าซึ่งเป็นหัวใจหลัก
เพราะหนึ่ง-ธุรกิจค้าเหล้าเป็นเงินสด ยอดขายโดยเฉลี่ยตกวันละ 65 ล้านบาท สอง-เจริญเป็นผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารทางการเงินทุกใบแต่ผู้เดียวร่วมกับภรรยา สาม-ขณะที่เทอมการชำระค่าสัมปทานการผลิตและจำหน่ายแก่กรมสรรพสามิตเป็นงวดๆ ไม่ใช่เดือนต่อเดือนเหมือนดอกเบี้ย ดังนั้นการนำรายได้จากการขายเหล้าไปลงทุนโดยการให้กู้ยืมเพื่อสร้างดอกสร้างผล จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เหมือนกับเอาเงินไปต่อเงิน
"เพียงเอาบริษัทลงทุนสักบริษัทหนึ่งไปเป็นลูกหนี้กู้ยืมจากบริษัทในกลุ่มธุรกิจสุรา แล้วเอาไปปล่อยต่อให้บริษัทในเครือเพื่อลงทุนซื้อทรัพย์สินต่างๆ ก็เล่นได้ไม่ยาก ในเมื่อเจริญและวรรณาเป็นผู้มีอำนาจลงนามเอกสารทางการเงินทุกบริษัทแต่ผู้เดียว" อดีตคนใกล้ชิดเจริญคนหนึ่งเล่าให้ บผู้จัดการ" ฟังถึงกลวิธีการระดมทุนของเจริญ
ส่วนแหล่งเงินอีกแหล่งหนึ่งนั้น ได้มาจากสถาบันทางการเงินต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศซึ่งจะมาในรูปของเงินกู้
การยักย้ายถ่ายเงินมีลักษณะคล้ายกับบริษัทใหญ่ๆ ทั่วไป คือใช้วิธีตั้งบริษัทลงทุนขึ้นมาหลายๆ บริษัทเพื่อทำหน้าที่หาแหล่งเงินทุน แล้วจึงนำมาปล่อยกู้ให้แก่บริษัทในเครืออื่นๆ
บริษัทลงทุนที่อยู่ในเครือของที.ซี.ซี.นั้นมีอยู่หลายบริษัทด้วยกัน บริษัทที่จัดอยู่ในลำดับแนวหน้าบริษัทหนึ่งคือ บริษัท เจริญวรรณกิจ ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท พงส์เจริญการลงทุน เมื่อ 15 พฤษภาคม 2527 และถือว่าเป็นบริษัทของเจริญเอง ถึงแม้ว่าจะมีผู้ถือหุ้นรายอื่นปะปนอยู่ แต่เกือบทั้งหมดนั้นก็เป็นหุ้นของเจริญที่เข้าไปถือในนามบริษัทลงทุนต่างๆ
อีกบริษัทหนึ่งที่อยู่ในลำดับแนวหน้าไม่แพ้กันคือ บริษัท ฮอนด้า (ประเทศไทย) มีชื่อเหมือนกับบริษัทฮอนด้าคาร์ (ไทย) ผู้ผลิตรถยนต์ฮอนด้า แต่ความจริงเป็นคนละส่วนกัน บริษัท ฮอนด้า (ประเทศไทย) ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2521 เริ่มด้วยทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาทเท่านั้น ตอนแรกเจริญต้องการร่วมทุนกับฮอนด้าญี่ปุ่นในสัดส่วน 60 : 40 เพื่อผลิตรถยนต์ฮอนด้าในไทย แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจหันมาทุ่มเหล้าชื่อบริษัทก็เลยเหมือนกันโดยปริยาย
จากงบดุลปี31 แสดงให้เห็นถึงหนี้สินหมุนเวียนของบริษัทฮอนด้า (ไทย) ซึ่งมีถึง 1,007 ล้านบาท แบ่งออกเป็นตั๋วเงินจ่าย 200 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ส่วนอีกประมาณ 800 ล้านบาทเป็นเงินกู้ยืมจากธนาคารต่างประเทศ แบ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น 758 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8.8125 ต่อปีและ 10.125 ต่อปี และเงินกู้ระยะยาว 171 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี เงินในส่วนนี้จะถูกนำไปปล่อยให้บริษัทในเครือกู้อีกต่อหนึ่ง จะเห็นได้จากลูกหนี้การค้าในงบดุลมีอยู่ถึง 819 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)
ในทางปฏิบัติสำหรับในเครือที.ซี.ซี. บริษัทลงทุนที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศนั้น จะมีวัตถุประสงค์หลักคือ นำเงินนั้นมาปล่อยกู้ให้กับบริษัทในเครือ เพื่อให้บริษัทในเครือนำเงินจากส่วนนี้ไปใช้ชำระหนี้ที่ทำไว้กับสถาบันการเงินภายในประเทศอีกต่อหนึ่ง เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ได้จากต่างประเทศนั้นถูกกว่าในประเทศอยู่มาก แหล่งข่าวรายหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า"ดอกเบี้ยจากต่างประเทศได้มา 4-5% เท่านั้นเอง" ส่วนสิ่งที่นำไปค้ำประกันนั้นก็คือบริษัทลงทุนอื่นๆ ในเครือ ซึ่งก็จะใช้ลักษณะเช่นเดียวกันนี้เกือบทุกบริษัท
ถึงแม้ว่าคณะกรรมการของบริษัทลงทุนหรือบริษัทในเครือต่างๆ จะเป็นคนอื่น ไม่ใช่ตัวเจริญหรือวรรณาภรรยาของเขาก็ตาม แต่คนเหล่านั้นก็เป็นลูกน้องเก่าซึ่งเขาแต่งตั้งขึ้นมาเองทุกคน เช่น อุทัย อัครพัฒนากุล, สุเมธ ทนุตันติวงศ์, พูลทรัพย์ ฮึงสกุล, กนกนาฎ รังษีเทียนไชย, กานดา อุตตมะดิลก เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาหากอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดจะต้องขึ้นอยู่กับเขา เจริญจึงเหมือนเป็นตัวแทนของที.ซี.ซี. เพราะเหตุนี้จึงทำให้ชื่อของเขาเป็นเครดิตที่สำคัญที่สุด และสามารถใช้การันตีต่อธนาคารได้ เครดิตตรงนี้เองที่เขานำมาใช้ต่อเครดิตอีกทอดหนึ่งสำหรับการซื้อทรัพย์สินหลายๆ อย่าง
ระยะหลัง (ช่วงปี 2530 เป็นต้นไป) จากธุรกิจเหล้าที่โรมรันพันตูกับแม่โขงจนเลือดสาดทั้งคู่มารวมกันสงบศึก เขามีเวลาว่างและสบายใจมากพอที่จะหันมาเล่นที่ดินจนกลายเป็นนักซื้อ แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเจริญรายหนึ่งยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า"เจริญเริ่มจะมาเล่นที่จริงจังก็ระยะช่วงปี 29-30 หลังจากที่กิจการเหล้าของแกไปได้สวยแล้ว" มันเป็นความจริงที่แต่ก่อนเขาทุ่มเทให้กับเหล้าหงส์ทองอย่างสุดชีวิตจนมาเพลามือลงบ้าง เพราะส่วนหนึ่งมีคู่เขยมาร่วมรับผิดชอบ ประกอบกับสถานการณ์แข่งขันอย่างเอาเป็นตายกับแม่โขงได้ยุติลงโดยรวมตัวกันเมื่อปี 2528
ระยะแรกของการซื้อที่ดินอาจเป็นภาวะจำเป็น เพื่อเป็นที่ระบายของเสียจากโรงงานเหล้าดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่ต่อมาระยะหลังช่วงปี 30-31 เจริญกลับเป็นนักเล่นที่อย่างจริงจัง แหล่งข่าวเล่าว่าเจริญยังไม่เคยขายที่ดินแปลงไหนที่ซื้อมาเลย แม้แต่แปลง 2,000 ไรที่บ้านบึงที่ซื้อต่อมาจากเถลิง เหล่าจินดา ในราคาถูกๆ ไร่ละ 20,000 บาทเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่เถลิงล้างมือจากวงการสุรา เดี๋ยวนี้ราคาไร่ละ 200,000 บาท เป็นต้น เพราะฉะนั้นหากจะทึกทักเอาว่า เขาซื้อไว้เพื่อขายเก็งกำไรก็ยังไม่อาจจะกล่าวเช่นนั้นได้ในเวลานี้ ที่ดินนั้นหากไม่ซื้อมาเพื่อขายเอากำไร อีกทางหนึ่งก็คือ นำเอาที่ดินนั้นไปพัฒนา เป็นสิ่งปลูกสร้างอาคาร
เจริญเคยคิดจะทำโครงการลักษณะนี้อยู่เหมือนกันตั้งแต่ปี 2531 เขาพยายามดึงตัวผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆ ฝ่ายเข้ามาช่วย เช่น ไพบูลย์ สำราญภูติ จากนิคมอุตสาหกรรมบางปู แต่แล้วพวกเขาเหล่านั้นก็เดินออกจากที.ซี.ซี.ไปภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ด้วยเหตุผลที่เหมือนๆ กันคือ ไม่มีงานทำเพราะโครงการต่างๆ นั้นยังไม่เกิด และไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นด้วย เพราะจนกระทั่งบัดนี้ โครงการใดๆ ที่ว่านั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นเลย เมื่อถามผู้ร่วมงานใกล้ชิดเจริญหลายๆ คนว่า เขาจะซื้อที่เอาไว้ทำไมตั้งมากมาย ก็ไม่มีใครตอบได้ชัดเจนแน่นอนสักคน เพราะเจริญจะเป็นผู้ตัดสินใจเพียงลำพังคนเดียวทั้งหมด แต่อย่างน้อยมันก็เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ช่วยแบ็กอัพชื่อของเขาอยู่ หากไม่เป็นประโยชน์ทางตรงให้เราเห็นกัน มันก็ยังมีประโยชน์แบบอ้อมๆ ในลักษณะนี้
เจริญย่อมมีวัตถุประสงค์ของเขา ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่จำเป็นต้องจ้างมือดีๆ ให้เข้ามาอยู่ในสังกัดที.ซี.ซี.เพื่อคอยกว้านซื้อที่ดินเพียงอย่างเดียว ผู้ชำนาญการที่ดินหรือมือทองของเจริญคนหนึ่งเคยเป็นผู้จัดการสาขาอยู่ธนาคารกรุงศรีฯ พัวพันกับเรื่องที่ดินตั้งแต่สมัยทำงานกับธนาคาร จึงทำให้มีความชำนาญในการประเมินราคาที่และมีความสามารถในการเจรจามากเป็นพิเศษ
แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวถึงมือทองของเจริญคนนี้ว่า "เขาไปดูที่ตามที่มีคนมาเสนอขายเกือบทุกวัน ตรงไหนสวย ตรงไหนถูก เจริญแกเอาหมด จนเดี๋ยวนี้ตู้เก็บโฉนด...จะปิดไม่ลงอยู่แล้ว..." แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดอีกคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่ากันว่าเขาเป็นเจ้าของที่ดินเกือบพันแปลงแล้วเวลานี้
"ผู้จัดการ" ไม่ยืนยันในตัวเลขข้อมูลนี้ แต่คนใกล้ชิดยืนยันว่าเป็นไปได้
การซื้อทรัพย์สินของเจริญ ไม่ว่าจะเป็นกิจการอุตสาหกรรม-การเงิน ตึกอาคาร หุ้นและที่ดิน เขาจะใช้วิธีการซื้อผ่านบริษัทในเครือ ดังนั้นสินทรัพย์ต่างๆ ที่ถูกซื้อมาแล้ว จะไปปูดอยู่อยู่ในบัญชีทรัพย์สินของบริษัทในเครือต่างๆ
มีอยู่บริษัทหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลเรื่องที่ดินโดยเฉพาะ คือบริษัทที.ซี.ซี.ทรัพย์สินเจริญ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 แต่เดิมนั้นมีชื่อว่าบริษัทที.ซี.ซี.ที่ดินและการเคหะ เพิ่งจะมาเปลี่ยนชื่อเมื่อปี 2531สินทรัพย์ในบริษัทเกือบ 100% อยู่ในหมวดอาคาร ที่ดิน และอุปกรณ์ คิดเป็นตัวเลขถึง 387 ล้านบาท และในจำนวนนี้แบ่งเป็นที่ดินถึง 381 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 6 ล้านบาทนั้นเป็นอาคาร ยานพาหนะและเครื่องใช้สำนักงาน ตัวเลขนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ดี
การซื้อที่ดินแปลงละหลายๆ ล้านบาท วิธีที่นิยมทำกันคือ การกู้ยืมเงินระยะยาวจากสถาบันทางการเงินอาจใช้เวลาผ่อนชำระ 5-10 ปีแล้วแต่กรณีไป บริษัทที.ซี.ซี.ทรัพย์สินเจริญก็ทำลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ที่ดินหลายร้อยแปลงจำนวนเงินหลายร้อยล้านบาทนั้น สามารถกู้ยืมได้จากสถาบันการเงินได้อย่างไม่มีปัญหา สินทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันก็คือบริษัทลงทุนและบริษัทในเครือต่างๆ ที่วนอยู่นั่นเอง และก็มีหลายกรณีที่เจริญใช้ชื่อของเขาค้ำประกันในนามบุคคล ซึ่งจะเป็นเฉพาะกรณีใหญ่ๆ เท่านั้น เช่น วงเงินเบิกเกินบัญชีของบริษัทในเครือ
นั่นเป็นวิธีการใช้เครดิตต่อเครดิตของเจริญมีลักษณะคล้ายๆ วังวนซึ่งก็จะวนอยู่แต่ในที.ซี.ซี. สาเหตุจากการซื้อทรัพย์สินในนามของบริษัท จึงส่งผลให้บริษัทต่างๆ เหล่านั้นมีสินทรัพย์มากขึ้นตามลักษณะทางบัญชี ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งหมายความถึง ความน่าเชื่อถือของบริษัทมีมากขึ้นเท่านั้น และในที่สุดก็มีฐานะไปค้ำประกันให้กับบริษัทในเครืออื่นๆ ได้ ซึ่งก็จะวนเวียนสลับกันค้ำประกันไปมา โดยเฉพาะเมื่อมีการซื้อทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาอีก และถ้าหากวงเงินขนาดใหญ่มาก ไม่พอที่บริษัทแต่ละบริษัทจะค้ำประกันให้กันได้ ถึงครานั้นจึงจะต้องพึ่งชื่อของเจริญให้ค้ำประกันในนามบุคคล ซึ่งธนาคารให้ความเชื่อถืออย่างที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อในบริษัทที่อยู่ข้างหลังเขา ซึ่งแน่นอนก็คือบริษัทในธุรกิจสุราและกิจการอื่นๆ ในเครือทั้งหลาย ซึ่งทรัพย์สินมากมายเหล่านั้นนั่นเอง
ทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่า เจริญเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยที่ดินมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย เขาสามารถบริหารเงิน บริหารทรัพย์สินได้อย่างน่าทึ่ง โดยใช้สถาบันทางการเงินและบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจ "ลงทุน" โดยเฉพาะซึ่งมีอยู่นับ 10 บริษัทเป็นเครื่องมือหลัก โยงใยทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุน สนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ในเครือไปลงทุนในกิจการต่างๆ ดุจปลาหมึกยักษ์ ไม่ต่างอะไรกับวิธีการบริหารทุนของเหล่าธนาคารพาณิชย์ในบ้านเรา
จนเดี๋ยวนี้ เครดิตของเจริญเป็นที่ยอมรับในวงการธุรกิจการเงินและมีความเชื่อถือมากพอๆ กับเครดิตของธนาคาร และถ้าจะพูดว่าเครดิตของเขาเป็นที่เชื่อถือมากกว่าเครดิตของธนาคารบางแห่งก็ไม่ผิดนัก
คู่แข่งหน้าใหม่ของสิงห์
"มูลค่าตลาดนับหมื่นล้านบาทส่วนแบ่งตลาดกว่า 90% บุญรอดบริวเวอรี่ผู้ผลิตเบียร์สิงห์ต้อนรับคู่แข่งหน้าใหม่ จาก ค่ายสุราทิพย์และวานิช ไชยวรรณ รวมถึงอมฤตในอีก 3 ปีข้างหน้า ด้วยกลยุทธขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวพร้อมปกป้องเครือข่ายตลาดอย่างรุนแรง"
กรมสรรพสามิตด้วยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังอนุญาตให้เอกชนหน้าใหม่เปิดโรงงานผลิตและจำหน่ายเบียร์เพิ่มขึ้นอีก 3 โรง โดยที่ 2 ใน 3 โรงนั้นเป็นของยักษ์ใหญ่วงการสุราไทย "เจริญ สิริวัฒนภักดี" จากค่ายสุราทิพย์ และอีกโรงเป็นของ "วานิช ไชยวรรณ" จากกลุ่มไทยประกันชีวิต
ด้วยตัวเลขประมาณการลงทุนขั้นต่ำในโรงเบียร์ใหม่ทั้ง 3 โรง คาดว่าเป็นเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยเฉลี่ยโรงละ 1,500 ล้าน (ขึ้นอยู่กับราคาที่ดิน) และมีกำลังการผลิตน้ำเบียร์สูงสุดถึงโรงละ 100 ล้านลิตร/ปี
ทั้งนี้ 1 ใน 2 โรงใหม่ของเจริญได้จับมือร่วมทุนกับเบียร์ชื่อดังของโลก "คาร์ลสเบิร์ก" จากประเทศเดนมาร์ก กำลังจะเริ่มดำเนินการผลิต และคาดว่าจะมีผลิตผลเบียร์ออกสู่ตลาดในราวไตรมาสที่ 2 ของปี 2536
ส่วนอีก 2 โรงที่เหลือจะทยอยดำเนินการผลิตตามมาจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี หรือในปี 2538
ผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ได้คาดการณ์กันว่า ในปี 2538 หลังจากที่โรงเบียร์ใหม่ทุกโรงผลิตน้ำเบียร์ออกมาพร้อมๆ กันแล้ว จะมีผลอตผลออกสู่ตลาดขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200 ล้านลิตร ทั้งนี้รวมถึงการขยายโรงงานของเบียร์เจ้าเก่า คือไทยอมฤตที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 100 ล้านลิตรด้วย
เบียร์ใหม่ 200 ล้านลิตรที่จะเพิ่มขึ้นมานั้น คำนวนจากโรงเบียร์ใหม่ทั้ง 4 โรง ที่จะต้องดำเนินการผลิตน้ำเบียร์ออกมา อย่างน้อยถึง 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดซึ่งเป็นจุดที่จะประหยัดต่อขนาดสำหรับโรงเบียร์ที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 100 ล้านลิตร/ปี
ด้วยตัวเลขในปัจจุบันยอดขายเบียร์ทั้งอุตสาหกรรมแหล่งข่าวจากการสรรพสามิตได้เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ปี 2535 จาก มค.-พย. อุตสาหกรรมเบียร์มียอดขายทั้งหมดประมาณ 305 ล้านลิตร มูลค่าตลาดเกือบ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มเมื่อเปรียบเทียบกับในปีที่ผ่านมาประมาณ 8% กว่าหรือจากยอดขายรวม 280 ล้านลิตร"
ฉะนั้นแล้วเมื่อนำผลผลิตเบียร์ในตลาดมารวมกับผลผลิตเบียร์ใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นมา ก็เท่ากับว่าในปี 2538 อุตสาหกรรมเบียร์ไทยจะมีผลิตผลเบียร์ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านลิตรจากโรงงานผลิตเบียร์ทั้งหมด 5 โรง
แต่สถิติของปริมาณการบริโภคเบียร์ในตลาดเบียร์ไทยนั้น มีการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ในช่วง 8-12% นั้นคือจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่จะไปในทิศทางเดียวกัน
ดังนั้นการบริโภคน้ำเบียร์รวมในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือปี 2538 ที่คำนวนจากตัวเลขการเติบโตของการบริโภคที่เฉลี่ยปีละ 12% (ดูจกาสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี) จะมีการบริโภครวมเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 123 ล้านลิตร/ปี
เท่ากับว่าความต้องการบริโภคน้ำเบียร์รวมจะเพิ่มขึ้นประมาณ 428 ล้านลิตรในปี 2538 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกำลังการผลิตทั้งหมดแล้วทำให้มีผลผลิตส่วนเกินทั้งอุตสาหกรรมอยู่ประมาณ 80 กว่าล้านลิตร
คำถามคือว่า เบียร์หน้าใหม่ทั้ง 3 โรง จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อฝ่าปราการของเจ้าตลาดอย่าง "เบียร์สิงห์" ที่ครองตลาดเบียร์ไทยด้วยตัวเลขล่าสุดอยู่ถึง 93% ของยอดขายรวมในตลาดเบียร์ไทย
ถึงแม้เบียร์ใหม่ทั้ง 3 โรงนั้น เบื้องหลังแล้ว คือยักษ์ใหญ่ในวงการสุราของไทย ที่มีความยิ่งใหญ่ หากจะวัดกันที่กำลังเงินหรือศักดิ์ศรี พอฟัดพอเหวี่ยงกันทั้ง 2 กลุ่มหรือแม้แต่กับบุญรอดฯ เจ้าของเบียร์สิงห์ก็ตาม คงจะไม่แพ้กันเลยทีเดียว
แต่สำหรับในธุรกิจค้าน้ำเบียร์แล้วทั้ง 2 กลุ่มถือว่าเป็นยักษ์หน้าใหม่ผู้มาทีหลัง ยังไม่เจนจัดในยุทธจักรของตลาดเบียร์ไทย แล้วจะทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่ยึดติดอยู่กับแบรด์รอยัลตี้ในเบียร์สิงห์ที่สูงกว่า 90% ของตลาดรวมทั้งระบบได้
ความเป็นเจ้าตลาดอย่าง "เบียร์สิงห์" คงไม่ปล่อยให้เบียร์หน้าใหม่เข้าสู่ตลาดได้อย่างง่ายดายเป็นแน่ เพราะด้วยสั่งสมประสบการณ์และเกมการต่อกรที่มีทั้งรุกและรับในตลาดเบียร์ไทย ที่เรียกว่าเป็นผู้ผูกขาดมาตลอดกาลเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี
"มันยังไม่เหมาะในภาวะตลาดที่สิงห์นำตลาดอยู่กว่า 90%" คนในซีพีเล่าถึงเหตุผลหนึ่งที่ต้องหยุดลงทุนในโครงการผลิตเบียร์
อย่างไรก็ตาม เบียร์หน้าใหม่ทั้ง 3 โรงยังคงปิดตัวเองเงียบกันอยู่ทั้ง 2 กลุ่ม มีเพียงบางกระแสข่าวที่ออกมาเขย่าบัลลังก์เบียร์สิงห์ให้สั่นไปบ้าง ถึงการกำเนิดของเบียร์หน้าใหม่ทั้ง 3 โรงที่จะมีการร่วมลงทุนกับเบียร์ดังในตลาดโลก
แต่ก็ไม่อาจคาดเดาสถานการณ์ในอนาคตได้เลยว่าจะออกมาในรูปใด
เพราะเบียร์สิงห์เอง ก็ได้กลับมาทบทวนแผนการตลาดกันใหม่ สั่งคุมเข้มสินค้าของตัวเอง เพื่อเป็นการเตรียมรับมือที่ต้องถือคติว่า "กันไว้ดีกว่าแก้"
ดังนั้นแล้ว นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปการย่างก้าวของเบียร์สิงห์เบียร์ไทยต้องมั่นคงและมั่นใจในทุกๆ ฝีก้าว เพื่อปกป้องตำแหน่งผู้นำและในเวลาเดียวกันก็ต้องเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดให้กับตัวเองไปด้วย
เบียร์ จัดว่าเป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่ผลิตมาจากพืชและมีแอลกอฮอลผสมอยู่ ว่ากันว่าเบียร์นั้นเริ่มมีการผลิตโดยชนชาวบาบิโลเนียมากกว่า 6,000 ปีแล้ว
และได้มีการวิวัฒนาการมาเป็นลำดับจนเป็นที่นิยมผลิตและบริโภคในแถบยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชาติเยอรมันนี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชาติที่เชี่ยวชาญการผลิตและบริโภคเบียร์มากที่สุดในโลก
กรรมวิธีของการผลิตเบียร์ถือว่าไม่ได้สลับซับซ้อนมากนัก แต่ขึ้นอยู่กับสูตรการผลิตที่จะกำหนดสัดส่วนของวัตถุดิบที่นำมาใช้ให้ได้ขนาดตามต้องการ โดยเบียร์มีส่วนผสมของวัตถุดิบคือ 1 ข้าวมอลท์ (malt) ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้จากข้าวบาร์เลย์ โดยผ่านกรรมวิธี malting process แป้งในข้าวมอลล์จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล เพื่อใช้ในการหมักบ่มเบียร์ ในระหว่างการต้มเบียร์จะมีคุณภาพดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้าวมอลล์ที่นำมาใช้ในการผลิตเป็นสำคัญซึ่งมอลท์มีอยู่ 3 ชนิด คือ ไวท์มอลท์ บราวน์มอลท์ และแบล็คมอลท์
ส่วนผสมที่ 2 คือน้ำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตเบียร์อีกด้านหนึ่ง เนื่องจากเบียร์จะมีส่วนประกอบของน้ำอยู่ถึงร้อยละ 90 และคุณภาพของน้ำมีผลต่อรสชาติของเบียร์ เช่น น้ำที่มีแร่ธาตุแคลเซี่ยมและโซเดียมละลายอยู่ด้วย จะช่วยให้เบียร์มีรสชาติดีขึ้น
ส่วนผสมที่ 3 คือดอกฮ็อปส์ (hops) เป็นดอกของไม้เลื้อยชนิดหนึ่งซึ่งนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเบียร์เพื่อให้เบียร์มีกลิ่นหอม และมีรสออกขมนิดๆ
และสุดท้ายคือ เชื้อหมัก (yeast) ทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอลและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
กรรมวิธีการผลิตเบียร์นั้น จะเริ่มจากการนำข้าวมอลท์ดังที่กล่าวมาแล้ว มาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำซึ่งจะได้สารละลายที่เรียกว่า วอร์ต (wort) จากนั้นนำวอร์ตไปต้มและกรองแยกกากมอลท์ออกแล้วก็นำไปต้มอีกครั้งกับดอกฮ็อป (อาจเติบน้ำตาลด้วยก็ได้) ทิ้งไว้ให้เย็นที่อุณหภูมิ 10-15 องศาเซลเซียส แล้วจึงเติมเชื้อหมักเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาจนได้เบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอลตามต้องการ
ต่อจากนั้นนำไปแยกเชื้อหมักออกจะได้น้ำเบียร์ แล้วจึงนำไปบรรจุภาชนะและนำไปผ่านขบวนการพาสเจอร์ไรซ์เพื่อฆ่าเชื้อโรคในขั้นสุดท้าย ซึ่งจะได้เบียร์บรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง หรือจะนำลงบรรจุในถังไม้เพื่อจะได้เบียร์สด แต่เบียร์สดจะไม่ผ่านขั้นตอนการพาสเจอร์ไรซ์
ฉะนั้นในตลาดเบียร์ จึงมีชนิดของเบียร์ ทั้งเบียร์ที่บรรจุขวด บรรจุกระป๋อง และเบียร์สดด้วยขบวนการผลิตดังที่กล่าวมา
หากจะย้อนยุคกลับไปในอดีตแล้ว ตลาดเบียร์ไทยเริ่มมีการผลิตเบียร์ในเชิงอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา เพื่อจะแข่งขันกับเบียร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
โดยบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัดได้ขออนุญาตทำการผลิตเบียร์ตราสิงห์ขึ้นมาโดย "พระยาภิรมย์ภักดี" ขุนนางผู้หนึ่งแห่งราชสำนักในรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นคนไทยแท้ๆ ที่ให้กำเนิดและอุ้มชูสิงห์จนเติบใหญ่อย่างกล้าแข็งมาได้จนถึงปัจจุบัน
บุญรอดฯ มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 600,000 บาทตั้งอยู่บนเนื้อทั้งหมด 9 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางกระบือ โดยได้เริ่มผลิตเบียร์ออกมาจำหน่ายเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2477
การผลิตเบียร์สิงห์นั้น บุญรอดได้อาศัยกรรมวิธีการผลิตตามแบบยุโรป ซึ่งเป็นต้นตำหรับในการผลิตเบียร์แต่ปรับปรุงดีกรีและรสชาติให้แตกต่างออกไปจนเป็นที่นิยมของตลาดภายในประเทศ
แต่ก่อนที่เบียร์สิงห์จะเป็นตัวเป็นตนขึ้นมานั้นบุญรอดฯ ได้มีการทดสอบตลาดผลิตเบียร์ยี่ห้อต่างๆ ออกมามากมาย มีความหลากหลายในรสชาติ โดยเบียร์ที่บุญรอดฯ ผลิตออกมาในช่วงนั้นได้แก่ เบียร์ตราสิงห์ ตราว่าว ตราหมี และตรานางระบำ
ทั้งนี้เพื่อทดสอบตลาดดูว่าเบียร์ชนิดไหนที่มีรสชาติถูกใจนักดื่ม และเป็นที่ยอมรับของผู้ดื่มจนปรากฏว่า เบียร์ตราสิงห์ได้รับความนิยมมากที่สุดตราอื่นๆ จึงค่อยๆ หยุดการผลิตไปทีละตัว
ซึ่งในระยะนั้นตลาดเบียร์ไทยค่อนข้างจำกัด คอเบียร์ชาวไทยนิยมดื่มเบียร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังเป็นตัวเลขของการบริโภคที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับในปัจจุบัน
แต่เมื่อรัฐบาลได้ปรับเพิ่มภาษีอากรการนำเข้าเบียร์เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ก็ทำให้เบียร์ที่ผลิตขึ้นในประเทศจำหน่ายได้มากขึ้น ต่อมาจึงทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ขยายตัวมาตลอด
จนถึงปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ผู้ผลิตต้องวางแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา และนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการผลิต เพื่อให้ผลผลิตที่ได้คุณภาพสูงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์นั้นส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยที่ผลผลิตร้อยละ 99 สนองตอบตลาดภายในประเทศ คงมีส่วนที่เหลือเพื่อการส่งออกเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
ดังนั้นปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดตลาดการค้าเบียร์จึงขึ้นอยู่กับความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน อุตสาหกรรมการเบียร์ในประเทศไทยมีผู้ผลิตเบียร์เปิดดำเนินการอยู่ 2 รายเท่านั้น คือบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่จำกัด และบริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด
ทั้ง 2 โรงมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นในปัจจุบันประมาณ 327 ล้านลิตร โดยบุญรอดบริวเวอรี่ เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ด้วยกำลังการผลิตทั้งสิ้น 300 ล้านลิตร/ปี และไทยอมฤตบริวเวอรี่มีกำลังการผลิตรวมปีละ 27 ล้านลิตร/ปี
โรงเบียร์ทั้ง 2 โรงดังกล่าว ที่ผ่านมานั้นก็ได้มีการขออนุญาตขยายกำลังการผลิต เพื่อสนองตอบความต้องการบริโภคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 30% ในระยะที่ผ่านมา 5 ปี โดยได้รับการอนุมัติไปแล้วทั้ง 2 ราย
บุญรอดเองได้ขยายตัวโรงงานออกไปสร้างใหม่ที่จังหวัดปทุมธานีขึ้นไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาอีกประมาณ 40 กิโลเมตร เพราะพื้นที่ในปัจจุบัน 9 ไร่มีความคับแคบทำให้การผลิตสินค้าทำได้จำนวนจำกัด
โดยโรงใหม่ที่ปทุนธานีมีกำลังการผลิตสูงสุดปีละ 200 ล้านลิตรเมื่อรวมกับโรงเก่าที่มีกำลังการผลิตสูงสุด เท่ากับว่าจะมีกำลังการผลิตถึง 500 ล้านลิตร/ปีเลยทีเดียว
ซึ่งโรงเบียร์ใหม่ของบุญรอดนั้นได้เริ่มเปิดดำเนินการผลิตมาแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2535 ที่ผ่านมา ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำการผลิตให้ได้ 80 ล้านลิตรก่อนสิ้นปีและพร้อมกันนั้นก็ได้ทยอยลดกำลังการผลิตในโรงงานเก่าคือที่ บางกระบือลงในจำนวนที่เท่าๆ กันเพื่อทำการปรับปรุงซ่อมแซมเสียใหม่
ส่วนไทยอมฤตนั้นหลังจากได้รับอนุญาตให้ขยายกำลังการผลิตเพิ่ม จะสร้างโรงงานใหม่ที่ปทุมธานีเช่นเดียวกันซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่ในละแวกเดียวกับโรงงานของเบียร์สิงห์ โดยจะมีกำลังการผลิตสูงสุดปีละ 100 ล้านลิตรคาดว่าจะแล้วเสร็จและดำเนินการผลิตได้ในปี 2538 โรงเบียร์ของไทยอมฤตจะมีกำลังการผลิตรวมทั้งโรงเก่าและใหม่เป็น 127 ล้านลิตร/ปี
ดังนั้นเมื่อรวมกำลังการผลิต จากโรงเบียร์ทั้ง 5 โรงจะมีกำลังการผลิตสูงสุดรวมเกือบ 1,000 /ปีในอนาคตการจะเข้ามาของเบียร์ใหม่ยิ่งจะเพิ่มความยากลำบากมากขึ้นอีกทวีคูณ
จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวในกรมสรรพสามิตกับ "ผู้จัดการ" ถึงตลาดเบียร์ไทยในปัจจุบันปี 2535 จากเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤศจิกายนว่า มียอดขายรวมทั้งสิ้นประมาณ 305.57 ล้านลิตร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มียอดขายรวม 280.77 ล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 8.83%
โดยเบียร์สิงห์มียอดขายรวมทั้งสิ้น 285.08 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 10.20% มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 93.29%
รองลงมาคือเบียร์คลอสเตอร์มียอดขายรวมทั้งสิ้น 16.33 ล้านลิตร ลดลงจากในปีที่ผ่านมา 8.07% มีส่วนแบ่งตลาด 5.34%
อมฤตเอ็น.บี. มียอดขายรวมทั้งสิ้น 1.88 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นจากในปีที่ผ่านมา 1,969.23% มี่ส่วนแบ่งตลาด 0.61% อมฤต (เบียร์สด) มียอดขายรวม 1.97 ล้านลิตร ลดลงจากในปีที่ผ่านมา 48.86% ส่วนแบ่งตลาด 0.64% และเบียร์สเต๊าท์มียอดขาย 304,000 ลิตร ลดลงจากในปีที่ผ่านมา 16.25% มีส่วนแบ่งตลาด 0.12%
ในวงการอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ของไทยแล้ว ทุกคนรู้ดีว่าสิงห์คือผู้นำที่ผูกขาดตลาดเบียร์ไทยมาถึง 60 ปียากที่จะหาคู่แข่งที่ทัดเทียมกันได้และยังได้ปกป้องตลาดของตนเองตลอดมา โดยไม่เปิดโอกาสให้เบียร์หน้าใหม่เข้ามาในตลาดได้เลยอีกเลย
ไม่ว่าจะเป็นทางด้านนโยบายการผลิต หรือจะเป็นทางด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเบียร์ของไทยเบียร์สิงห์เรียกว่าเป็นผู้กุมอำนาจการผลิตและผูกขาดตลาดเสมอมา แม้แต่โรงเบียร์ค่ายไทยอมฤตของตระกูลเตชะไพบูลย์ ยังต้องพึ่งบารมีของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวของสหัท มหาคุณ ซึ่งเป็นเพื่อน อุเทน เตชะไพบูลย์ จึงสามารถเปิดโรงเบียร์ขึ้นมาได้ในปี 2501
แต่เปรียบเทียบถึงสัดส่วนในการจำหน่ายเบียร์ในแล้วยังถือว่าห่างไกลกันมาก ด้วยไทยอมฤตมีกำลังการผลิตสูงลดเพียง 27 ล้านลิตร/ปี ถึงแม้กำลังจะขยายกำลังการผลิตออกไปอีก 100 ล้านลิตร/ปีก็ตาม
การผูกขาดตลาดในอุตสาหกรรมเบียร์ไทยของเบียร์สิงห์นั้น มีมานานมาก เบียร์สิงห์ได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เพราะคนในตระกูล "ภิรมย์ภักดี" สามารถเข้าล็อบบี้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมที่ดูแลทางด้านนโยบายการผลิตไม่ให้มเบียร์หน้าใหม่เข้ามาในตลาดได้เลย ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ที่เบียร์สิงห์ได้เริ่มเปิดโรงงานในปี 2476
จนมาถึงเมื่อปี 2527 ที่ตลาดเบียร์ไทยเริ่มถีบตัวสูงขึ้นมา มียอดขายรวมถึง 163.95 ล้านลิตร/ปี เพิ่มขึ้นจากในปี 2526 ถึง 11.9% จนทำให้ตลาดเบียร์เริ่มมีความหอมหวานมีผู้สนใจจะเข้าสู่อุตสาหกรรมเบียร์หลายๆ ราย
ในห้วงเวลานั้น สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมหมายเป็นเทคโนแครตสมัยพลเอกเปรม เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาการเจริญเติบโตที่ถดถอยยาวนาน และทุนสำรองอยู่ในภาวะลดต่ำลงอย่างน่าตกใจ กล่าวคือเทียบกับมูลค่าสินค้าเข้าสองเดือนครึ่งเท่านั้น
สมหมายจึงได้ใช้นโยบายลดค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นการส่งออก และการขาดดุลงบประมาณมาใช้
อย่างไรก็ตามผลการตั้งงบประมาณขาดดุลในปี 2527 ได้ประมาณการไว้ว่าจะขาดดุลเพียง 32,000 ล้านบาทแต่ ตัวเลขของการขาดดุลที่แท้จริงได้เพิ่มขึ้น มาเป็น 34,891 ล้านบาทซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย ที่วางไว้ จึงจำเป็นต้องพยายามจัดเก็บภาษีรายได้ให้เพิ่มขึ้นทุกวิถีทาง
เหตุนี้สมหมาย จึงจำเป็นต้องหาวิธีที่จะทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มมากขึ้นนั้น หมายความว่าการจัดเก็บภาษีอากรที่เป็นรายได้หลักจำเป็นต้องมีการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
รายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจึงถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาเพิ่มรายได้ให้กับฐานะทางการคลังได้เป็นอย่างดี เพราะกระทรวงการคลังเองไม่รู้ว่าจะต้องนำนโยบายขาดดุลงบประมาณมาใช้อีกนานเท่าใด
ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากการจำหน่ายเบียร์ในช่วงปี 2527 มีเพียง 1.50% ของการจัดเก็บภาษีรายได้ทั้งหมดประมาณ 147,847 ล้านบาทหรือประมาณ 6.30% ของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่มีประมาณ 36,548 ล้านบาท
รายได้จากภาษีเบียร์ยังมีการจัดเก็บที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับรายได้จากภาษีสุราและยาสูบ
ดังนั้นสมหมายจึงได้มีการวิ่งเต้นบรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลพลเอกเปรม ในขณะนั้น เพื่อให้การผลิตเบียร์มีความเป็นเสรีมากขึ้น โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจจะเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ มายื่นขอตั้งโรงงานได้ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกการแสดงออกถึงความกล้าหาญของสมหมายในนโยบายการกระตุกหนวดสิงห์ หลังจากที่สิงห์ปกป้องตลาดนี้มาตลอด
แต่การเปิดให้ยื่นขออนุญาตผลิตเบียร์ มีระยะเวลาของการยื่นขออนุญาตช่วงสั้นๆ ประมาณ 4-6 เดือนเท่านั้นเอง ในข้อเท็จจิรงไม่มีนักลงทุนรายใด เตรียมตัวได้ทัน เพื่อยื่นข้อเสนอในการลงทุนภายใต้เงื่อนไขเวลาที่กำหนด เพราะสมัยนั้นถือว่าการเปิดโรงเหล้าหรือโรงเบียร์จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างเข้มงวด
หลังจากนั้นเรื่องของการขออนุญาตเปิดโรงเบียร์ก็ถูกเก็บเข้ากรุเหมือนอย่างเดิมจนกระทั่งมาในปี 2532 ในสมัยสุธี สิงห์เสน่ห์ เป็นรัฐมนตรีคลัง กลุ่มของเจริญก็ยื่นขอมาถึง 2 โรงด้วยกันและได้รับการพิจารณาให้ดำเนิน การเปิดโรงเบียร์ได้
การยื่นขอของเจริญในขณะนั้นได้ยื่นขอในนามของ บริษัทเบียร์ทิพย์จำกัด โดยที่เบียร์ทิพย์จะผลิตเบียร์ที่เป็นสูตรการผลิตของไทยเองในชื่อ "เบียร์ทิพย์" และอีกบริษัทหนึ่ง คือเบียร์ไทย จะร่วมลงทุนกับเบียร์คาร์ลสเบิร์กจากเดนมาร์ก ผลิต "เบียร์คาร์ลสเบิร์ก"
นอกจากกลุ่มของเจริญทั้ง 2 โรงแล้วก็ยังมีผู้ที่สนใจอีกรายก็คือ กลุ่มของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ได้ยื่นความจำนงค์ที่จะขอเปิดโรงเบียร์เช่นเดียวกัน โดยซีพี มีแผนการที่จะร่วมลงทุนกับเบียร์ไฮเนเก้น จากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นเบียร์ดังของโลกอีกยี่ห้อหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการยื่นขอเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นทางการ
จนมาถึงในสมัยปี 2534 ของรัฐบาล นายกฯ อานันท์ ซึ่งถือว่าเป็นยุคสมัยที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมของไทยอีกครั้ง ด้วยนโยบายการเปิดให้มีการผลิต ได้อย่างเสรี
เรื่องของการเปิดโรงเบียร์ก็ถูกหยิบยกมาพิจารณาอีกครั้ง และได้นำเข้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการเปิดโรงเบียร์ได้อย่างเสรี ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเบียร์ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 6 มกราคม2535 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ด้วยเห็นว่าความต้องการบริโภคเบียร์ภายใจประเทศ และการส่งเบียร์ออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อให้การผลิตเบียร์ในประเทศมีปริมาณเพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีทั้งในด้านคุณภาพและราคา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยส่วนรวม
โดยหลักเกณฑ์ในประกาศกรมสรรพสามิต ดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 5 ข้อใหญ่คือ
1. หลักเกณฑ์ในการขออนุญาต
1.1 ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และมีวัตถุประสงค์ในการผลิต และจำหน่ายเบียร์ มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
1.2 ให้ผู้ขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเบียร์ยื่นคำขอต่อกรมสรรพสามิต โดยนำหนังสือรับรองจากกรมทะเบียนการค้ามาแสดง
1.3 ผู้ขออนุญาตต้องวางหลักประกันต่อกรมสรรพสามิตในขณะยื่นคำขอเป็นเงินจำนวน 5 ล้านบาท จะเป็นเงินสดหรือพันธบัตรก็ได้และหลักประกันนี้จะคืนให้หลังได้รับการพิจารณาหรือเมื่อได้ทำสัญญาแล้วแต่กรณี
1.4 ให้ผู้ขออนุญาตเสนอโครงการดังต่อไปนี้พร้อมกับการยื่นคำขอ คือให้เสนอโครงการลงทุน แผนการเกี่ยวกับโรงงานและสถานที่ตั้ง ประมาณการใช้วัตถุดิบ แหล่งวัตถุดิบ จำนวนคนงานปริมาณการผลิตที่จะต้องไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรและไม่เกิน 100 ล้านลิตต่อปีรวมทั้งกรรมวิธีในการผลิตและการดำเนินการ ให้เสนอขั้นตอนในการดำเนินงานแต่ละขั้นอย่างละเอียด ให้มีการเสนอโครงการการใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้เบียร์ที่ผลิตได้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพที่จะสามารถแข่งขันในต่างประเทศได้ และเสนอโครงการการจำกัดสิ่งปฏิกูล การระบายน้ำและอากาศด้วย
2. เงื่อนไขในการขออนุญาต
2.1 ผู้ขออนุญาตจำต้องดำเนินการผลิตและจำหน่ายเบียร์ได้ตามปกติภายในระยะเวลาไม่เกิน 36 เดือน (3 ปี) นับจากวันทำสัญญา
2.2 ผู้ขออนุญาตจะต้องไม่มีเครื่องกลั่นสุราภายในโรงงานผลิตเบียร์
2.3 กรรมสรรพสามิตสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาไม่อนุญาตให้แก่ผู้เสนอโครงการลงทุนที่มีรายละเอียดไม่เหมาะสม
3. หลักเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติภายหลังที่ได้รับอนุญาตแล้ว
3.1 เมื่อกรมสรรพสามิตอนุญาตแล้วให้ผู้รับอนุญาตมาทำสัญญากับกรมฯ ตามแบบภายในกำหนด 30 วัน
3.2 ในวันทำสัญญาผู้รับอนุญาตต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาท และจะได้รับคือภายใจ 30 วันนับแต่วันที่เริ่มผลิตและจำหน่ายได้ตามปกติ และต้องนำหลักฐานในการจดทะเบียนเพิ่มไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
3.3 ห้ามไม่ให้ผู้รับอนุญาตโอนหรือขายสิทธิในการผลิตและจำหน่ายเบียร์ให้กับบุคคลอื่น
ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ ในข้อ 3 นี้ปลีกย่อยตามข้อบังคับของกรมสรรพสามิตตามปกติในการจำหน่ายสุราหรือเบียร์
4. บทลงโทษ หากว่าผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะมีการการปรับและหรือมีการบอกเลิกสัญญาและมีการริบเงินประกันได้
5. การวินิจฉัย ปัญหาหรือข้อโต้แย้งใดๆ เกิดขึ้นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้ขาด
ทั้งหมดก็คือกฏเกณฑ์และเงื่อนไขของการให้เปิดเสรีโรงเบียร์ในประกาศปี 2535 ซึ่งยึดถือร่างเดียวกันกับการเปิดอนุญาตโรงเบียร์ในปี 2527 แต่มีการแก้ไขในเพียงบางข้อ เช่นเรื่องของระยะเวลาที่จะยื่นขอเปิดโรงเบียร์ที่ในปี 2527 มีการกำหนดระยะเวลาแต่ในประกาศมี 2535 ไม่มี
หรือจะเป็นเรื่องของการวางเงินค้ำประกันในการทำสัญญาก็มีจำนวนสูงขึ้น และเงื่อนไขของการไม่ให้สิทธิในการโอนให้กับผู้อื่นหลังจากได้รับอนุญาตแล้ว
อย่างไรก็ตามปรากฏว่าหลังจากที่ได้ประดาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใหม่ไปแล้ว มีผู้ยื่นขออนุญาตเข้ามาเพียงรายเดียวเท่านั้นคือกลุ่มบริษัทไทยประกันชีวิต โดย วานิช ไชยวรรณ และก็ได้รับการพิจารณาอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้ภายใน 3 ปี ซึ่งนับตั้งแต่การพิจารณษอนุญาตให้เปิดดำเนินการภายใน 3 ปี ซึ่งนับตั้งแต่มิถุนายน 2535 เป็นต้นไป
ดังนั้นแล้วโรงเบียร์ที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการผลิตและจำหน่ายเบียร์ใหม่มีเพียง 3 โรงเท่านั้นคือ
1. บริษัท คาร์ลสเบิร์ก บริวเวอรี่ (ประเทศไทยจำกัด) มีโรงงานอยู่ที่ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นของเจริญ สิริวัฒนาภักดี กลุ่มสุราทิพย์
2. บริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด มีโรงงานอยู่ที่ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นของ เจริญ กลุ่มสุราทิพย์ เช่นเดียวกัน
3. บริษัท ไทยผลิตเบียร์ จำกัด มีโรงงานอยู่ที่นนทบุรีเป็นของ วานิช ไชยวรรณ จากกลุ่มไทยประกันชีวิต
และสำหรับโครงการของกลุ่มซีพี นั้นได้มีการระงับโครงการไปแล้ว โดย ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท เปิดเผยว่าได้ตัดสินใจยกเลิกโครงการดังกล่าวไปแล้ว เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าจะไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะคิดว่าไม่สามารถแข่งขันสู่กับเจ้าตลาดอย่างเบียร์สิงห์ได้
ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกลุ่มของซีพีได้เคยมีการเจรจาร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทสุราทิพย์ ที่ได้ใบอนุญาตการเปิดโรงเบียร์เมื่อปี 2532 ของเบียร์ทิพย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้นเพราะจากซีพีต้องการถือหุ้นใหญ่ ในขณะที่เจริญไม่ยอมจึงมีโครงการที่จะยื่นขอเปิดโรงเบียร์เองดังกล่าว
ทั้งนี้กลุ่มซีพี โดยบริษัทเอ็กซ์ชอ อินดัสเตรียลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือในการทำธุรกิจอุตสาหกรรมของซีพี ได้ทำการลงทุนกับ บริษัท ไฮเนเก้น (เนเธอร์แลนด์) ในการตั้งโรงงานผลิตเบียร์ ที่เซี่ยงไฮ้ ได้มีการดำเนินการผลิตมาตั้งแต่ปี 2532 มาแล้วจึงได้สนใจที่จะเข้ามาเปิดโรงเบียร์ในไทยด้วยดังกล่าว
แต่สมัยปี 2532 ที่ทางซีพีสนใจจะเข้ามาในอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการขออนุญาตตั้งโรงเบียร์นั้นยากมากเลยได้เข้าเจรจากับกลุ่มสุราทิพย์แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตามเบียร์หน้าใหม่ทั้ง 3 โรงปรากฎว่าโรงงานคาร์ลสเบิร์ก บริวเวอรี่ จำกัดขณะนี้การก่อสร้างได้มีความคืบหน้าไปมากที่สุด คือจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้และจะเปิดทดสอบเดินเครื่องผลิตได้ตั้งแต่ต้นปี 2536 เป็นต้นไป
และจะสามารถผลิตเบียร์ออกมาจำหน่ายได้ในราวไตรมาสที่ 2 ของปี หรือประมาณ เดือนมีนาคมโดยปัจจุบันได้มีการนำเข้าเบียร์ของคาร์ลสเบิร์กมาจำหน่ายอยู่
เดิมนั้น บริษัท คาร์ลสเบิร์ก บริวเวอรี่ ได้ยื่นขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเบียร์ในนามบริษัท เบียร์ทิพย์จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นของเจริญสิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อสุราทิพย์กับ บริษัท ทีซี.ฟาร์มาซูคิคอลอุตสาหกรรม จำกัด ในนามของเฉลิม อยู่วิทยา ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระทิงแดง ต่อมาได้เข้าร่วมทุนกับ บริษัท คาร์ลสเบิร์ก เอ/เอส ซึ่งเป็นเจ้าของเบียร์คาร์ลสเบิร์กของประเทศเดนมาร์ก
เพื่อจะร่วมกันผลิตเบียร์คาร์ลสเบิร์กในประเทศไทยแต่เมื่อทางคาร์สเบิร์ก เอ/เอส ได้เข้ามาร่วมถือหุ้น จึงได้แจ้งเปลี่ยนชื่อมาเป็นคาร์ลสเบิร์กบริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ที่ผ่านมา
หลังจากนั้นได้มีการเจรจาซื้อหุ้นจากกลุ่มของเจริญในเบียร์ทิพย์ แต่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยว่าเป็นจำนวนเท่าใดคาดว่าจะเป็นไปตามข้อกำหนดของบริษัทร่วมทุน คือ 49/51 ตามกฎหมาย ต่อจากนั้นได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 55 ล้านบาท รวมเป็น 555 ล้านบาทมีเดือนมีนาคม 2535
ปัจจุบันเป้าหมายของเบียร์คาร์ลสเบิร์กนั้น จะเริ่มนำเบียร์ออกวางตลาดให้ได้ในราวเดือนมีนาคม หรือเมษายน ปีหน้า (ปี 2536) โดยการทดลองตลาดในช่วงต้นจะทำการผลิตด้วยกำลังการผลิต 50 ล้านลิตร และจะค่อยๆ เพิ่มจนเต็มกำลังการผลิต 100 ล้านลิตร
แหล่งข่าวจากร้านค้าส่งสุราในเครือของสุราทิพย์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เบียร์คาร์ลสเบิร์กนั้น ทางเจริญได้มีการวางแผนงานการตลาดว่าจะมีการเจาะตลาดด้วยการตั้งบริษัทของตนเองขึ้นเป็นเอเยนต์ทั้ง 73 จังหวัดเพื่อเข้ามารับซื้อเบียร์คาร์ลสเบิร์กที่ผลิต แล้วจะส่งต่อไปร้านค้าส่งหรือร้านค้าปลีก ที่อยู่ในเครือของกลุ่มสุราทิพย์ในแต่ละจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามการเปิดตลาดของเบียร์คาร์ลสเบิรก์กกำลังเป็นที่จับตาของผู้ผลิตเจ้าเก่าในตลาดเป็นอย่างมาก หรือแม้แต่ร้านค้าต่างๆ ก็ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะร้านค้าของเบียร์สิงห์เอง ส่วนการรับมือกับเบียร์หน้าใหม่ของบุญรอดนั้นยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใดเลย ในขณะนี้ ซึ่งในปี 2536 เป็นปีที่บุญรอดครบรอบ 60 ปี คาดว่าจะมีการทำการส่งเสริมการขายครั้งใหญ่ โดยจะเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2536 ไปตลอดทั้งปี
เป็นที่น่าสังเกตว่า บุญรอดนั้นได้วางเกมการตลาดมาเป็นอย่างดีโดยตลอด การปิดกั้นคู่แข่งขัน จนถึงการปรับแผนงานกำลังการผลิตของตนเอง ซึ่งบุญรอดรู้ดีว่าการนั่งปกป้องอุตสาหกรรม โดยไม่เปิดโอกาสให้เบียร์ หน้าใหม่เข้ามาแข่งขันได้นั้นสักวันหนึ่งคงต้อง หมดไป
จึงได้วางแผนขยาย กำลังการผลิตออกไปเพื่อต้องการรักษาการเป็นผู้นำในตลาดได้ ด้วยต้องรักษาความเป็นผู้นำด้วยการเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น หลังจากที่กลุ่มของเจริญได้รับใบอนุญาตเปิดโรงเบียร์ ในปี 2532
ด้วยกำลังการผลิตทั้งหมดของบุญรอดในปัจจุบันนั้นคาดว่าจะสามารถรองรับการขายตัวในตลาดเบียร์ไทยได้อีก 5 ปีข้างหน้า เพราะโรงเบียร์ใหม่ที่มีกำลังการผลิต 200 ล้าน-ลิตร ถือเป็นครึ่งหนึ่งของ อีก 4 โรงที่จะทยอยเริ่มเปิดดำเนินการกันที่จะแล้วเสร็จในปี 2538
นอกจากนี้ทางด้านการตลาด บุญรอดได้มีการดำเนินการคุมเข้มเอเยนต์ทั้งหมดที่มีอยู่เกือบ 400 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งการควบคุมเอเยนต์ และซาปั๊ว จะทำผ่านทางชมรมผู้ค้าเบียร์ที่มีอยู่ 11 ชมรมทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นกลยุทธที่เบียร์สิงห์นำมาใช้เป็นเรื่องธรรมดาของการค้าทั่วไป
คือถ้าหากว่าเอเยนต์ไปขาย สินค้าอื่น ก็ต้องหมดสภาพ จากเอเยนต์เบียร์สิงห์ และกลายเป็นร้านค้าธรรมดาไป ชมรมฯ ออกกฎอย่างนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการลงโทษร้านค้าซึ่งเป็นการควบคุมโดยทางอ้อมของสิงห์
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางชมรมค้าเบียร์ ได้มีการออกหนังสือเวียนถึงเอเยนต์และซาปั๊วที่จำหน่ายเบียร์สิงห์เพื่อเป็นการเตือนและมีบางรายได้รับการลงโทษไปแล้ว
แต่เท่าที่ผ่านมาเอเยนต์ของ สิงห์ต่างก็เต็มใจที่จะอยู่ในระบบนี้เนื่องจากว่าผลกำไรและอัตราการหมุนเวียนของสินค้าดี โดยเอเยนต์สิงห์ จะมีกำไรต่อลังสำหรับสินค้าทุกประเภทจากสิงห์ลังละกว่า 10 บาทซึ่งแต่ละเอเยนต์โดยเฉลี่ยจะจำหน่ายได้วันละ 2,000 ลัง หรือมีกำไรถึง 20,000 บาทต่อวัน ส่วนซาปั๊วกำไรลังละเกือบ 40 บาท เฉลี่ยแล้วมีการจำหน่ายสัปดาห์ละ 100-200 ลัง
ทั้งนี้โรงเบียร์ใหม่อีก 2 โรงคือ บริษัทเบียร์ไทย (1991) จำกัด ในกลุ่มของเจริญ สิริวัฒนภักดีเช่นกัน เริ่มก่อตั้งในปี 2534 โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 500 ล้านบาทกำลังอยู่ในระหว่างการยืนเสนอของปลูกสร้างโรงงาน
นอกจากนี้ยังได้มีการเจรจาลับเฉพาะถึงการมองคู่ร่วมลงทุนกับเบียร์ต่างประเทศ แต่ยังไม่เปิดเผยถึงคู่ร่วมทุนแต่อย่างใด
ส่วนโรงเบียร์ของกลุ่มวานิช ไชยวรรณ คือบริษัทไทยผลิตเบียร์ จำกัด กำลังอยู่ระหว่างการยืนเรื่องของปลูกสร้างโรงงานอยู่ และหาผู้ร่วมทุนซึ่งเบียร์ต่างชาติ
ไทยผลิตเบียร์ เดิมนั้นคือบริษัทไทยผลิตสุรา จำกัดที่ก่อตั้งมาในปี 2519 ด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่มเป็นเงินจำนวน 3 ล้านบาท ผลิตสุราขาวและเป็น ตัวแทนจำหน่ายสุราในเครือของบรษัทสุรามหาราษฎร์ หลังมาขออนุญาต การผลิตเบียร์ จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ไทยผลิตเบียร์
ได้มีการขอเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 2 ครั้ง ครั้งแรกเพิ่มทุนจดทะเบียนมาเป็น 30 ล้านบาท เมื่อปี 2529 และล่าสุดได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกเป็น 575 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2535
โดยมีผู้ให้ความสนใจเสนอตัวเข้ามามีทั้งเบียร์ของอเมริกา อย่างบัดไวเซอร์ หรือซานมิเกลของฟิลิปปินส์และยังมีเบียร์จากญี่ปุ่นอีกอย่างซับโปโร และเบียร์จากยุโรปอีก แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นบริษัทใด ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการตกลงว่าจะร่วมลงทุนกับใคร่แต่อยู่ในขั้นเจรจา ท้ายสุดคาดว่าจะเจรจาเสร็จในราวสิ้นปี 2535 นี้
จะสังเกตเห็นว่าการเข้ามาของเบียร์หน้าใหม่ ทั้ง 3 ราย จะเป็นการร่วมลงทุนกับเบียร์จากต่างประเทศทั้งหมดทั้งนี้ เป็นเพราะว่าการจะเข้ามาบุกในตลาดเบียร์ไทยไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าตลาดเบียร์ไทย เบียร์สิงห์ ได้ผูกขาดมานานถึง 60 ปีมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 90% ในปัจจุบัน
ทำให้การเข้ามาของเบียร์หน้าใหม่ต้องมีจุดเด่นในตัวสินค้าเพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้า ซึ่งการอิงบริษัทที่มีชื่อเสียง และมีคุณภาพเป็นที่รู้จักในตลาดอยู่แล้วเท่ากับว่านำมาเป็นหัวหอกในการเจาะตลาดเบียร์ไทยและพร้อมกับการมีแผนงานการตลาด ที่ดีถึงจะสามารถพิชิตเจ้าตลาดอย่างเบียร์สิงห์ได้
อย่างไรก็ตามเบียร์ระดับอินเตอร์ใช่ว่าจะสามารถเจาะเข้าตลาดในภูมิภาคเอเชียนี้ได้อย่างง่าย อย่างเช่นเบียร์คาร์ลสเบิร์กเบียร์ดังระดับโลกเจาะเข้าตลาดฟิลิปปินส์ ฝ่าด่านเบียร์เจ้าถิ่มคือซานมิเกลที่ครองตลาดมาถึง 100 ปีคาร์ลสเบิร์กใช้เวลาถึง 30 ปี จนถึงปัจจุบันได้ส่วนแบ่งตลาดมาเพียง 30% เท่านั้น
หรือแม้แต่คลอสเตอร์ที่เข้าสู่ตลาดเบียร์ไทยมาเกือบจะ 20 ปีมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 5% กว่าๆ ในปัจจุบันเรียกว่ายังแจ้งเกิดไม่ได้
เบียร์หน้าใหม่ !!! จะฝ่าการตลาดของเบียร์ไปได้อย่างไรเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
แล้วเบียร์หน้าใหม่ต้องพิสูจน์ตัวเองต่อนักดื่มเพราะเบียร์ไม่ใช่สินค้าแฟชั่นที่จะขึ้นลงตามความฮือฮา !!! แต่เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่เสพแล้วติดในรสชาติเพียงแค่ 1% ของสิงห์คงจะต้องต่อสู้กันจนหืดขึ้นคอทีเดียว
หงส์ดิ้นสุดฤทธิ์ ยุทธการดึงทหารและการเมืองกลับเข้ามา
เมื่อภาพที่ต้องต่อเป็นชิ้นๆ เริ่มชัดขึ้นมาทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งชัดขึ้นมาที่สุดว่าอนาคตของกลุ่มเถลิง จะมีแต่อุปสรรคและขวากหนามในการผลิตเหล้า เพราะต้องเอาไปผูกเงื่อนที่คอตัวเองเอาไว้ก็ต้องหาคนมาช่วยแก้ปัญหาที่ตนเป็นคนก่อ
"ทั้งหมดนี้คุณต้องโทษกลุ่มเถลิงเอง เขาไปตั้งราคาประมูลไว้สูงแล้วหวังว่าจะใช้การเมืองบีบแม่โขงในกรณีที่เขาทำไม่ได้ นี่เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดระหว่างการทำงานของทั้งสองฝ่าย ซึ่งฝ่ายแม่โขงเขาประมูลในตัวเลขที่เขาทำได้จริงๆ และให้ผลประโยชน์รัฐได้เต็มที่เรียกว่าได้ด้วยกันทั้งคู่ แต่ทางกลุ่มเถลิงเล่นใช้ตัวเลขที่ตัวเองต้องการได้โรงเหล้ามาเพื่อสับคู่แข่งขัน ไม่ได้มองในแง่การค้าและเมื่อตัวเองเห็นว่าจะทำไม่ได้ก็เริ่มใช้การเมืองและต่อมาก็พยายามดึงทหารให้กลับเข้ามามัวเมาในวงการนี้อีก หลังจากที่ทหารได้ล้างมือไปแล้วและสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่ประชาชน" ผู้ติดตามข่าวเหล้าวิจารณ์ให้ฟัง
การเคลื่อนไหวของกลุ่มเถลิงหลังการประมูลเป็นการเคลื่อนไหวสองแนวทาง
แนวทางแรก คือการพยายามหาผู้หลักผู้ใหญ่มาไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองกันโดยเจาะเข้าทางอุเทน เตชะไพบูลย์ ซึ่งได้ลงมาเป็นประธานบริษัทสุรามหาราษฎรแทนสุเมธ เตชะไพบูลย์ ซึ่งเถลิงรู้ดีว่าสุเมธไม่คุยด้วยแน่ๆ
แต่เถลิงลืมนึกไปว่าสุรามหาราษฎรนั้นไม่ใช่ของเตชะไพบูลย์ฝ่ายเดียว กรรมการบริหารส่วนหนึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นจอมยุทธในวงการทั้งนั้น เช่น โกเมน ตันติวิวัฒน์พันธ์ เจ้าพ่อเหล้าภาคอีสาน วิศาล ภัทรประสิทธิ์ ภาคกลาง หรือคนอย่าง วานิช ไชยวรรณ ที่มีทุกอย่างพร้อม ฯลฯ และบรรดากรรมการบริหารตอนนี้ก็เลือดเข้าตาจะสู้ยิบตาแล้ว
"ธรรมดาถ้าเริ่มค้าขายกันต่างคนต่างอยู่ไม่มีลูกเล่นกันก็พอจะพูดกันได้ แต่นี่ฝ่ายเราโดนรุกมาตลอด เราต้องนั่งแก้เกมตลอดเวลา ที่เราอยู่ได้เพราะเราตั้งใจทำธุรกิจให้เป็นธุรกิจ และเราต้องการคุ้มครองสมบัติของชาติไว้ เราไม่ต้องการให้ในอนาคตมีคนมาประณามว่าแม่โขงพังไปในยุคที่เราทำ" ฝ่ายสุรามหาราษฎรกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
การประนีประนอมของกลุ่มเถลิงซึ่งผู้ริเริ่มที่แสดงตัวออกมาคือ อบ วสุรัตน์ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ซึ่งให้ตั้งบริษัทกลางขึ้นมารับเหล้าทั้งสองฝ่ายไปขายโดยแต่ละฝ่ายถือหุ้นอยู่ 45% ส่วนอีก 10 % นั้นทางฝ่ายเถลิงเสนอให้เอาองค์การทหารผ่านศึกเข้ามาโดยคิดว่าการดึงให้ทหารเข้ามาร่วมด้วยจะเป็นอำนาจต่อรองอันหนึ่ง
แต่ข้อเสนอของบริษัทกลางนี้กลับเป็นหลุมพรางซึ่งทางแม่โขงเห็นเกมทันที
เมื่อข้อเสนอของการตั้งบริษัทกลางเป็นไปไม่ได้เพราะแม่โขงไม่เล่นด้วย และเมื่อแม่โขงเสนอกลับหงส์ทองก็ไม่เล่นด้วย เกมการรุกของหงส์ทองก็ออกมาเป็น :-
แนวทางที่สอง คือการออกมาขายชนกันแต่การจะขายได้นั้นราคาของแม่โขงและกวางทอง จะต้องสูงกว่านี้อย่างน้อยแม่โขงจะต้องกระโดดไปเป็นราคาเก่าที่ 55 บาท และกวางทองเป็น 44 บาท เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้วจะขายสู้ไม่ได้
ซึ่งก็จะเป็นการบังเอิญหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ หลังจากที่กลุ่มเถลิงประมูล 2 โรงเหล้าได้ในเดือนเมษายน 2526 อีกไม่ถึง 10 เดือนก็มีข้อเสนอให้ประนีประนอมโดยตั้งบริษัทกลาง และเมื่อข้อเสนอบริษัทกลางพับไป อีกไม่นานก็มีคำสั่งจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในวันที่ 9 มีนาคม 2527 สั่งให้แม่โขงและกวางทองขึ้นราคาภายใน 7 วัน ซึ่งทางสุรามหาราษฎรก็ตอบไปว่าทำไม่ได้
"10 เดือนหลังจากประมูลได้ทางกลุ่มเถลิงก็เห็นแล้วว่ามีทางออกเพียง 2 ทาง และอีกประการหนึ่งทางกลุ่มเขาเองก็ประสบปัญหา cash flow พอสมควรในขณะนี้ ทั้งหมดนี้เป็นลางบอกเหตุว่า ถ้าดิ้นไม่ออกตามที่ต้องการแล้ว 1 มกราคม 2528 ก็ดูเหมือนจะเป็นวัน D-DAY" แหล่งข่าวในวงการเหล้าอธิบายให้ฟัง
อบ วสุรัตน์ ก็เลยสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการ 3 คนขึ้นมาตีความสัญญา ซึ่งแหล่งข่าวทางสุรามหาราษฎรก็ยืนยันว่า จะต้องสู้ถึงที่สุด ถ้าจะต้องพึ่งบารมีศาลยุติธรรมทางสุรามหาราษฎรก็จะทำ
แม่โขงกับรัฐบาลที่ลืมไปว่าแม่โขงเป็นสมบัติของชาติ
ปี 2525 นับว่าเป็นปีที่แม่โขงแทบจะกระอักโลหิตออกมาเพราะโดน “หงส์ทองบินข้ามเขต” ปะทะด้วยราคาที่ถูกกว่า จนทำให้ยอดขายต้องตกลงอย่างฮวบฮาบ
“หงส์ทองเขาได้เปรียบกว่ามาก เพราะฐานภาษีมันไม่เท่ากัน แม่โขงต้องเสียภาษีลิตรละ 60 บาท แต่หงส์ทองเสียจริงๆ สุทธิเพียงลิตรละ 26 บาท เท่านั้น อันนี้เลบเป็นช่องว่างให้หงส์ทองถูกขายข้ามเขต และแม่โขงถูกหงส์ทองเล่นเกมนี้เหมือนถูกผีหลอก เพราะเหล้าที่ขายข้ามเขตมันผิดกฎหมาย แต่ยิ่งประท้วงไปประท้วงมากลายเป็นว่ามีเหล้าหงส์ทองขายอยู่ทั่วราชอาณาจักรไปเสียแล้ว พอจะพูดได้ว่า ในยุคของอธิบดีบัณฑิต ปุณยะปานะ ซึ่งเป็นน้องชายของคุณพงส์ สารสิน หุ้นส่วนของหงส์ทองได้มีการลักลอบขนสุราข้ามเขตไปจำหน่ายในเกือบทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร นับว่าเป็นประวัติการณ์ของการลักลอบขนสุราของเมืองไทยทีเดียว” เอเย่นต์เหล้าต่างประเทศที่รู้เรื่องการขายเหล้าดีเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟังเพิ่มเติม
จะเป็นเพราะแม่โขงและกวางทองเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรม และหงส์ทองกับแสงโสมเป็นของกระทรวงการคลัง เลยทำให้เจ้ากระทรวงแต่ละแห่งต้องขยันหามาตรการออกมาฟาดฟันกันอย่างถึงพริกถึงขิง
หรืออาจจะเป็นเพราะสมหมาย ฮุนตระกูล ไม่ถูกกับ อบ วสุรัตน์ ก็เลยทำให้ความขัดแย้งนี้แผ่ขยายลงมาถึงสินค้าที่แต่ละคนถืออยู่
หรืออาจจะเป็นเพราะสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นหลานแท้ๆ ของพระยาศรีวิศาลวาจา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างสนิทสนมกับพจน์ สารสิน พ่อของพงส์ สารสิน หุ้นส่วนใหญ่ของหงส์ทอง
เพราะแม่โขงดูจะไม่ถูกชะตากับกระทรวงการคลังเป็นอย่างยิ่ง!
บทบาทของกระทรวงการคลังทุกอย่างที่ทำลงไปดูเหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่ได้มองข้อเท็จจริง และ ลืมไปว่า “แม่โขง” คือ “ชื่อสินค้า” ของรัฐบาลที่ได้รับการพัฒนามายี่สิบกว่าปีแล้ว และเป็นสินค้าที่นำรายได้เข้ารัฐหลายหมื่นล้านบาท
ส่วน “หงส์ทอง” นั้นเป็น “ชื่อสินค้า” ของเอกชนที่ได้สิทธิ์เช่าโรงงานมาผลิตเมื่อสัญญาหมด “หงส์ทอง” ก็ยังคงเป็นของเอกชนซึ่งอาจจะผลิตเองด้วยโรงงานเหล้าธาราที่นครไชยศรี ส่วนรัฐบาลก็ให้สิทธิ์เอกชนคนอื่นต่อไป ที่ได้แล้วก็จะมีเหล้าชื่อใหม่ออกมาอีก
ข้อแตกต่างระหว่าง “แม่โขง” กับ “หงส์ทอง” ก็อยู่ตรงนี้!!
กระทรวงการคลังนอกจากจะเก็บภาษีเหล้าไม่เท่ากันแล้ว ยังได้มีมาตรการหาเงินเข้าคลังจากภาษีสุรา ซึ่งเป็นมาตรการของการฆ่าแม่โขงทางอ้อมเช่น
...ได้มีการเสนอให้เพิ่มภาษีแม่โขงจากเดิมลิตรละ 60 บาท เป็นลิตรละ 80 บาท แต่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลไม่เห็นด้วยก็ตกไป
...ปลายปี 2525 กระทรวงการคลังเกิดอยากจะให้องค์การสุรากรมสรรพสามิต ผลิตเหล้าปรุงพิเศษ เพื่อขายทั่วราชอาณาจักรเหมือนแม่โขงของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะเปิดให้มีการประมูลผู้ขายส่ง และผู้ประมูลได้จะต้องสร้างโรงงานเพื่อผลิตเหล้านี้ แต่รัฐบาลยังไม่คล้อยตามเพราะยังมีคนเห็นว่าจะต้องคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของโรงงานสุราบางยี่ขัน เรื่องก็ถูกระงับไป
...ปลายปี 2525 กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงฉบับที่ 80 เปลี่ยนแปลงการเรียกเก็บภาษีสุราใหม่ โดยเรียกเก็บเป็น “หรือร้อยละ 32 ของมูลค่า” ซึ่งมาตรการ นี้หงส์ทองเสียภาษีจริง 26 บาท จึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด มีแต่แม่โขงซึ่งเจอเข้าหนักก็ตรงชนิดขวดแบน 350 ซีซี และ 187 ซีซี ซึ่งเป็นเหล้าของคนเบี้ยน้อยหอยน้อย ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก และก็เป็นหมากกลที่วางไว้ ถ้าแม่โขงขึ้นราคา จะต้องแบกภาษีถึง 2 ทาง คือค่าสิทธิ์ที่คิดจากร้อยละ 45.67 ของราคาขายปลีก และค่าภาษีที่คิดจากร้อยละ 32 ของมูลค่าจำหน่าย (ซึ่งหมากตัวนี้เกือบจะเป็นผลในภายหลังเมื่อรัฐมนตรี อบ วสุรัตน์ สั่งให้แม่โขงขึ้นราคา)
กระทรวงอุตสาหกรรมเอง ซึ่งเป็นเจ้าของแม่โขง เคยเสนอให้แก้ไขภาษีสุราให้ยุติธรรมระหว่างแม่โขงกับหงส์ทอง ถึงขนาด อบ วสุรัตน์ จะเอาเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี แต่
“กำลังภายในของกลุ่มหงส์ทองเขาแข็งน่าดู เพราะเขาเล่นการเมืองกับการค้าแบบถึงลูกถึงคน ดูง่ายๆ ซิ อบ วสุรัตน์ ออกมาทำเสียงแข็งว่าต้องปรับภาษีหงส์ทองกับสุราผสมให้ใกล้เคียงกับภาษีแม่โขง เห็นเสียงดังว่าจะเอาเข้าคณะรัฐมนตรี พอวันต่อมา อบ วสุรัตน์ ก็ขอถอนกะทันหัน แล้วจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ไม่ให้เหตุผลอะไรเลยว่าทำไมถึงถอนแม้แต่แอะเดียว ทั้งๆ ที่ข่าวที่แกปล่อยไปว่าจะปรับลงหนังสือพิมพ์กันโฉ่งฉ่างไปหมด ไม่ทราบว่ามีอะไรไปอุดแกไว้" นักหนังสือพิมพ์ที่ติดตามข่าวแม่โขง หงส์ทอง ออกความเห็น
และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ท่าทีของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเคยปกป้องผลประโยชน์ของแม่โขง ในฐานะเป็นสินค้าของกระทรวงอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนไป
มีการย้ายนายวีระ สุสังกรกาญจน์ ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างสายฟ้าแลบ เพราะไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐมนตรี ซึ่งหนึ่งในนโยบายนั้นคือการให้แม่โขงรวมกับหงส์ทอง เพื่อตั้งบริษัทกลางขึ้นมา ซึ่งวีระ สุสังกรกาญจน์ คัดค้าน เพราะจะทำให้แม่โขงซึ่งเป็นของรัฐเสียประโยชน์ เมื่อฮั้วกันไม่ได้ ก็ต้องให้แม่โขงขึ้นราคา
การให้แม่โขงขึ้นราคานั้นเป็นการอ้างเพื่อให้เสียสิทธิกับรัฐมากขึ้น แต่กระทรวงอุตสาหกรรมคงลืมไปว่าเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งได้อนุมัติให้แม่โขงลดราคาในต้นปี 2526 เพราะกระทรวงเองก็เห็นด้วยว่าแม่โขงกำลังถูกสุราข้ามเขตที่ขายผิดกฎหมายและไม่ต้องเสียสิทธิ เสียภาษีสรรพสามิตที่น้อยกว่าเกือบ 150% มาทำให้แม่โขงขายตก ทำให้จำนวนค่าสิทธิและภาษีรัฐได้น้อยลงเพียงไม่ถึง 120 ล้านบาทต่อเดือน (ตั้งแต่ ต.ค.-ก.พ.26) และหลังจากลดราคาแล้วตั้งแต่มีนาคม 26 จนถึงธันวาคม 26 ค่าสิทธิและภาษีรัฐได้รับเฉลี่ยเดือนละ 300 ล้านบาท (มากกว่าเดิมเกือบ 150%) ซึ่งก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า แม่โขงทำรายได้ให้รัฐมากกว่าเมื่อลงราคาสู้กับคู่ต่อสู้ มากกว่าสมัยซึ่งขายแพงแล้วขายไม่ออกทำให้รัฐขาดรายได้
และทันทีที่นายวีระ สุสังกรกาญจน์ เข้าสำนักนายกฯ อบ วสุรัตน์ ก็สั่งให้แม่โขงขึ้นราคาจากเดิมทันที!
บทบาทของ อบ วสุรัตน์ ที่เปลี่ยนไปอย่างมากในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากจะเดาใจได้ เพราะตรรกวิทยาไม่สมพงษ์กันเลยแม้แต่ข้อเดียว ตั้งแต่เคยขอให้ขึ้นภาษีสุราหงส์ทองให้ยุติธรรมแก่แม่โขงมาเป็นถอนเรื่องออกแล้วปิดปากเงียบ จนกระทั่งถึงสั่งให้แม่โขงรวมกับกลุ่มหงส์ทองเพื่อตั้งบริษัทกลาง จนสุดท้ายสั่งให้แม่โขงขึ้นราคา
“ความจริงทางฝ่ายเตชะไพบูลย์เขาก็รู้จักทางคุณอบดี สมัยหนึ่งลูกเขยคุณอุเทนคือ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ก็เคยอยู่พรรคประชาธิปไตย และมีข่าวว่าจะลงสมัครที่ชลบุรี แต่ตอนหลังคุณอุเทนสั่งห้ามเล่นการเมืองเด็ดขาดเพราะกลุ่มนี้เขาเป็นพ่อค้าอยากค้าขายอย่างเดียว ไม่ต้องการเอาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ก็เลยอาจจะไม่ดีนัก” แหล่งข่าวทางการเมืองชี้แจงให้ฟัง
ถึงกับมีข่าวภายในว่า มีกลุ่มเหล้ากลุ่มหนึ่งแกล้งทำเงินตกประมาณ 200 ล้านบาท แถวๆ กระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้แม่โขงขึ้นราคา
“เท็จจริงแค่ไหนก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าธุรกิจเหล้าเป็นหมื่นล้าน สองร้อยล้านมันแค่ 2% มันเล็กน้อยเหลือเกินแต่สองร้อยล้านก็สามารถทำอะไรในพรรคการเมืองได้เหมือนกัน เช่นซื้อเสียง ส.ส. หรือปิดปากข้าราชการ อย่างว่าเมืองไทยมันเน่าเฟะ มันดูจะดีอยู่พักหนึ่งแต่ดูจริงๆ แล้วมันชักจะเริ่มกลับไประบบเก่า เงินไม่เข้าใครออกใคร มันสามารถทำให้คนลืมหลักการ และอุดมการณ์ได้เหมือนกัน” อาจารย์จุฬาฯ คนเดิมกล่าวเสริม
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)